วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เงิน ทองเป็นของนอกกาย แต่ไม่ไกลไปจากศิลปะของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร




เคยมีใครบางคนกล่าวไว้ว่า “เงินไม่สามารถซื้อทุกสิ่งได้ แต่ทุกสิ่งเงินสามารถซื้อมันได้” คำกล่าวนี้อาจฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่สับสนเข้าใจอยาก หรือไม่คุณก็เข้าใจและเป็นอยู่แต่เลือกจะปฎิเสธมันด้วยความต้องการที่จะยกระดับจิตใจของตนให้สูงกว่าอำนาจของเงิน... เงินอาจสามารถบรรดาลทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ชีวิต ความหวัง ความรู้ โอกาส และไม่เว้นแม้แต่ “ศิลปะ”
ไม่มีผลงานศิลปะใดๆสร้างสรรค์โดยไม่ใช้เงิน(หรือมีแต่ต้องใช้สมองที่เฉียบคม) เงินสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างของศิลปะได้ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชิ้นงานศิลปะโดยการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคมาเสกสรรค์หรือบรรดาลชิ้นงานขึ้นมาโดยที่ศิลปินไม่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงที่จริงแท้ ที่เหล่าบรรดาศิลปินมีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรค์ของศิลปินอันใหญ่หลวงคือ “คุณมีเงินหรือเปล่า”
คำถามนี้อาจเป็นสิ่งที่กระชากใจศิลปินหลายๆคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินที่ทำงานศิลปะแบบใช้สื่อใหม่หรือศิลปะจัดวางที่มีค่าวัสดุอุปกรณ์ราคาแพง แต่สำหรับคำถามนี้กลับกลายเป็นแสงสว่างให้กับศิลปินที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีการนำวิธีคิดที่ว่าด้วยเรื่องเงินมาเป็นสาระหลักในการสร้างผลงานศิลปะ
นิทรรศการ(dis)continuity ของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ที่จัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือนิทรรศการศิลปะประเภทจัดวางที่มีการใช้สื่อใหม่อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเครื่องฉายภาพ การใช้เสียง หรือป้ายไฟวิ่งราคาแสนแพง
ในนิทรรศการนี้ วันทนีย์ พยายามค้นหาคำตอบของเวลาไม่ว่าจะเป็นการนำอดีตมาเล่าใหม่ในปัจจุบันโดยการนำผลงานศิลปะที่เป็นเสื้อยืดพิมพ์วันที่ทุกๆวันในหนึ่งปีที่ วันทนีย์ ได้ส่วมใส่ทุกวันในปี พ.ศ. 2543(ค.ศ. 2000) มาวางร่วมกันและฉายภาพที่บันทึกเหตุการณ์ในแต่ละวันครั้งนั้นมาฉายทับเพื่อต้องการที่จะหล่อหลอมเวลาระหว่างอดีตกับภาวะปัจจุบันขณะให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งผลที่ได้ออกมานั้นก็คือการเฝ้ามองอดีตด้วยการใช้เวลาปัจจุบัน
แต่ในนิทรรศการนี้จุดสนใจมิได้อยู่ที่กองเสื้อผ้าเมื่อครั้งอดีตที่วางสุมกัน หากแต่อยู่ที่การนำประเด็นเรื่องเงินมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งในผลงานอีกชิ้นนั้นเป็นผลงานศิลปะที่มีการใช้สื่ออย่างตระการตาที่แลกมาด้วยเงินแสนแพง และเงินนี้คือหัวใจหลักของชิ้นงาน
จำนวนเงิน 260,000 บาท คือจำนวนเงินในอนาคตที่ วันทนีย์ ลงทุนเป็นหนี้เพื่อนำมาใช้สำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เป็นแถบป้ายไฟยาวถูกเซ็ตค่าด้วยเซ็นเซอร์จับจำนวนผู้คนที่มาชมผลงานซึ่งนำมาบวก ลบ คูณ หาร กับการลงทุนในการสร้างชิ้นงาน และรายรับของ วันทนีย์ จนผลลัพธ์ที่สุดคือค่าเฉลี่ยนต่อหัวต่อคนของผู้ชมผลงานว่าจ่ายไปเท่าไรต่อคนหนึ่งคนที่มาชมผลงาน ซึ่งเท่ากับว่าถ้าคนมาชมผลงานเยอะค่าเฉลี่ยต่อหัวก็จะลดน้อยลงตามมาเช่นกัน
และที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือประเด็นที่ วันทนีย์ ต้องการจะสื่อสารออกไปสู่ผู้ชม ซึ่งถ้ามองกันที่คำตอบของผลงานที่ได้ท้ายสุดแล้วคงต้องยอมรับว่าเป็นการคิด/ประดิษฐ์สร้างสาระใหม่ให้แก่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประเภทสื่อใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ที่ว่าด้วยการสร้างปรากฏการณ์ร่วมทางศิลปะของผู้ชมกับตัวเลขของความจริงที่ใช้เป็นทุนในการสร้างผลงานศิลปะ
หากแต่ที่กล่าวมานี้มันคือสาระหรือกรอบความคิดที่ไม่ได้เกิดจากการเข้าไปปะทะกับตัวผลงานศิลปะ ในผลงานศิลปะที่ลงทุนด้วยเงินซึ่ง วันทนีย์ ไปเป็นหนี้มานั้นมันมิได้สื่อสารใดๆที่กล่าวมาข้างต้นให้รับทราบและเข้าใจผ่านการเข้าไปชมผลงานศิลปะแต่ประการใด แต่สิ่งที่ทำให้เข้าใจหรือรับทราบนั้นหยุดอยู่ที่ตัวบทความ (text) ที่ประกอบนิทรรศการในรูปแบบของแผ่นพับเพียงเท่านั้น ซึ่งข้อความที่ปรากฏนั้นมันได้ถูกแยกส่วนออกจากผลงานศิลปะอย่างสิ้นเชิง เอกสารดังกล่าวนี้เป็นเพียงถ้อยแถลงของศิลปินที่เกรินนำ/เล่าเรื่องราวความในใจหรือแรงบรรดาลใจของการสร้างสรรค์ผลงานเพียงเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อผลงานศิลปะที่นำเสนอสาระของความคิดที่จัดจ้านอย่างเช่นในผลงานป้ายไฟของ วันทนีย์
ป้ายไฟที่อยู่ในห้องนิทรรศการนั้นแสดงพลังทางกายภาพของวิธีติดตั้งที่ดูว่าจะเป็นมืออาชีพซึ่งอาจแลกมาด้วยค่าจ้างราคาสูง แต่ความประณีตต่างๆนี้มันได้กลบสาระทางการแสดงออกทางศิลปะออกจนหมดสิ้นราวกับป้ายไฟนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปตามพื้นที่สาธารณะหรือหน้าร้านค้าที่มีข้อความต่างๆมานำเสนอ เพียงแต่ข้อความที่ปรากฏนี้คือตัวเลขที่ได้จากการบวก ลบ คูณ หาร และเมื่อตัวเลขต่างๆเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างหอศิลป์สิ่งที่ตามมาคือการพยายามหาคำตอบว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นคือตัวเลขอะไร และเมื่อจะหาคำตอบของชุดตัวเลขที่ปรากฏนั้นผลลัพธ์ที่ได้คือผู้ชมที่อยู่ในห้องนิทรรศการจะไม่ได้รับสิ่งใดๆที่สามารถโยงใยไปถึงคำตอบนั้นๆได้เลย วันทนีย์ ได้ทอดทิ้งผู้ชมให้อ้างว้างในพื้นที่ห้องสีขาวเปลือยเปล่าปราศจากข้อมูลที่ใช้เป็นสะพานเข้าถึงที่มาของชุดตัวเลขที่ปรากฏ
อีกสิ่งหนึ่งที่ วันทนีย์ ลืมคิดไปคือการที่นำเรื่องราวความจริงที่มีความเป็นส่วนตัวมานำเสนอที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ค่าครองชีพของตน หรือเรื่องที่ต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ มากจนผู้ชมไม่อาจจะสามารถรับรู้ถึงสาระทางความคิดที่แฝงอยู่ได้ และความเป็นส่วนตัวที่ขาดการอธิบายอย่างพอเพียงด้วยกายภาพทางศิลปะนี้มันอาจจะสร้างภาวะของการไม่เข้าถึงสารต่างๆที่มีความน่าสนใจจนสามารถสร้างความภาวะของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางการรับรู้ผลงานศิลปะ
และอีกประการที่สำคัญคือลงทุนดังกล่าวนี้เป็นการลงทุนเพื่อสร้างชื่อเสียงและไต่ระดับความก้าวหน้าทางวงการศิลปะของ วันทนีย์ แต่ในสูตรตัวเลขที่บวก ลบ คูณ หาร นี้ก็มิได้ใส่ตัวแปรนี้เข้าไปแต่ประการใด วันทนีย์ คิดถึงค่าหัวของผู้ชมต่อการลงทุนเท่านั้น ซึ่งเมื่อชมผลงานแล้วคำถามจึงเกิดขึ้นว่าศิลปินมีจุดคุ้มทุนหรือไม่ และจุดคืนทุนอยู่ที่ไหน เพราะการลงทุนที่ผ่านการคิดหรือไตร่ตรองอย่างรอบครอบแล้วย่อมต้องมีการมองไปถึงจุดคืนทุนตามมาด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการลงทุนในแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกไปจากตอบสนองความอยากเพียงเท่านั้น



