วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

one+2=สาม” สัจจะของการสร้างสัญญะกับการเล่าเรื่องใหม่


one+2=สาม สัจจะของการสร้างสัญญะกับการเล่าเรื่องใหม่

ถ้าหากข้าพเจ้าเทน้ำเดือดจากกาน้ำลงสู่แก้ว...น้ำในแก้วนั้นจะเหมื่อนกับน้ำในกาหรือไม่ ถ้อยคำข้างต้นนี้เป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานเพื่อที่จะหาความจริงแท้ที่ปรากฏและไม่ปรากฏของสรรพสิ่ง ความจริงแท้ของสรรพสิ่งต่างๆนี้ยังคงเป็นคำถามที่เราต่างก็พยายามที่จะหาคำตอบถึงแม้จะรู้และมีบทสรุปสุดท้ายตรงหน้าแล้วก็ตาม บางคนอาจมีถ้อยคำที่กล่าวว่า เราจะมานั่งถกเถียงปัญหาต่างๆนี้เพื่ออะไร เราจะเอาคำตอบนี้มาเพื่ออะไร จะทำไปทำไม ถ้อยคำเดี่ยวที่ผู้เขียนนี้มีให้กับคำถามเหล่านี้คือความรู้ ความรู้ในที่นี้เป็นความรู้ที่เกิดจากกระบวนการที่เรานั้นได้ค้นคว้าหาคำตอบจากสิ่งๆนั้น เพื่อต้องการความขัดเจนของความจริง และเป็นหลักฐานของความคิดที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมทางความคิด

ความจริงที่เราต้องการเข้าไปค้นหานี้ในตัวของมันเองหรือตัววัตถุสรรพสิ่งต่างๆนั้นมันมีความเป็นไปและมีพลวัตรในตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งเราเองเข้าไปกำหนดขีดเส้นและนิยามสิ่งต่างๆด้วยระบบภาษา แต่ในกระบวนการการอธิบายความทางภาษานั้นมิสามารถตอบความจริงที่ปรากฏได้อย่าง สมบรูณ์แบบ ภาษาเป็นเพียงสัญญะที่ฉาบหน้าความจริงแท้โดยปรากฏหน้าที่แค่เพียงการนิยามหรือการเรียกขาลของสิ่งสิ่งนั้น ทั้งนี้หากพินิจคำถามข้างต้นแล้ววัตถุหรือสรรสิ่งที่ปรากฏในข้อความข้างตนนี้มี3สิ่งคือ กาน้ำ แก้วน้ำ และน้ำที่เดือด คำถามก็คือน้ำที่เทจากกาน้ำลงสู่แก้วน้ำ น้ำในแก้วเหมื่อนน้ำในกาหรือไม่ หากตอบจากสภาพความเป็นจริงน้ำเมื่อเปลี่ยนรูปจากภาชนะหนึ่งสู่ภาชนะหนึ่ง น้ำนั้นมันก็ยังคงเป็นน้ำ มิได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย

หากแต่คำตอบนี้มิได้มองในกรอบของเวลาและสถานที่(time&space)ของความเป็นจริง ความเป็นจริงในสิ่งต่างมักจะเกี่ยวเนื่องกับสองสิ่งนี้ กล่าวคือ น้ำได้ถูกเปลื่ยนแปลงไปในบริบทของเวลาและผลของเวลาเกิดจากการกระทำของการเปลื่ยนแปลงสถานที่ โดยน้ำที่เปลี่ยนไปคือผลพวงของเวลาที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนสถานะของน้ำให้เย็นลงซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของเวลาและการเปลี่ยนไปของภาชนะที่บรรจุน้ำ ทั้งหมดนี้มันเกิดจากการกระทำที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีความทับซ้อนกันระหว่างความหมายและห่วงเวลา ความจริงที่ปราฏกอยู่คือ เวลาเป็นสิ่งที่มีตัวตนและจริงแท้โดยที่เราไม่สามารถหยุดเวลาเพื่อที่จะหาคำตอบเพื่อที่จะหาคำตอบของสรรพสิ่ง ถ้าเรามองไปในกรอบของเวลาที่เป็นจริงแล้วสาระความจริงจากคำถามนี้มิใช่อยู่ที่น้ำยังคงเป็นน้ำหรือไม่ แต่หากคือเวลานั้นมันส่งผลต่อคำตอบของความจริงของน้ำอย่างไร ฉะนั้นแล้วสัญญะต่างๆหรือการนิยามความหมายต่างๆก็ดูด้อยค่าไปเมื่อมีความเป็นจริงและความเป็นไปของเวลาที่ยังคงเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างไม่มีจุดหยุดนิ่ง