ท้ายสุดนี้ผลงานในนิทรรศการ (dis)continuity คือการแสดงออกถึงความต้องการที่จะสร้างภาพของเวลาทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกันด้วยการลงทุนที่มีเงินเป็นตัวแปรที่สำคัญ เงินที่ใช้เป็นทุนในการสร้างศิลปะนี้ได้สร้างความน่าสนใจในมิติของปรากฏการณ์ทางศิลปะเป็นอย่างมาก หากแต่มันไม่ได้สร้างความน่าสนใจหรือความเข้าใจในมิติของการรับรู้ผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะของ วันทนีย์ นั้นไม่ได้สื่อสารข้อความใดๆสู่ผู้ชม ซึ่งสิ่งเดียวที่สื่อสารสู่ผู้ชมนั้นกลับเป็นคำอธิบายผ่านบทความในรูปแบบแผ่นพับที่ค่อนข้างจะเบาบางซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อความเข้าใจของผู้ชมที่มีความเป็นสาธารณะ และเมื่อสารที่มีสาระไม่สามารถสื่อออกมาให้ผู้ชมรับรู้ได้นั้นอาจทำให้ผลงานของ วันทนีย์ เป็นผลงานศิลปะที่มีการลงทุนที่อาจไม่คุ้มทุนหรือเป็นผลงานศิลปะที่ขาดดุลทางการรับรู้ในที่สุด
*“การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”


กฤษฎา ดุษฎีวนิช


ที่มาภาพ http://kaewkamol.wordpress.com/

วัตถุคือชีวิตหรือวัตถุกำลังสิ้นชีวิต โดย วิชญ มุกดามณี






เมื่อสิ้นกลิ่นน้ำคาวๆของมหาอุทกภัยปี 2554 ที่ผ่านมาสภาพบ้านเมื่องของประเทศไทยก็ดูเหมือนย่อยยับไปพร้อมกับการจากไปของปริมาณน้ำจำนวนมหาสาร ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านได้ถูกนำมาทิ้งวางเรียงรายตามข้างทางท้องถนนซึ่งทำให้ทัศนียภาพบ้านเมืองในช่วงนี้ไม่ต่างไปจากเมืองที่เสร็จสิ้นกิจสงคราม แต่ถึงกระนั้นมันก็ได้ผ่านไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเกิดทุกข์ระทมกับสภาพบ้านเมือง (รวมทั้งบ้านตัวเอง)อย่างไรชีวิตมันก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป
และเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มีนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของ วิชญ มุกดามณี ที่จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า ภายใต้นิทรรศการชื่อ ART-IFICIAL BEING (วัตถุคือชีวิต) ที่มีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาและเรื่องราวการแสดงออกในทิศทางของการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆให้แก่วัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ที่ศิลปินพยายามให้นิยามมันว่าเป็นวัตถุของวัฒนธรรมมหาชน (pop culture) วัตถุต่างๆได้ถูกถาโถมมารังสรรค์สู่การแสดงนิทรรศการศิลปะในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นตู้ ชั้นวางของ หรือเตียงสีสันสดใสที่มีแต่ความสวยงาม(ตามแต่ละรสนิยม)หากแต่ปราศจากความคงทน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้าวของเครื่องใช้ประเภทดังกล่าวนี้มีราคาที่ต่ำซึ่งส่งผลให้คุณภาพต่ำลงมาตามๆกัน

ทั้งนี้ในการแสดงผลงานศิลปะในครั้งนี้(ต้องขอย้ำว่าเป็นศิลปะ)มิได้มีเจตจำนงไปเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาแต่ประการใด หากแต่เป็นการกล่าวหรือแสดงให้เห็นถึงสาระของคำว่า “วัตถุสังเคราะห์” ที่ได้กลับกลายเป็น “วัตถุเสมือนจริง”ซึ่งเป็นที่ต้องการในโลกยุคปัจจุบันหรือในโลกยุคสมัยใหม่ และซึ่งเมื่ออ่านถ้อยแถลงของ วิชญ ที่ได้มีการนำเสนอในนิทรรศการดังกล่าวแล้วก็ทำให้เกิดความน่าสนใจและน่าติดตามชมผลงานเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อเข้ามาชมผลงานแล้วความน่าสนใจได้หยุดอยู่แค่ถ้อยแถลงที่มีการกล่าวถึงเนื้อหา/เรื่องราวของผลงานเพียงแค่นั้น ทั้งนี้เพราะผลงานที่ได้นำเสนออยู่นั้นทำให้ข้าพเจ้าเกิดปรากฏการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในใจเป็นอย่างมาก ผลงานในนิทรรศการนี้เป็นผลงานศิลปะจัดวางและยังมีการแฝงผลงานจิตรกรรมและสื่อภาพเคลื่อนไหว/เสียงกระจายอยู่ไปทั่วห้องนิทรรศการ ผลงานที่ประจักษ์อยู่ตรงหน้านี้ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผลงานศิลปะที่ได้เข้ามาจัดแสดงอยู่ภายใต้พื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะในการแสดงออกของกายภาพผลงานนั้นต้องยอมรับว่า “ไม่รู้เรื่อง” และยังมาพร้อมกับคำถามต่างๆนานามากมาย หรือถ้าจะให้มองในอีกมุมว่า “เรายังเข้าไม่ถึง?” หรือผลงานที่อยู่ตรงหน้าเรานั้นมีความใหม่เคียงคู่กับโลกสมัยใหม่/หลังสมัยใหม่ ?

คำถามที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในใจเมื่อเข้ามาชมผลงานศิลปะชุดดังกล่าว เช่นในผลงานแรกที่เข้าสู่ห้องนิทรรศการ ที่มีใช้มิติผสานกันระหว่างระนาบของจิตรกรรม2มิติและผันสู่มิติที่3 ซึ่งเมื่อรับชมผลงานแล้วนั้นต้องยอมรับว่าเราเข้าไม่ถึงศิลปะที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ ทั้งเนื้อหา การแสดงออก ความลงตัว และศาสตร์ของการจัดวาง มิได้มีปัจจัยไหนที่โด่ดเด่นที่สามารถชูโรงในผลงานศิลปะชิ้นดังกล่าวแม้แต่น้อย ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในผลงานนั้นมีการสร้างสรรค์จิตรกรรมโดยการใช้สีที่ชูดฉาด ฉับไว และยังมีวัตถุที่เป็นชั้นวางของ ชิ้นส่วนของเตียงที่มีการแยกร่าง รื้อถอดประกอบนำมาจัดวางกระจายอยู่ทั่วระนาบของจิตรกรรมทั้งใน2และ3มิติ ซึ่งผลงานนั้นมิได้ตอบสนองความคิดในเรื่องของวัตถุที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมมหาชนตามที่กล่าวอ้างในถ้อยแถลงข้างต้นแต่อย่างใด สิ่งที่ปรากฏนั้นมีเพียงการแสดงออกในทาง “ศิลปะ” ที่คอยพะวงกับในเรื่องของความงามจนไม่สามารถแสดงออกให้เห็นถึงสาระทางด้านความคิดออกมาได้ และการแสดงออกทางความงามนั้นก็เป็นความงามที่ “หลงยุค/หลงสมัย” เสมือนเป็นการฝืนผู้ชมให้คลอยตามรสนิยมของศิลปิน
ผลงานของ วิชญ ที่แสดงอยู่นั้นมีการแสดงออกในทิศทางดังกล่าวค่อนข้างมาก หลายชิ้น หลายผลงาน มีการนำเสนอด้วยกระบวนการและวิธีการที่จับต้นชนปลายไม่ได้ ดังเช่นในอีกชุดผลงานที่มีการผสานสื่อวีดีโอเข้ามา ซึ่งภายในเนื้อหาของสื่อดังกล่าวนี้ได้มีการนำเสนอให้เข้ากับสถานการณ์น้ำท่วมในบ้านเราที่เพิงผ่านพ้นไป โดยมีการนำเรือมารอยในน้ำและมีการนำถุงที่เหมือนกับถุงใส่เสื้อผ้าที่เห็นกันตามตลาดล่าง 6 ใบมาวางซ้อนทับกับอยู่บนเรือ เรียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ซึ่งเมื่อชมผลงานนี้แล้วคำถามที่เกิดขึ้นในใจคำถามเดียวคือ “ ทำไปเพื่ออะไร” และเมื่อเกิดคำถามนี้ขึ้นมาในใจกระบวนการของการพยายามหาคำตอบจึงเกิดขึ้น

การกระทำเช่นนี้อาจสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ให้แก่วัตถุ โดยมีการสร้างบุคคลิกภาพใหม่ซึ่งเป็นการทอดทิ้งหน้าที่การใช้งานเดิมๆแก่วัตถุ(ผลงานหลายชิ้มมีเจตจำนงเช่นนั้น) หากแต่การหาอะไรใหม่ๆนี้มันก็ไม่ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจใดๆเมื่อรับชม แต่มันกลับสร้างคำถามต่างๆนานามากมาย และคำถามนี้มันก็ได้ปะทะกับตัวบท(text) ที่มีการชี้นำหรือยืนยันในคำตอบที่ศิลปินมอบให้ผู้ชม เมื่อคำตอบที่ศิลปินมอบให้มานั้นมันไม่เพียงพอกับคำถามอันมากมายที่เกิดขึ้นจึงทำให้ภาพร่วมของผลงานดังกล่าวเกิดความกำกวม ไม่ชัดเจน เสมือนศิลปินทำตัวเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ได้โยนโจทย์ที่เป็นตัวเลขมากมายมาให้หาคำตอบ และคำตอบและวิธีการหาคำตอบนั้นศิลปินก็มีอยู่ในใจแบบชัดเจนและแน่นอน ซึ่งไม่เป็นการดีต่อการรับชมผลงานศิลปะที่มีอริยาบทเช่นนี้
ทั้งนี้เมื่อมองภาพร่วมในนิทรรศการดังกล่าวนี้ยังพบความพยายามที่นำเรื่องราวเหตุการณ์ที่มีความเฉพาะเวลามาผูกโยงกับการแสดงออกทางศิลปะ ซึ่งแน่นอนเหตุการณ์นี้คือมหาอุทกภัยที่กลืนกินมหานคร ข้าวของเครื่องใช้ที่ได้นำมาจัดวางในนิทรรศการนี้ก็มีการอิงแอบกับเนื้อหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางของ ตู้ เตียง หรือแม้แต่อุปกรณ์ในการทำความสะอาดบ้านที่ใช้กันในวัน big cleaning day ! ไม่ว่าจะเป็นไม้กวาด แปรง ฯ ทั้งหมดนี้ล้วนถูกนำมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ เช่นในผลงานจิตรกรรมที่คล้ายว่าจะเป็นศิลปะในแนวทางสำแดงอารมณ์(Expressionism) ที่ดูเหมือนว่าจะมีการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดดังกล่าวมาใช้ให้เกิดร่องรอยฝีแปรงในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็ไม่ต่างไปจากผลงานจิตกรรมประเภทสำแดงอารมณ์ทั่วไปมีที่ต่างก็เพียงการแทรกเสียง(sound)ของแต่ละอุปกรณ์เช่นเสียงของการขัดถูพื้น หรือไม่ก็เป็นแขวนอุปกรณ์ทำความสะอาดไว้กับผลงานแบบตรงไปตรงมาเป็นต้น

การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวทางจัดวางที่ วิชญ มีความพยายามสร้างสรรค์อยู่นี้สิ่งหนึ่งที่มีความจำและควรใส่ใจอย่างยิ่งคือพื้นที่และเวลารวมทั้งผู้ชม ทั้งนี้เพราะสื่อต่างๆที่ วิชญ ได้ถาโถมในผลงานศิลปะนั้นได้กล่ำกลายหรือรุกล้ำเข้ามาสู่ผู้ชม ผู้ชมจะมีพื้นที่ในการรับรู้ผลงานศิลปะมากกว่าการรับรู้ผลงานประเภท2มิติธรรมดาทั่วไป ฉะนั้นแล้วเมื่อผู้ชมมีระยะความห่างระหว่างศิลปะกับตัวเองน้อยลงการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศิลปะกับผู้ชมนั้นก็ควรจะมีมากขึ้นตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ก็ดี หรือไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสื่อสารที่ดีของศิลปินที่ควรคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ได้ออกมา หากมิเช่นนั้นแล้วผลงานศิลปะจะสร้างภาวะแปลกแยก/แปลกปลาดกับผู้ชมอย่างเห็นได้ชัด

และท้ายที่สุดนี้เมื่อชมผลงานในนิทรรศการ ART-IFICIAL BEING (วัตถุคือชีวิต) ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่เป็นส่วนประกอบในผลงานศิลปะนั้นทำให้นึกย้อนไปถึงตอนที่ปริมาณน้ำมหาสารที่ได้ลาจากมหานครไป(รวมทั้งบ้านข้าพเจ้า) สิ่งที่หลงเหลืออยู่นั้นมีเพียงแค่ร่องรอย คราบน้ำ และความเปลือยเปล่าของบ้านหรือที่อยู่อาศัย ที่ศูนย์สิ้นไปก็มีเพียงสิ่งที่เป็นวัตถุข้าวของเครื่องใช้ที่ได้ถูกนำมาทิ้งกองสุมรวมกันเป็นภูเขาตามข้างทางท้องถนน ขยะปริมาณมากมายมหาสารที่ถูกทิ้งขว้าง หน้าที่การใช้งานของมันได้สิ้นสลาย บุคลิกภาพดั่งเดิมได้ลาจากไปพร้อมๆกับหน้าที่การใช้งานที่มิสามารถใช้มันต่อได้ จนอาจทำให้ข้างทางตามท้องถนนั้นอาจเป็นนิทรรศการศิลปะขึ้นมาภายใต้ชื่อว่าง่ายๆ “วัตถุสิ้นชีวิต”

กฤษฏา ดุษฎีวนิช

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

และแล้ววันพรุ่งนี้ของชีวิตก็กลายเป็นอดีตของศิลปะ : จิตติ เกษมกิจวัฒนา

ในทุกๆเช้า ข้าพเจ้าได้ลืมตาตื่นขึ้นมาพร้อมกับการรู้ตัวเองว่าตนเองกำลังทำบางสิ่งอยู่ บางสิ่งที่ทำนั้นมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้าหรือสำหรับใครบางคน แต่มันคือสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่

การหายใจเข้าแล้วก็หายใจออกคือสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่าเรายังมิได้ลาจากโลกนี้ไป และการรู้เนื้อรู้ตัวของการหายใจเข้าแล้วก็ออกนี้ มันได้เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับการพินิจใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิตตามมา ในทุกๆครั้งที่ลมหายใจสัมผัสกับปลายจมูกข้าพเจ้าก็ได้เรียนรู้ที่จะเห็นภาพลางๆของคำว่าอดีตตามมา อดีตที่มันเคยเป็นปัจจุบัน และปัจจุบันที่กำลังจะกลายเป็นอดีต และที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของการเริ่มต้นที่จะเรียนรู้การมีชีวิตเพื่อที่จะค้นหาความหมายบางอย่างของชีวิต

และการค้นหาความหมายของการมีชีวิตนี้บางคนอาจทำแค่นั่งคิดใคร่ครวญ พิจารณาความเป็นไปของชีวิต แต่ใครบางคนอาจเลือกที่จะแสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และสิ่งที่สามารถแสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมนี้ ศิลปะได้เข้ามาเป็นกระบวนการนำเสนอภาพแทนความคิดนี้ได้อย่างดีและเป็นรูปธรรม

จิตติ เกษมกิจวัฒนา คือใครบางคนที่ได้กล่าวมาข้างต้นที่กำลังนำเสนอความหมายของชีวิตของตนผ่านกลไกลของสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะ ศิลปะที่นำพาผู้ชมไปสู่เรื่องราวในความหมายของชีวิตที่ จิตติ ได้ไปประสบพบเจอมา

จิตติ คือผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มิได้เป็นไปเพื่อที่จะสร้างความหมายของศิลปะ แต่จิตติได้สร้างศิลปะเพื่อเป็นการหาความหมายของชีวิต และที่สำคัญ มันคือชีวิตของตัวเขาเอง หากย้อนกลับไปราวปีก่อนหน้า พ.ศ. 2546 จิตติ เป็นศิลปินผู้หนึ่งที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความน่าสนใจและน่าจับตามอง จิตติ ได้แสดงผลงานศิลปะทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างมากมาย และผลงานส่วนมากก็เป็นไปในเชิงศิลปะแบบคอนเซ็ปชวล (Conceptual Art) ที่มีการแสดงออกเชิง 3 มิติ หรือประติมากรรม ซึ่งหลังจากการมุ่งมั่นทำงานศิลปะแต่เพียงอย่างเดียวมันคงไม่เพียงพอต่อการค้นหาอะไรบางอย่างของชีวิต ราวปี พ.ศ. 2546 จิตติ จึงได้ตัดสินใจออกบวชเพื่อที่จะค้นหาอะไรบางอย่างในชีวิตของเขา โดยมีความหวังที่ว่าธรรมะอาจเป็นเครื่องชี้นำไปสู่บางสิ่งที่เขาตามหา และการออกเดินทางตามหาความหมายของชีวิตก็ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลานั้น...

...และในตอนนี้ จิตติ ได้กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการที่มีชื่อค้อนข้างจะเป็นภาพลางๆของคำตอบของชีวิต ภายใต้ชื่อนิทรรศการที่ว่า “TOMORROW WAS YESTERDAY: การสร้างงานศิลป์จากสิ่งที่เรียนรู้ ที่จัดแสดงอยู่ ณ ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ชั้น 4 ตึก Henry B. Thompson และซึ่งนิทรรศการครั้งนี้เป็นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ได้มาจากประสบการณ์ที่ได้ไปสั่งสมจากการออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิตภายใต้ผ้าเหลืองเป็นเวลานานหลายปี

ทั้งนี้ผลงานที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ประกอบด้วยผลงานศิลปะที่ได้จัดวางกระจัดกระจาย/แฝงตัวอยู่เต็มบริเวณพื้นที่ห้องสมุด ซึ่งประกอบด้วยผลงานที่เป็นโมเดลจำลองของมนุษย์ที่มีขนาดเล็กโดยการนำมาจัดวางเรียงรายเป็นวงกลมที่ตั้งอยู่บนแทนประติมากรรมตรงบริเวณทางเข้าไปยังพื้นที่ห้องสมุด และภายในพื้นที่ห้องสมุดนั้นประกอบไปด้วยผลงานที่ถูกออกแบบให้กลมกลืนเข้ากับบริบทรายรอบ เช่นแท่นโต๊ะหรือตู้โชว์ที่ปราศจากวัตถุสิ่งของภายในที่มีเพียงแต่ผลส้มวางอยู่ด้านบนเท่านั้น ซึ่งตู้โชว์ดังกล่าวได้ถูกออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นราวกับว่าสิ่งนี้คือสาระของผลงานศิลปะ หรือโต๊ะอ่านหนังสือที่ถูกดัดแปลงขึ้นให้เป็นผลงานศิลปะ ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในผลงานศิลปะโดยการเข้าไปจับต้อง/โยกย้ายชิ้นส่วนที่เป็นคล้ายๆกับเกมส์จิ๊กซอ และยังอีกทั้งกล่องไม้ทรงสี่เหลี่ยมที่ดูคล้ายๆกับเป็นรูปทรงหนังสือที่ถูกจัดวางเรียงรายและแทรกซึมไปกับหนังสือต่างๆที่อยู่ตามชั้นวางหนังสือ และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ขึ้น และสิ่งต่างๆเหล่านี้มันได้ถูกเรียกขาลว่า ศิลปะ

และสิ่งต่างๆที่ถูกเรียกว่าศิลปะนี้มันมีที่มาที่ไปมาจากภาวการณ์ค้นหาความหมายชีวิตส่วนตัวของ จิตติ ที่ได้กินระยะเวลามานานหลายปี และผลงานศิลปะในครั้งนี้ จิตติ ยังอุทิศให้กับอาจารย์สอนประติมากรรมคนแรกเมื่อครั้งที่ จิตติ ได้ร่ำเรียนอยู่ที่ ประเทศออสเตรเลีย