การหาคำตอบของความจริงแท้ต่างๆนี้ไม่ได้มีแต่เพียงการการใช้ความคิดที่ปรากฏออกมาเป็นไปในรูปแบบของวาทกรรมงานเขียนเท่านั้น แต่หากยังปรากฏในรูปแบบของศิลปะ โดยในการปรากฏของรูปแบบของศิลปะในที่นี้ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีรูปแบบที่เป็นสื่อผสมของ วรรณพล แสนคำ ในผลงานชุด สัญญะใหม่ของวัตถุกับเวลาที่ถูกรั่ง (New Sign of object with suspended moment.) วรรณพล ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เกิดจากความคิดที่ว่าวัตถุต่างๆนั้นมีเรื่องราวและเวลาในตัวมันอย่างสมบรูณ์ ฉะนั้นแล้วจะมีกลวิธีที่มีการต่อลองกับวัตถุอย่างไรเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการสำแดงเรื่องราวต่างๆของวัตถุออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมในงานศิลปะ

ผลงานศิลปะของ วรรณพล นั้นได้เลือกใช้วัตถุต่างๆที่มีเรื่องราว เนื้อหาในตัวมันเอง โดยมีการแสดงออกของเรื่องราว เนื้อหาผ่านล่องลอย พื้นผิว ที่ผ่านการใช้งานและสึกกร่อนไปตามกาลเวลา โดยกระบวนการแสดงออกของ วรรณพล มีเทคนิคและวิธีการที่สลับซับซ่อนคือ การนำวัตถุต่างๆนาๆ ที่ได้เลือก และตนเองสนใจรู้สึกกับเรื่องราวของวัตถุมาทำการซับ หรือถอดพิมพ์ โดยใช้ยางพารา และกระดาษสา ร่องรอยและพื้นผิวต่างๆของวัตถุจึงถูกถ่ายทอดมาสู่อีกวัสดุที่เป็นแม่พิมพ์ และนำร่องรอยของวัตถุนั้นมาตีแผ่นำเสนอ จัดวางในระนาบของ2มิติ

กระบวนการทำซ้ำและย้ำความเป็นจริงของวัตถุนี้ได้ปรากฏให้เห็นในผลงานของ วรรณพล โดยการเสนอความเป็นจริงของวัตถุที่มีความหมาย หน้าที่การใช้งานและตัวตนของสรรสิ่ง ซึ่งการกระทำการดั่งกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความพยายามที่จะหาความเป็นไปได้ใหม่ของสิ่งที่ซ้อนเร้นในวัตถุในทางความหมายหรือ สัญญะต่างๆในการนิยามวัตถุสิ่งของนั้นๆ ซึ่งการกระทำนี้ได้กลับกลายเป็นการสลายเส้นแบ่ง/ลบล้างคุณค่าของวัตถุ วัตถุดั่งกล่าวได้เข้ากระบวนการการปรากฏรูปที่ไร้ตัวตน หรือ ตัวตนที่ปราศจากรูป a body without organ โดย Deleuze and Guattari ( รัฐ-ชาติ ความไร้ระเบียบโลกชุดใหม่ 2549:27-34 ) มีความก่ำกึ่งระหว่างความแน่นอนของทางความหมาย/กับความอ่อนค่าทางการรับรู้ ความก่ำกึ่งที่ปรากฏอยู่นี้ได้สร้างความไม่แน่นอนของการรับรู้วัตถุสิ่งนั้น โดยผันแปรและเป็นไปตามความรู้สึกของผู้ชม วัตถุที่ถูกนำมาเสนอได้แปลงค่าเป็นถ้อยคำหนึ่งในประโยคบอกเล่าเท่านั้น แต่ประโยคบอกเล่านี้ไม่ได้ชี้ชัดบทสรุปของผู้ชมว่าจะต้องมีเป้าหมายเดี่ยวกัน ผู้ชมอาจตีความ แปลงค่า และให้การนิยามออกไปต่างๆนาๆ โดยที่อาจไม่สนใจเรื่องราวที่แฝงอยู่ในวัตถุตามที่ วรรณพล ได้มีการนำเสนอ หรือรู้สึกก็ตาม

เป็นที่น่าสังเกตว่าผลงานชุดนี้ยังมีประเด็นที่เป็นหัวใจหลักที่ปรากฏออกมาให้เห็นคือการปรากฏตัวในมิติของเวลา พื้นผิวร่องรอยที่ วรรณพล ได้นำเสนอนั้นมีเวลาปรากฏอยู่ วัตถุที่นำเสนอมีการผ่านการใช้งาน และความเป็นไปของเวลาที่ผูกโยงกับสถานที่ดั่งเดิมอยู่ ความหมายและหน้าที่ของวัตถุต่างๆนั้นมีสถานที่รองรับ โดยวัตถุดั่งกล่าวได้พรากจากที่อยู่และหน้าที่ดั่งเดิมของมันมาสู่วัตถุที่เป็นหนึ่งในภาษาของผลงานศิลปะ แน่นอนนัยยะความหมายต่างๆก็ได้ถูกลดทอนลงจากการผลัดถิ่นของวัตถุ การผลัดถิ่นที่กล่าวมานี้ได้ชี้ให้เห็นถึงวรรณพลได้เป็นผู้กระทำ ที่จะพรากความหมายเดิมสู่ความหมายใหม่ที่แตกต่างออกไป จากวัตถุที่มีหน้าที่การใช้งาน สู่วัตถุที่เป็นสสารหยุดนิ่งและกลับกลายสู่คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ทางศิลปะที่มุ่งประเด็นไปที่พื้นผิวที่แสดงเป็นปรากฏการตรงหน้า

สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านี้ก็เป็นไปตามเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ ในตัวผลงานทั้งวัตถุที่เป็นแม่แบบและผลลัพธ์ที่เป็นการนำร่องรอยมาตีแผ่ในรูปแบบที่คล้ายแม่พิมพ์นั้นล้วนแล้วแต่มีกาลเวลาห่อหุ้มอยู่ ดังที่ วรรณพลได้ทำการนำเสนอร่องรอยต่างๆนี้ในนัยยะของการกระทำได้มีการหยุดเวลาที่ฉาบหน้าวัตถุชั่วขณะซึ่งมีการให้นิยามของเวลาเป็นร่องรอย พื้นผิวและนำเสนอในรูปแบบ2มิติ การหยุดเวลาแล้วตีแผ่นี้ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว เป็นการนำเสนอที่ไม่ได้มีการหยุดเวลาแต่ประการใด แต่เป็นการนำเวลาของกาลปัจจุบันมาซ่อนทับกับหลักฐานที่เกิดจากเวลาในอดีตมาเล่าในเรื่องใหม่ แต่การเล่าเรื่องใหม่ในที่นี้มีชั้นเชิงในการนำเสนอ โดยการสลายการรับรู้เดิมสู่การรับรู้แบบใหม่ คือการทำให้หลักฐานทางกาลเวลาต่างๆที่ได้กระทำจากวัตถุ 3มิติสู่ระนาบ2มิติ การนำวัตถุที่มีความคุ้นชินมีอากาศไหลเวียนรอบด้านสู่ระนาบแบบปราศจากมิติใดๆนั้นเป็นการลดทอนคุณค่าและความหมายของวัตถุโดยเป็นรูปแบบตัวแทน/หรือร่างทรงทางความหมายของวัตถุ ร่างทรงดังกล่าวนี้มิได้ตกอยู่ที่ผลงานศิลปะที่อยู่ตรงหน้าผู้ชมเท่านั้น ผู้ชมก็ตกเป็นร่างทรงของผลงานศิลปะเข่นกันโดยการที่เข้าไปจ้องมองจากภายนอกผลงาน ที่มีการปฏิสัมพันธ์ทางความคิดกับผลงาน ตัวตนหรือความคิดของผู้ชมก็เป็นตัวตนที่ปราศจากรูปชั่วขณะ จิตใจจดจ่ออยู่กับผลงานเราจึงเป็นร่างทรงของผลงานชั่วขณะ เพราะผลงานไม่มีข้อยุติหรือสิ้นสุดแต่ประการใด ฉะนั้นผู้ชมก็ตกอยู่วงล้อมของกรอบวาทกรรมของผู้สร้างสรรค์ ผลงานของ วรรณพล จึงมีพลังในเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างผู้ชมกับผลงานที่มีการเล่าเรื่องใหม่

แต่คำว่าเรื่องใหม่ในที่นี้มิได้เป็นเรื่องใหม่ สด สะอาดแต่ประการใด แต่เป็นการเล่าเรื่องใหม่ที่เป็นเรื่องหลังจากเรื่องเก่าที่มีเหตุการณ์ เรื่องราวที่หลงเรื่องมาจากวัตถุ วัตถุก็ยังมีตัวตนดั่งเดิมที่เป็นอยู่ ถึงแม้เรื่องราวใหม่ๆนี้เป็นเรื่องที่แตกประเด็นไปจากเดิม โดยการเปิดจินตภาพของผู้ชม แต่ก็ปฏิเสธิไม่ได้ว่ายังมีกรอบมโนทัศน์ของวัตถุดั่งเดิมอยู่ การเป็นร่างทรงก็เป็นร่างทรงที่อยู่ในกรอบมโนทัศน์เดิม ดังนั้นจินตภาพจึงไปได้ไม่ไกลกว่ามโนทัศน์เดิมของวัตถุ ฉะนั้นแล้วคำว่าสัญญะใหม่ (New Sign)ในผลงานนี้จึงไปไม่ถึงจุดมุ่งหมายเท่าที่ควร เป็นเพียงสัญญะหนึ่งที่เกิดจากการกระทำที่ซ่อนทับแล้วส่งผลต่อการรับรู้ความหมาย

ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่มีการแตกประเด็นจากศิลปะสู่ประเด็นทางสังคมที่เป็นอยู่ในกาลปัจจุบันคือเหตุการณ์สถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือ นปช. ตามที่ทราบกันเหตุการณ์ทางสังคมว่าด้วยเรื่องการเมืองนี้มีบานปลายและหาข้อยุติหรือบทสรุปได้ยาก กล่าวคือการชุมนุมเรียกร้องสิทธิต่างๆว่าด้วยเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของระบบชนชั้น ไพร่ อมาตย์ หรือการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการรัฐประหารของคณะ คมช.ต่างๆก็ดี ซึ่งที่ทางฝั่งเสื้อแดงเรียกร้องตามสิทธิของรัฐธรรมนูญนั้นก็จะดูเหมื่อนจะถูกกลบเกลื่อนด้วยวาทกรรมที่หนักแน่นว่า นปช.นั้นเป็นเพียงเสียงหรือตัวแทนของอดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการจะโค้นล้มรัฐบาลและกลับคือสู่อำนาจเท่านั้น ข้อการเรียกร้องต่างๆหรือสิทธิในการชุมนุมในฐานะพลเมืองไทยจึงดูแบนราบและไปไม่ถึงเนื้อหาสาระที่ต้องการเรียกร้อง ฉะนั้นแล้วมโนทัศน์ของคนที่อยู่ภายนอกที่บริโภคสื่อทุนนิยมแล้วภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.จึงเป็นเพียงร่างทรงของ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นเฉกเช่นเดี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อหลากสีที่ออกมาเรียกร้องมิให้มีการยุบสภาของรัฐบาลก็ปฏิเสธิไม่ได้เช่นกันว่าเป็นกลุ่มคนหรือตัวแทนของฝ่ายตรงข้ามคือเสื้อเหลืองหรือพันธมิตรฯ ที่เคยโค่นล้ม ทักษิณ ชินวัตร ถึงแม้จะมีพัฒนาการโดยมีการละลายอัตลักษณ์เดิมสู่การสร้างอัตลักษณ์ใหม่โดยเปลื่ยนสีเสื้อแต่การกระทำทั้งหมดก็ยังมีกลิ่นอายของความเป็นสีเหลื่องอย่างเต็มที่ในฐานะกลุ่มคู่ตรงข้าม ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนหาข้อยุติมิได้ทางการเมืองไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้นำพาเราสู่สถานการณ์ของสงครามกลางเมืองที่มีความรุ่นแรงของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงหรือรัฐบาล(ทหาร) ทั้งสองฝ่ายนี้ล้วนแล้วแต่มีฐานะและบทบาทเป็นร่างทรงด้วยกันทั้งนั้น...

จากข้อสังเกตการณ์ในทางการเมืองที่ได้กล่าวมานี้จะสังเกตได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์จะพลิกผันให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการเล่าเรื่องใหม่อย่างไรก็ตาม มโนทัศน์ดั่งเดิมก็ยังคงและมีตัวตนอยู่เพียงแค่ไม่ปรากฏรูปเท่านั้น แต่ทรงพลังในการแสดงออกไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมสู่ผู้เฝ้าสังเกตการณ์

เช่นเดียวกับผลงานของ วรรณพล ที่กระทำการสร้างรูปใหม่จากสิ่งเดิมโดยหลีกหนีไม่พ้นมโนทัศน์เดิมเพียงแต่มีการเสริมเติมแต่งด้วยการปรากฏตัวของร่องรอยกลาเวลา ผลงานศิลปะของเขาจึงเป็นการ Desing เรื่องราวให้มีความน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตามวัตถุที่มีการนำเสนอนั้นก็มีพลวัตรและเรื่องราวต่างๆครบถ้วน ผลงานศิลปะชุดนี้จึงเป็นการนำเสนอมากกว่าที่จะทดลองหรือหาความเป็นไปได้ใหม่ของวัตถุที่แสดงออกในเรื่องราวที่แสดงออกทางพื้นผิว แต่ถ้าหากจะมองความเป็นไปได้ของการทดลองนั้นก็เป็นการทดลองที่ว่าด้วยเรื่องของความรู้สึกที่ผู้ชมได้เข้ามาปฏิสัมพันธิกับผลงานและปะทะกับร่องรอยของพื้นผิววัตถุที่บ่งบอกถึงกาลเวลา ฉะนั้นแล้วผลงานของ วรรณพล เปรียบเหมื่อนกับการเทน้ำจากแก้วรดลงฝ่ามือและรับรู้ถึงความรู้สึกของความเป็นไปของน้ำ

24 hrs art criticism

16 05 10

เกี่ยวกับฉัน