เมื่อพิจารณาผลงานชุดดังกล่าวแล้ว โดยภาพร่วมนั้นเป็นผลงานประติมากรรมเชิงสัมพันธ์ที่ต้องอาศัยบริบทรายรอบและผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในผลงาน และในผลงานนี้ความน่าสนใจอยู่ที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้กลับกลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งของบริบท(พื้นที่) ซึ่งเท่ากับว่าผลงานศิลปะชุดดังกล่าวได้ทำปฏิกิริยากับพื้นที่โดยมีพื้นที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัว พื้นที่ได้กลับกลายเป็นผลงานศิลปะ และผลงานศิลปะได้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นเพราะกิริยาอาการทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ ณ พื้นที่ห้องสมุดนี้มันมิได้มีความโดดเด่นมากหรือน้อยไปกว่าตัวพื้นที่เลย ซ้ำยังเกิดภาวะของความเท่าเทียมที่พร้อมจะยอกย้อนในสิ่งต่างๆที่พื้นที่มี

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเนื้อหาในความหลักของนิทรรศการนั้นเป็นการพิจารณาใคร่ครวญ/เรียนรู้ถึงความหมายของชีวิต ด้วยกระบวนการที่ จิตติ ได้ไปเรียนรู้มาจากการปฏิบัติธรรม และด้วยกระบวนการดังกล่าวนี้การยึดมั่น/ถือมั่นกับสิ่งใดก็ดูเหมือนจะไม่จำเป็นต่อไปกับการสร้างผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะของ จิตติ นั้นดูเหมือนจะมีกระบวนการลดทอนรูปอย่างถึงที่สุด โดยให้หลงเหลือแต่สาระทางความคิดที่มีการตกผลึกจากการมีประสบการณ์ตรงกับชีวิตที่ตนเองที่ได้ไปค้นหามา ทั้งนี้อาจสังเกตได้จากผลงานที่มีชื่อว่า “being trying to understand itself / touch the ground” ที่มีการสร้างแท่นหรือตู้โชว์วัตถุสิ่งของที่เราๆสามารถพบเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ในผลงานนั้นมันมิได้ปรากฏวัตถุหลงเหลืออยู่เลย พื้นที่ภายในตู้โชว์นั้นมีแต่พื้นที่สีขาวกับความประณีตที่ว่างเปล่า ซึ่งเท่ากับว่าวัตถุที่มันจะต้องอยู่ภายในมันมิได้เป็นสาระสำคัญเท่ากับโครงสร้างโดยรวมของตู้โชว์ ตู้โชว์ชิ้นดังกล่าวในนิยามของ จิตติ นั้นมันมิได้เป็นเพียงแค่แท่นรองรับวัตถุหากแต่ตู้โชว์ดังกล่าวมันกำลังเป็นผลงานศิลปะโดยตัวมันเองและโดยการนิยามของศิลปิน ความว่างเปล่านี้มิได้มีตัวตน หากแต่การพิจารณาถึงตัวตนมันอาจจะปรากฏถึงความว่างเปล่า เฉกเช่นวัตถุที่เป็นตู้โชว์ที่สามารถปรากฏให้เราเห็นถึงความว่างเปล่าได้เช่นกัน

และสิ่งที่ตามมาหลังจากรับชมผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของ จิตติ คือผู้ชมมิสามารถปีนป่ายหรือเข้าถึงเนื้อหาใจความหลักของนิทรรศการได้อย่างที่ควร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในสิ่งที่ จิตติ ได้นำเสนออยู่นี้คือผลลัพธ์ในการหาความหมายของชีวิตซึ่งเป็นคำตอบที่มีความเป็นเฉพาะส่วนตน ผู้ชมที่เป็น ผู้อื่นเป็นเพียงแค่ผู้อ่านข้อความที่ได้กลั่นกรองออกมาจากศิลปิน ที่มีความสมบูรณ์และเพียบพร้อม ความสมบูรณ์แบบของความหมายนี้เกิดขึ้นก่อนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ฉะนั้นผลงานศิลปะชุดดังกล่าวนี้จึงเป็นผลงานศิลปะที่เป็นคำตอบส่วนตัวที่ถูกสร้างขึ้นจากการมีประสบการณ์ส่วนตน ผลงานศิลปะชุดดังกล่าวนี้จึงไม่ใช้การนำเสนอกระบวนการหากแต่เป็นการนำเสนอผลลัพธ์เสียมากกว่า

โดยส่วนตัวข้าพเจ้าเมื่อเข้าไปรับชมผลงานศิลปะชุดดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้ามิได้ข้องใจในความหมายหรือเนื้อหาใจความใดๆทางศิลปะเลย อาจเป็นเพราะในสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้านั้นมันมิได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นไปในความหมายทางศิลปะ หากแต่วัตถุต่างๆที่รังสรรค์ขึ้นมานั้นมันได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นคำตอบในความหมายของชีวิตที่เป็นส่วนตน สิ่งต่างๆที่ปรากฏนั้นมันคือสิ่งที่ จิตติ ได้ไปเรียนรู้มาด้วยตนเอง ความว่างเปล่า ความเรียบง่าย และสาระต่างๆที่ปรากฏในผลงานศิลปะชุดดังกล่าวมันคือบทบันทึกส่วนตัวที่อาศัยกายภาพของความเป็นศิลปะมาเป็นสิ่งที่นำเสนอ

และถึงแม้อาจจะมีการรับรู้ในผลงานศิลปะของ จิตติ มันก็เป็นเพียงแค่การรับรู้โดยปราศจากการเข้าถึง/เข้าใจ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวาทกรรมต่างๆที่เราสามารถจะเข้าใจด้วยภาษานั้นมันมิได้มีค่าเพียงพอที่ทำให้เราเข้าถึงในสิ่งที่เรียกว่าความหมายของชีวิตได้ นอกจากเราต้องออกไปหาความหมายของชีวิตด้วยตนเองและทำ(ธรรม)มันด้วยตนเอง

และท้ายที่สุดสาระของนิทรรศการนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าชื่อของนิทรรศการ ทุกสิ่งมันย่อมดำเนินไปตามวิถีแห่งความเป็นไป กฎของจักรวาลมันก็ย่อมเป็นกฎของธรรมชาติ พรุ่งนี้มันก็คือเมื่อวาน และวันนี้มันก็คือวันที่กำลังจะผ่านไปสู่อดีต หากเราเองจะปล่อยให้วันเวลาผ่านเลยไปโดยที่มิได้เรียนรู้อะไรจากการมีชีวิตอยู่เลยหรือ?

และในนิทรรศการนี้ จิตติ ได้นำเสนอสิ่งที่ตนเองได้ไปเรียนรู้มาจากการปฏิบัติธรรม และต่อจากนี้ จิตติ ก็คงต้องเรียนรู้ในสิ่งต่างๆที่อยู่รายรอบอีกครั้งกับโลกใบเดิมที่มีความเพียบพร้อมด้วยความสวยงามและความวุ่นวาย

กฤษฎา ดุษฎีวนิช

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ต้นศิลปะ : กับความใหญ่และโตของคำว่า “ปรมาจารย์ทางศิลปะ”


ตันศิลปะ : กับความใหญ่และโตของคำว่า ปรมาจารย์ทางศิลปะ


จากกระแสรายการโทรทัศน์ที่มีลักษณะของ เรียลลิตี้โชว์ ที่เข้ามาบนสื่อที่เป็นโทรทัศน์ในบ้านเรา จนทำให้เกิดกระแสของการ จับจ้อง/เฝ้ามองกริยาอาการของชาวบ้านที่เต็มใจนำเสนอให้ชมกันในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกระแสรายการโทรทัศน์ที่ได้กล่าวมานี้ได้ลามปามเข้าสู่วงการศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา ซึ่งทำให้รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้คิดริเริ่มนำความเป็น เรียลลิตี้โชว์ มาผนวกกันการแสดงออกทางศิลปะโดยมุ่งประเด็นไปที่การสร้างศิลปินรุ่นใหม่โดยให้เป็นทายาท(อสูร)จากศิลปินรุ่นเก่า ซึ่งรายการนี้มีชื่อที่ไพเราะว่า ต้นศิลปะโดยรายการนี้มีเนื้อหาสาระของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่มีการสร้างศิลปินรุ่นใหม่ที่มีแววในการคิดสร้างสรรค์กลุ่มหนึ่งมาเก็บตัวและแสดงฝีไม้ลายมือทางศิลปะกันในรายการ

ซึ่งในรายการนี้จะเป็นไปในลักษณะของการที่นำศิลปินแรกรุ่นมารวมตัว/เก็บตัว ฝึกซ่อมตามสถานที่ต่างๆ โดยมีศิลปินรุ่นใหญ่(ประเทศไทย)เป็นกรรมการ คอยให้คะแนนจากผลงานทางความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินแรกรุ่นกลุ่มนี้ และในแต่ละสัปดาห์ศิลปินแรกรุ่น(รุ่นใหม่)ก็ได้สลับสับเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปตามโจทย์ของรายการหรือคณะกรรมกราที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ได้ให้โจทย์ไว้ โดยอาจจะเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบ 3 มิติ 2มิติ ภาพถ่าย หรือศิลปะแสดงสด ผลลัพธ์ที่ไดแต่ละสัปดาห์ก็คือผลงานศิลปะและคะแนนที่นำมาเก็บสะสมเพื่อหาสุดยอด หรือผู้ชนะท้ายสุดของรายการนี้ โดยผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียวที่จะได้เกรียติยศ และศักดิ์ศรีของผู้ชนะซึ่งจะเป็นต้นไม้ทางศิลปะที่ยืนต้นสืบต่อไปพร้อมเงินรางวัล

และเมื่อข้าพเจ้าชมรายการแล้วนั้น ก็ได้พบพลังของการสร้างสรรค์ของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่เต็มไปด้วยความน่าสนใจที่มีความสด/ใหม่ และไฟทางศิลปะ แต่กระนั้นสิ่งที่ได้ควบคู่มากับความน่าสนใจของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่นี้คือคำถาม”?

คำถามที่ว่าคณะกรรมการที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ที่เป็นดาว(ค้างฟ้า) นี้มีมุมมองต่อการสร้างสรรค์ศิลปะในมุมไหนหรือทิศทางใดและมีเกณฑ์ในการตัดสิน ประเมินค่าผลงานศิลปะที่ปรากฏในรายการนี้อย่างไร เพราะในรายการนี้มีการให้คะแนน และแสดงความคิดเห็นของคณะกรรมการในเชิงวิจารณ์กันออกมาอย่างทะล่ม ทะลาย และการวิจารณ์ที่เกิดขึ้นในรายการนั้นก็เป็นการวิจารณ์โดยใช้รสนิยมส่วนตัวหรือความเป็นปัจเจกของศิลปินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผลงานศิลปะที่ได้ออกมานั้นเป็นไปในทิศทาง ตามน้ำ หรือเอนเอียงไปตามความคิดเห็นของคณะกรรมการ (อาจคล้ายกับวงการประกวดศิลปกรรมแห่งโน่น นี่ ในบ้านเรา) โดยในรายการก็มีการให้ศิลปินมาพูดหลังจากโดนวิจารณ์มา และส่วนใหญ่ก็พูดออกมาประมาณว่า เป็นความคิดเห็นที่กระผม/ดิฉันจะนำไปแก้ไขปรับปรุง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ถือว่าเป็นการดีที่ศิลปินยอมรับทัศนะอื่นๆ(ผู้อื่น)ที่เป็นการวิจารณ์ แต่ผู้อื่นในที่นี้เป็นบุคคลที่ทำงานศิลปะที่มีรสนิยม/อัตลักษณ์ที่มีความเป็นเฉพาะตัวทั้งสิ้น ซึ่งการรับความคิดเห็นจากการทดลองการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบนี้ควรจะ รับฟัง เสียงที่ได้มาจากมหาชนเพื่อที่จะส่งผลต่อการพัฒนาการ ของการสร้างสรรค์ผลงานของตนอย่างแท้จริง

ฉะนั้นแล้วความคิดเห็นของคณะกรรมการก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากการโดนวิจารณ์ผลงานในชั้นเรียน ซึ่งต้องแก้ไข ปรับปรุงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานศิลปะที่สมบรูณ์ในแบบแผนหรือวงเวียนของรสนิยมที่มีมาอยู่ก่อนหน้า จนทำให้การสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินที่กำลังจะเกิดใหม่นี้ ยังคงวนเวียนอยู่ในห่วงโซ่ หรือรอยเท้าของศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีการเดินทางมาก่อนหน้า และยังคงเป็นดาวค้างฟ้าในสังคมศิลปะร่วมสมัยไทยในปัจจุบัน

และด้วยความคิดเห็นของคณะกรรมการที่เกิดขึ้นในรายการนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นความคิดเห็นอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งควรมีความคิดเห็นจากบุคคลอื่นที่สามารถทำให้ศิลปะนั้นได้ขยาย/กระจายตัวออกสู่สังคมความเป็นจริง ศิลปะมิใช่เป็นเพียงภาษาที่มีความเป็นเฉพาะที่อยู่ในวงแคบๆ แต่ศิลปะนั้นมันคือภาษาที่เต็มไปด้วยอิสรภาพ/เสรีภาพในการรับรู้ ถึงแม้การรับรู้นั้นจะปราศจากความเข้าใจ แต่ถ้าการรับรู้นั้นได้เข้าไปถึงในสิ่งที่เรียกว่า ความงาม แล้วนั้นความเข้าใจก็เป็นเพียงส่วนเติมเต็มให้ศิลปะมีความหมายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

และอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าดูรายการนี้แล้วเกิดความรู้สึกว่า น่ารำคาญ ในการรับชม คือเสียงบรรยายของผู้ดำเนินรายการที่มีการใช้คำศัพท์เรียกคณะกรรมการที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่นี้ว่า ปรมาจารย์ทางศิลปะ ซึ่งคำๆนี้ฟังแล้วทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ว่าศิลปินรุ่นใหม่ต่างๆนี้จะสร้างสรรค์งานศิลปะดีเลิศ เพียงใด หรืออย่างไรก็ไปได้ไม่ไกลกว่าคณะกรรมการที่ถูกเรียกว่า ปรมาจารย์ทางศิลปะ เพราะคำๆนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสูงส่ง ความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลผู้ซึ่งเป็นศิลปินราวกับพวกเขาเป็นปรมาจารย์ทางเจ้าสำนัก ที่มีลูกศิษย์สืบทอดวิชาความรู้ของตนและไม่มีทางที่จะเอาชนะอาจารย์ของตนได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นวงการศิลปะในประเทศไทยก็จะอยู่ในร่มเงาของคนก่อนหน้า ซึ่งอาจทำให้พัฒนาการทางศิลปะที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ หรืออาจเป็นเหตุนี้ที่ทำให้วงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยมีกลิ่นอายที่คุ่นชิน เหมือนกับเคยเห็นและผ่านตามาตามผลงานของคนรุ่นก่อน

ฉะนั้นคำว่าปรมาจารย์ทางศิลปะ ตามทัศนะของข้าพเจ้าแล้วนั้นไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาเรียกคณะกรรมการเหล่านี้ เพราะอาจทำให้เกิดกำแพงในการเข้าถึงความรู้ และกำแพงที่กั้นกลางการแสวงหาความรู้ของเหล่าบรรดาศิลปินที่กำลังจะเกิดใหม่ ที่รอเข้าไปท้าทายและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความใหม่ให้ก้าวทันกระแสความเป็นศิลปะที่มีพัฒนาการควบคู่ไปกับสังคม(โลก)

ท้ายที่สุดนี้ขอฝากไว้ว่า ถ้ายังมีคำว่าปรมาจารย์ทางศิลปะ หรือในความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้น วงการศิลปะร่วมสมัยไทยก็จะผลิตศิลปินที่มีสายพันธ์/เชื้อสายเดียวกับศิลปินก่อนหน้า และอาจไม่ส่งผลดีกับวงการศิลปะร่วมสมัยไทย

หรืออาจทางแก้มีเพียงทางเดียวคือ ศิษย์ต้องมีความคิดที่จะต้องล้างครู เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ทางศิลปะ

กฤษฎา ดุษฎีวนิช

(บทความชิ้นนี้เขียนขณะที่รายการต้นศิลปะกำลังออกอากาศอยู่)

เรื่องเล่าของสิ่งที่มีอยู่แต่มันไม่มีจริง : SCIENCEFAITH โดย ประเสริฐ ยอดแก้ว



เมื่อความจริง(ทางวิทยาศาสตร์)กับความเชื่อ(ทางศาสนา)เป็นสิ่งที่อยู่คู่ตรงข้ามกัน ในความจริงอาจไม่ต้องการความเชื่อ และในความเชื่ออาจที่จะไม่ต้องการความจริง ด้วยเหตุนี้ความจริงและความเชื่อมันคือสิ่งที่มีตำแหน่งที่อยู่คู่ตรงข้ามกัน หากแต่ในกระบวนการคิดทางศิลปะมันมีความแตกต่างไปจากกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ที่มิได้มีความจำเป็นต้องมีความจริงสมบูรณ์แบบและเป็นเหตุเป็นผล ความจริงในศิลปะอาจมีได้ทั้งความเชื่อที่มีรูปร่างหน้าตาของความจริง ที่ไม่ต่างไปจากเรื่องเล่าหรือมหากาพย์ต่างๆทางศาสนา หรือเป็นกระบวนการที่ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริงที่สามารถท้าทายประสาทสัมผัสการรับรู้ของมนุษย์ ฉะนั้นแล้วศิลปะได้สร้างมิติใหม่แห่งความเป็นไปได้ของความจริงขึ้นมา หากแต่ความจริงที่อยู่ในมิติใหม่ดังกล่าวนี้อาจมีรูปร่างหน้าตาที่ดูแปลกและประหลาดไปจากสิ่งที่เราคุ้นชินจนกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีเค้าโครงของความจริงในมิติเก่าหลงเหลืออยู่ก็เป็นได้
และศิลปะที่สามารถสร้างมิติใหม่ของความจริงที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างน่าสนใจและมีการแสดงออกให้เห็นถึงการสานสัมพันธ์ระหว่างความจริงและความเชื่อปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมคือผลงาน ของ ประเสริฐ ยอดแก้ว ที่อยู่ในนิทรรศการ SCIENCEFAITH ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ ณ Whitespace Gallery ในนิทรรศการนี้เป็นการรวมรวมผลงาน Sketch และผลงานจริงที่เป็นในลักษณะผลงานศิลปะประเภทสื่อผสมที่มีการนำวัสดุหลากหลายมาเป็นสื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะนี้แสดงออกให้เห็นถึงก้อนความคิดแห่งจินตนาการที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ถึงเส้นบางๆของกรอบการรับรู้ผลงานศิลปะในแบบดั่งเดิม หรือถ้าจะกล่าวกันอย่างง่ายๆคือ ในผลงานที่แสดงอยู่นี้เป็นการนำเสนอผลงานศิลปะที่กำลังจะออกนอกกรอบการรับรู้ทางศิลปะในแบบที่เคยเป็นมา
นิทรรศการ SCIENCEFAITH ประเสริฐได้เสกสรรค์ปั้นแต่งเรื่องราวสุดที่จะจินตนาการระหว่างความจริงและความเชื่อให้เข้ามาสู่พื้นที่ของศิลปะ ซึ่งในผลงานนั้น ประเสริฐ ได้สร้างรูปร่างหน้าตาของจินตนาการในเรื่องราวต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางความเชื่อ เรื่องเล่า หรือคติในทางศาสนาให้ออกมาเป็นวัตถุที่สามารถจับต้องได้ และในวัตถุที่ปรากฏออกมาเป็นผลงานศิลปะนั้นมันคือวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวทางความเชื่อที่มีการผสมผสานกับความเป็นจริง และเรื่องราวต่างๆทางความเชื่อนี้เองมันจึงเป็นที่มาของผลงานศิลปะที่มีรูปร่างหน้าตาที่ผิดๆ แปลกๆ จนยากที่จะอธิบายหรือให้นิยามในสิ่งที่เห็นว่ามันคืออะไร
ในผลงานศิลปะของ ประเสริฐ นั้นมีการแสดงออกทางศิลปะได้อย่างน่าสนใจ และในประเด็นที่สมควรจะนำมากล่าวกันในที่นี้คือการที่ ประเสริฐ เลือกใช้วัสดุที่สามารถตอบสนองความคิดที่ว่าด้วยเรื่องความจริงและความเชื่อ ซึ่งวัสดุที่อยู่ในผลงานนั้นอาจแบ่งหรือจำแนกได้สองประเภท ประเภทแรกคือวัสดุที่เกิดจากการกระทำให้ปรากฏขึ้นมาเป็นรูปทรง /รูปร่าง ด้วยทักษะและความสามารถที่เป็นส่วนตนของศิลปิน และประเภทต่อมาคือวัสดุสำเร็จรูปที่เหลือใช้หรืออาจจะมองได้ว่าเป็นวัสดุที่ไม่แตกต่างอะไรไปจาก “ขยะ” และซึ่งความน่าสนใจในผลงานชุดดังกล่าวนี้อยู่ที่ว่า ประเสริฐ ได้สร้างปรากฏการณ์ของการหล่อหลอมวัสดุทั้งสองประเภทเข้าด้วยกันจนเกิดภาวะในสิ่งที่เรียกว่า “ลงตัว” ทั้งนี้วัสดุทั้งสองประเภทที่ได้กล่าวมานั้นนับเป็นตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่าความจริงทางโลก(เศษวัสดุที่เป็นขยะ) กับ ความเชื่อที่กลั่นกรองออกมาจากจินตนาการที่มีที่มาจากเรื่องเล่าในทางศาสนา ดังเช่นที่ปรากฏในผลงานชื่อ “Kin-Na-Ri” ที่มีการนำเศษ “ขยะ” ที่เป็นซากของรถจักรยานนำมาผสานกับรูปทรงทางความเชื่อที่เป็นสัตว์หิมพานต์ จนสามารถทำให้เราเห็นถึงรอยต่อระหว่างความเป็นจริงกับเรื่องราวทางความเชื่อที่มิได้มีอยู่จริง
หากแต่นิยามในผลงานศิลปะของ ประเสริฐ นั้น คำว่า “ลงตัว” อาจจะมิใช่บทสรุปของการรับรู้ในผลงานชุดดังกล่าว ความลงตัวมันอาจเป็นต้นทางของการรับรู้แต่มิได้เป็นปลายทางของการสัมผัส/เข้าถึงผลงาน ซึ่งข้าพเจ้าเองได้เข้าไปสัมผัสกับผลงานจนเกิดความรู้สึกว่าปลายทางของการเข้าถึงผลงานชิ้นดังกล่าวนี้มันมิได้อยู่ที่ความลงตัว หากแต่มันอยู่ที่ความไม่ลงตัว ผิดแปลกแตกต่าง หรือความขัดแย้ง ที่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด
ความขัดแย้ง (paradox) คือภาวะที่เราซึมซับได้จากผลงานศิลปะของ ประเสริฐ ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Sketch หรือผลงานจริงที่เป็นวัตถุ สิ่งที่รับรู้ได้อย่างเด่นชัดคือความขัดแย้งอย่างถึงที่สุด ความขัดแย้งนี้มันคือภาวะของสิ่งที่ไม่เข้ากันหรือเป็นไปไม่ได้มาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และพื้นที่ทางศิลปะนี้คือพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และพร้อมที่จะรับภาวะดังกล่าวมากที่สุด ความขัดแย้งนี้หากกล่าวกันในมิติทางศาสตร์ความรู้อื่นๆอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ หรือทำให้บกพร่องทางเหตุผล แต่ความขัดแย้งในทางศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลงานของ ประเสริฐ เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อกรอบความคิดที่ ประเสริฐ ต้องการจะสื่อออกมาเป็นผลงานศิลปะอย่างมาก
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ประเสริฐ มีความต้องการที่จะนำความจริงและความเชื่อมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเมื่อสองสิ่งที่อยู่กันคนละขั้วมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน ความขัดแย้งก็เป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในผลงานนี้มันตอบสนองกรอบความคิดหลักของผลงานเป็นอย่างมาก เมื่อความจริงที่มีรูปร่างหน้าตาที่คุ้นชิน มาปะทะกับความเชื่อที่มีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายๆมาจากเรื่องเล่า จนทำให้สิ่งที่ปรากฏออกมานั้นมีความกำกวมจนยากที่จะบอกได้ว่ามันคือภาพแทนของความจริงหรือมันเป็นภาพแทนความความเชื่อ
ผลลัพท์ของงานนี้อาจอยู่ที่ภาวะ “กำกวม” ที่ปรากฏออกมาให้เห็นเป็นรูปร่าง/รูปทรงที่มีการผสมผสานกันระหว่างสิ่งต่างๆที่เป็นความจริงทางโลกกับรูปร่างทางความเชื่อที่มีที่มาจากเรื่องเล่าจนกลายมาเป็นวัตถุทางศิลปะ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับรู้/ซึมซับผลงานของ ประเสริฐ นั้น มันก็คงจะหลีกหนีไม่พ้น “ความตีบตันทางการสื่อสาร” แต่จะอุดมไปด้วย “การเปิดมิติทางการรับรู้ในมโนทัศน์ใหม่” อย่างน่าสนใจ
ด้วยสิ่งที่กล่าวมานี้ผลงานของ ประเสริฐ นับว่ามีความน่าสนใจอยู่มากในมิติของการสร้างมโนทัศน์ทางการรับรู้ผลงานศิลปะในมุมมองใหม่ ความใหม่ของ ประเสริฐ มิใช่ความใหม่ในการเลือกใช้สื่อ/วัสดุที่ทันสมัย หรือ new media แต่อย่างใด หากแต่ความใหม่ในที่นี้คือมุมมองที่ ประเสริฐ ได้เปิดต่อมิติทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยร่วมสมัย(แนวศิลปะไทยที่ประยุกต์มาจากแนวไทยประเพณี) ซึ่งจากแต่เดิมรูปลักษณ์ทางการแสดงออกของศิลปะแนวทางนี้ก็คงจะหลีกหนีไม่พ้นคุณงามความดี จริยธรรมที่ตรงตามกรอบ ความเชื่อ เรื่องเล่าของพุทธศาสนา หรือการแสดงออกในแนวทางพุทธศิลป์ แต่ในผลงานของ ประเสริฐ นั้นได้มีการทดลองเอาเรื่องราวทางความเชื่อที่อยู่ใน “กรอบ”ทางคติของพุทธศาสนามาตีแผ่ให้เห็นถึงความจริง (เรื่องจริง) และความไม่จริง (เรื่องเล่า) แต่ในกระบวนการตีแผ่นี้ ประเสริฐ มิได้ตัดสินแต่อย่างใดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่จริงแท้ หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แต่สิ่งที่ปรากฏในผลงานนั้นมีเพียงการบอกกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆทางความเชื่อที่ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่เราๆท่านๆยังคงประสบพบพานกันอยู่ในโลกใบนี้
และด้วยภาวะที่เกิดขึ้นในผลงานชุดดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะเป็นภาวะของความลงตัวที่อุดมไปด้วยความขัดแย้ง หรือไม่ว่าจะเป็นภาวะของความกำกวมที่สร้างความตีบตันทางการสื่อสารนี้ทำให้ผลงานศิลปะของ ประเสริฐ มีความน่าสนใจในการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการแสดงออกทางศิลปะไทยแบบร่วมสมัยที่มิได้จำกัดอยู่ในวงหรือกรอบกิริยาอาการทางศิลปะกันในแบบเดิมๆ และยังแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของศิลปะในแนวทางดังกล่าวนี้มิได้หยุดและแน่นิ่งอยู่กับที่หรือยึดติดกับรอยเท้าของอดีตอย่างที่เคยเป็นมา
ในผลงานศิลปะของ ประเสริฐ นี้อาจสร้างต้นทางของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยร่วมสมัยในมิติใหม่ที่มิได้ต้องการที่จะค้นหา/แสดงออกถึงความจริง และก็มิได้ต้องการที่จะนำความเชื่อมาเล่าสู่กันอย่างงมงาย หากแต่เป็นการแสดงออกทางศิลปะเพื่อที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ ท้ายที่สุดผลงานในนิทรรศการ SCIENCEFAITH นี้อาจไม่สร้างการรับรู้ที่จะนำพาเราสู่ความเข้าใจ แต่กลับเผยสัจจะบางอย่างออกมา และสัจจะนี้มันคือสัจจะของความจริงที่ว่าด้วย “บางครั้งในความจริงอาจจะมีความเชื่อ และในความเชื่อมันอาจจะมีความจริง”
“ตามที่นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ( Albert Einstein) กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้แต่ถ้าในจินตนาการนั้นมาพร้อมกับเรื่องราวทางความเชื่อแล้ว ความรู้มันจะมีรูปร่างหน้าตาของความจริงหรือไม่ คำถามนี้อาจจะดูกำกวมและยากที่จะหาคำตอบ หากแต่พื้นที่ของการหาคำตอบนั้นคงไม่มีพื้นที่ไหนดีเท่าพื้นที่ของศิลปะที่สามารถนำความเชื่อและความจริงมาอยู่ร่วมกันถึงแม้มันจะขัดแย้งกันก็ตาม”
กฤษฎา ดุษฎีวนิช

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นิทรรศการ ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต ศรีวานิชภูมิ


นิทรรศการ  ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต  ศรีวานิชภูมิ


นิทรรศการ  ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต  ศรีวานิชภูมิ  ที่ปรากฏอยู่ ณ แกเลอรี่ g23  เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานภาพถ่ายของ มานิต  ศรีวานิชภูมิ  ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2540-2550  ซึ่งถือได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวนี้ประเทศไทยได้ผ่านเรื่องราวร้อนและหนาวในทางสังคมและการเมืองอยู่มากมาย   และในนิทรรศการครั้งนี้ของ มานิต ก็ได้ถือว่าเป็นนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายที่รวบรวมเรื่องราว ความเป็นไปของสังคมต่างๆที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวมานำเสนอได้อย่างเป็นรูปธรรม

มานิต  ศรีวานิชภูมิ  ถือได้ว่าเป็นศิลปินคนหนึ่งที่มีความน่าสนใจในด้านการแสดงออกทางศิลปะ   โดยเรื่องราวในผลงานศิลปะของ มานิต นั้นล้วนผูกโยงกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคมทั้งสิ้น   ไม่ว่าในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่หันหน้าเข้าสู่สังคมทุนนิยม/บริโภคนิยม (ที่เกินพอดี)   หรือไม่ว่าประเด็นทางการเมือง ในทุกๆเรื่องราวที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม มานิต ได้มีการนำเสนอและถ่ายทอดมาเป็นผลงานศิลปะที่เป็นภาพถ่ายไว้อย่างน่าสนใจ

และในทุกๆผลงานศิลปะของมานิตนั้น ภาพถ่ายเป็นกลไกลหรือเป็นกระบวนการหลักในการนำเสนอ   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะภาพถ่ายนั้นเป็นสิ่ง/สื่อหนึ่งที่สามารถถ่ายทอด ความจริงได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด   แต่ความจริงที่ มานิตได้ถ่ายทอดลงสู่ภาพถ่ายนี้ ล้วนเป็นความจริงที่มีบางสิ่งฉาบหน้าความแท้จริงของปรากฏการณ์สังคม   ฉะนั้นภาพถ่ายของ มานิต จึงเป็นการนำเสนอเรื่องราวความจริงที่มีกลิ่นคาวๆหรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์แอบแฝงและซ่อนตัวอยู่

และซึ่งเหตุที่มาของเรื่องราวทั้งหมดที่ศิลปินผู้นี้ได้เลือกมองในประเด็นทางสังคมและการเมืองนั้น อาจสืบเนื่องมาจาก มานิต เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมและเคยเป็นช่างภาพให้กับสื่อสิ่งพิมพ์   ดังนั้นเมื่อ มานิต ได้มองเห็นเรื่องราวต่างๆทางสังคม  สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือ คำถามจากเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ว่า ความจริงเป็นเช่นไร 

เมื่อ มานิต ได้มีมุมองที่เป็นการตั้งคำถามกับสังคมแล้ว  การแสดงออกทางศิลปะที่เป็นในแนวทางภาพถ่ายจึงได้เริ่มขึ้น   และในปีพ.ศ. 2540  (ค.ศ. 1997) การเริ่มต้นการทำงานศิลปะที่มีประเด็นทางสังคมก็ได้เริ่มต้นขึ้น  และในช่วงเวลานั้นเองสังคมไทยก็ได้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่มาพร้อมกับการบริโภคนิยมที่เกินพอดี   สังคมไทยในช่วงนั้นดูเหมือนจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ จนลืมมองความเป็นไปในสังคม  และสังคมไทยก็ได้เริ่มเข้าสู่กระแสโลกโลกาภิวัตน์

และในปี พ.ศ. 2540 นี้เองสังคมไทยก็ได้ประสบกับปัญหาที่หนักยิ่งทางเศรษฐกิจที่ทำให้สภาพความเป็นอยู่ในประเทศแปรเปลี่ยนไป   วิกฤติฟองสบู่แตก  ดูเหมือนจะเป็นคำที่ได้ยินติดหูในยุคสมัยนั้น และจากช่วงเวลาแห่งวิกฤติการณ์ทางสังคมนี้เอง   บุรุษที่สวมเสื้อสูททันสมัยสีชมพูแปร๋น หน้าตาเฉยๆ ที่ดูไร้ชีวิตชีวานี้เองก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

พิ้งค์แมน เป็นบุคคลสมมุติที่ มานิต ได้สร้างขึ้นเพื่อที่จะเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ของทุนนิยมที่นิยมบริโภคกันเกินความพอดี  จนทำให้เราเองลืมมองโทษหรือพิษร้ายของมันที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย  พิ้งค์แมน อาจเป็นบุคคลที่ได้รับพิษร้ายจากระบบทุนที่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพที่ดูไร้ชีวิตและคำนึงแต่การที่จะได้บริโภค

ตามที่ได้กล่าวมา พิ้งค์แมน เป็นบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นจากกรอบคิดทางศิลปะ ฉะนั้นอากัปกิริยาของ พิ้งค์แมน ก็ล้วนเป็นการแสดงเพื่อให้เห็นถึงเรื่องราว แนวคิดทางศิลปะทั้งสิ้น
และการเริ่มต้นของพิ้งค์แมนนี้ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 ในชุด Pink Man Begins จนถึงชุดล่าสุดในปี พ.ศ. 2552 ในชุด Ping Man Opera 

เริ่มแรก การปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน ในงานศิลปะของ มานิต เป็นการปรากฏตัวในฐานะผู้ที่ทำการแสดงสดในที่สาธารณะ  ( Performance) และ มานิต ก็เป็นผู้บันทึกภาพ   ฉะนั้นภาพที่ปรากฏออกมาล้วนแล้วแต่ เล่นกับปฏิกิริยาคนรอบข้างในที่สาธารณะทั้งสิ้น   ดังที่ปรากฏในผลงาน  Pink Man Begins  ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)  ผู้คนที่อยู่ในสังคมรอบข้างล้วนมีอากัปกิริยาโต้ตอบกับการปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน ทั้งสิ้น   ทั้งนี้เพราะความโดดเด่นของ พิ้งค์แมน ในชุดสูทสีชมพู ประกอบกับกิริยาอาการที่เรียบเฉยไม่สนใจใยดีบริบทรอบข้าง   จนทำให้ผู้คนในสังคมเหลียวหันมามองกันไปตามๆกัน    และเหตุปัจจัยที่มีผู้คนในสังคมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการศิลปะของมานิตนั้นเป็นไปเพื่อที่จะกระตุ้นให้คนในสังคม เห็นปรากฏการณ์ที่เป็นผลกระทบจากโลกทุนนิยมที่กำลังเข้ามากลืนกินสังคมไทยอยู่ในขณะนั้นก็เป็นได้

ซึ่งการปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน ในชุดผลงาน Pink Man Begins นี้ พิ้งค์แมน มักจะปรากฏตัวในที่สาธารณะที่เป็นย่านธุรกิจ ในเขตชั้นเมืองหลวงที่มีความเจริญ(ทางด้านวัตถุ) หรือไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านอาหารจานด่วน  ที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสังคมบริโภคนิยมที่เป็นผลสืบเนืองมาจากการนำวิธีคิดแบบทุนนิยมมาสู่สังคมไทยในขณะนั้น  และในผลงานชุด  Pink Man Begins ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของบุรุษที่สวมเสื้อสูทสีชมพู ที่ดูไร้ชีวิตชีวา

และในปีเดียวกัน พิ้งค์แมน  ก็ได้มีการเดินทางต่อเพื่อเป็นการสร้างเสียงที่จะกระตุ้นสังคมให้หันมามองความจริงที่กำลังจะเกิดหรือเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย  ในชื่อชุดผลงาน Pink Man With Pink Balloons และ Pink Man With A Pink Lamp ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)     เปรียบดังภาคต่อของ  Pink Man Begins ที่ยังคงเน้นย่ำในเรื่องราวของปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิธีคิดแบบทุนนิยม   ที่ทำให้ผู้คนมุ่งเน้นแต่การแสวงหาเม็ดเงินเพื่อที่จะนำมาบริโภคและใช้ชีวิตกันอย่างสุขสำราญจนเกินพอดี    และในครั้งนั้น  พิ้งค์แมน ก็ได้มีการแสดงสดในที่สาธารณะย่านถนนสีลม   ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านธุรกิจที่สำคัญอีกที่หนึ่ง    ในครั้งนั้น ได้นำลูกโป่งสีชมพูที่มีข้อความหรือเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับ ความอยากในด้านวัตถุนิยม  เช่นข้อความว่า อยากใส่โรเร็กส์  อยากไปตีกอล์ฟที่จาร์กาต้าหรือ อยาก....... ฯลฯ   ในทุกๆข้อความที่ปรากฏบนลูกโป่งสวรรค์ ที่กำลังลอยอยู่เหนือหัว พิ้งค์แมน นี้   เปรียบดั่งความต้องการของบุคคลที่ตกอยู่ในวงล้อมของทุนนิยมที่มีความต้องการหรืออยากในสิ่งที่เป็นวัตถุมาตอบสนองความต้องการส่วนตน  และลูกโป่งสวรรค์เหล่านี้ก็อาจเปรียบดังพื้นที่ที่เป็นสวรรค์ของ พิ้งค์แมน ที่เขาอยากที่จะไปหรืออยากที่จะมีจนต้องทำการไขว่คว้าตลอดเวลา 

และอีกหนึ่งผลงานในชุดเดียวกันนี้ที่มีความน่าสนใจในแง่ของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์คือผลงาน Pink Man With A Pink Lamp #1 ( Silom Road)  ในผลงานนี้ พิ้งค์แมน ก็ได้มีการแสดงสดในที่สาธารณะอีกเช่นเคย โดยครั้งนี้ พิ้งค์แมน ได้สวมใส่แบบฟอร์มสีชมพูพร้อมกระเป๋านักธุรกิจเดินไปตามถนนย่านสีลมพร้อมกับในมือถือตะเกียงสีชมพู
ซึ่งความน่าสนใจในผลงานชิ้นนี้อยู่ที่ว่า  พิ้งค์แมน  ได้มีการแสดงล้อเลียนหรือมีการหยิบยกประวัติศาสตร์บ้านเมืองมากล่าวซ้ำใหม่ในสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน  และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ได้หยิบยกขึ้นมาในครั้งนี้คือ การวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ในสมัยรัชกาลที่ 7   ซึ่งมีนาย นรินทร์ ภาษิต (กลึง) หรือ นรินทร์บ้า ได้ทำการเดินประท้วงตามท้องถนนในสมัยนั้น  โดยที่มีการร้องตะโกนถึงการบริหารราชการแผ่นดินในยุคสมัยนั้นและพร้อมกับถือตะเกียงไว้ในมือ ซึ่งเป็นนัยกล่าวถึงสภาพบ้านเมืองในยุคสมัยนั้นว่ามืดมน ไร้ซึ่งความเป็นธรรม ....
และในการเดินบนท้องถนนของ พิ้งค์แมน ในครั้งนี้ อาจเป็นการเดินในสภาวะบ้านเมืองที่อยู่ในระบบทุนนิยมที่กำลังจะมืดมนก็เป็นได้

การแสดงสดในที่สาธารณะของ พิ้งค์แมน นี้ได้กระทำมาพร้อมๆกับการบันทึกภาพของ มานิต     เปรียบดังมานิตได้หยุดเวลาขณะที่ พิ้งค์แมนทำการแสดงสดไว้เป็นช่วงๆและมานำเสนอผลงานภาพถ่าย   ดังนั้นในผลงานของ มานิต ช่วงแรกๆที่เป็นการปรากฏตัวของพิ้งค์แมน ดังกล่าวนี้   การแสดงสดมีความเด่นชัดในด้านการแสดงออกทางศิลปะในภาพถ่ายของ มานิต อยู่มากจนอาจกล่าวได้ว่าการถ่ายภาพนี้เป็นเพียงเครื่องมือในการบันทึกกิริยาอาการทางศิลปะที่ได้กระทำในที่สาธารณะเท่านั้น

และซึ่งในเวลาต่อมา มานิต ได้ให้ความสำคัญในสาระของภาพถ่ายมากขึ้นตามลำดับ จน มานิต เองได้สร้างสรรค์ผลงานชุดต่อมา ซึ่งเป็นการนำเสนอ พิ้งค์แมน โดยเน้นไปที่สาระของภาพถ่ายมากกว่าการที่จะนำเสนอ พิ้งค์แมน ในฐานะสื่อแสดงสดในที่สาธารณะและในผลงานชุดดังกล่าวคือในชื่อชุด Pink Man on tour (Thailand) พ.ศ. 2540
( ค.ศ. 1997)  

Pink Man on tour (Thailand) ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นมาในยุคสมัยที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7-8 ที่มีการมุ่งเน้นอุตสาห์กรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมองว่าแหล่งท่องเที่ยวหรือวัฒนธรรมต่างๆนั้นสามารถนำมาเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะได้เม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ  ซึ่งกระแสดังกล่าวได้สร้างการตื่นตัวในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ภายใต้ชื่อที่ถูกสร้างสรรค์ว่า Amazing Thailand

Amazing Thailand ได้สร้าง/สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย   โดยการเข้ามาของรัฐเพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ   แต่ในมุมกลับกัน การท่องเที่ยวนี้ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย   ทุกสิ่งที่เป็นวิถีชีวิต หรือ วัฒนธรรม ล้วนถูกมองว่าเป็นสินค้าทั้งสิ้น  สินค้าที่สามารถนำเงินไปแลกมาเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขที่ได้จากวัตถุทางวัฒนธรรม

Pink Man on tour (Thailand) ที่มานิตได้สร้างสรรค์ขึ้นในครั้งนี้ ภาพถ่ายถือได้ว่าเป็นกระบวนการหลักในการนำเสนอ ซึ่งแตกต่างจากผลงานในชุดก่อนๆที่มุ่งเน้นการแสดงสดในที่สาธารณะเป็นหลัก   แต่ในครั้งนี้ พิ้งค์แมน มิได้มีการแสดงสดหรือออกลีลาท่าทางมากมายแต่ประการใด  พิ้งค์แมน ได้ยืนหยุดนิ่งราวกับหุ่นที่เป็นมนุษย์  ที่ดูไร้ชีวิตชีวา ที่ถูกนำมาวางไว้ ณ สถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว   แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยต่างๆเป็นดั่ง ฉากหลังที่ถูกตัดขาดออกจากกันระหว่างตัว พิ้งค์แมน  และซึ่งการที่ พิ้งค์แมน ไม่สนใจใยดีบริบทรอบข้างนั้นอาจกล่าวได้ว่าพิ้งค์แมนเป็นดั่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยว ณ สถานที่นั้นๆ  โดยมุ่งหวังแต่เพียงจะบริโภคสินค้าที่เป็นวัฒนธรรมเหล่านี้เท่านั้น โดยมิได้เห็นถึงคุณค่าความงามที่แท้จริงที่แฝงตัวอยู่  ดังเช่นภาพผลงาน Pink Man on tour #4  (Amazing  Culture With No Soul )  ทุกสิ่งที่ปรากฏในภาพยกเว้น พิ้งค์แมน ล้วนเป็นเพียงแค่ ฉากในการถ่ายรูปเท่านั้นไม่เว้นแม้แต่อาคารสถาปัตยกรรมในรูปแบบศิลปะยุครัตนโกสินทร์

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกรอบในการมองสิ่งต่างๆของระบบทุนนิยมที่มองทุกสิ่งเป็นเพียงแค่ต้นทุนที่จะนำมาสร้างเม็ดเงินที่ไร้ชีวิตและวิญญาณ




และการปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆดังที่ได้กล่าวมานี้เปรียบดังการตั้งคำถามที่เป็นการวิพากษ์/วิจารณ์สังคมในขณะเดียวกัน   ซึ่งการวิพากษ์/วิจารณ์ก็คงหนีไม่พ้นนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกๆภาคส่วนในประเทศไทย

บทสรุปของคำถามต่างๆนานาที่ มานิต มีต่อสังคมนั้นปรากฏเด่นชัดเมื่อ พิ้งค์แมน ปรากฏตัวอยู่ ณ ท้องนาสุดลูกหูลูกตาในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ดูคล้ายๆกับว่า พิ้งค์แมน จะมาซื้อข้าวหรือจะมาซื้อที่นา !

และนี่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของบุรุษสวมสูทสีชมพูที่เมื่อปรากฏกายที่ไหนก็จะต้องมีคำถามต่างๆนานาที่เกี่ยวโยงกับความเป็นไปของสังคมตามมาในขณะเดียวกัน   และการเดินทางของ พิ้งค์แมน เองก็ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดอยู่เพียงแค่ประเทศไทย พิ้งค์แมน ได้เดินทางไปสู่ดินแดนอาทิตย์อัสดง(ตะวันตก)  ในผลงานชื่อชุด Pink Man on tour (Europe)  ในปี พ.ศ. 2543-2546 ( ค.ศ. 2000-2003 )  

การตั้งคำถามต่อโครงสร้างของทุนนิยมของมานิตนั้นมิได้หยุดอยู่เพียงแค่ประเทศไทยพิ้งค์แมน ได้เดินทางไปยังประเทศยุโรปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆด้วยสีหน้าที่เย็นชา ไม่รู้สึกสนุกสนานใดๆ   การเดินตามท้องถนนในประเทศยุโรปพร้อมกับการเข็นรถเข็นซุปเปอร์มาร์เก็ตสีชมพูนั้นเปรียบดั่งการไปเยือนประเทศที่เป็นแม่แบบของระบบทุนนิยมที่กลืนกินสังคมไปสู่สภาวะของการบริโภคนิยมอย่างเต็มกำลัง    การเดินตามท้องถนนของ พิ้งค์แมน ในประเทศแถบยุโรปนี้ มานิต ยังคงใช้สื่อทางศิลปะระหว่างการแสดงสด กับสาระของภาพถ่ายที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัว   ที่ดูราวกับว่าภาพถ่ายของมานิตนั้นเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวต่างๆของคำถามที่มีการแสดงออกผ่านบุรุษสมมุติที่ชื่อ      พิ้งค์แมน   และที่กล่าวมาคือการตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดูเหมือนว่าจะตอบรับกระแสของระบบทุนนิยมที่มีการบริโภคกันจนเกินความพอดี   ซึ่งระบบโครงสร้างของทุนนิยมได้ทำให้โลกของเราทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านความเป็นอยู่ สภาพสังคม หรือ คุณค่าทางจิตใจที่พร้อมเพรียงกันตกต่ำลงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกที่หันหน้าเข้าหาระบบทุนนิยมที่เกินพอดี


ในเวลาต่อมา พิ้งค์แมน ก็ได้เป็นผู้ที่ทำการทบทวนเรื่องราวต่างๆในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย    ภายใต้ผลงาน Horror in Pink ปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001)  ผลงานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อครั้ง 6 ตุลาคม 2519  กลับมานำเสนอใหม่โดยมี พิ้งค์แมน ที่เป็นตัวละครที่ดูเหมือนจะสร้างอารมณ์เสียดสีในภาพได้เป็นอย่างดี   ใบหน้าที่แฝงด้วยรอยยิ้มที่ไม่สะทกสะท้านต่อความรุนแรงที่ปรากฏนี้  ทำให้เรามีความอยากทราบความจริงในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งที่ความเป็นจริงเหตุการณ์ครั้งนั้นมันก็ได้ผ่านเวลามาเนิ่นนานจนอาจทำให้ใครบางคนหลงลืมไปว่าเหตุการณ์นั้นมีคนตายกี่คน !


และก็เช่นเคย พิ้งค์แมน ที่เป็นดั่งตัวแทนของมนุษย์ที่อยู่ในโลกของทุนนิยม ที่จะไม่สนใจใยดีกับเหตุการณ์ต่างๆที่ปรากฏ  และพร้อมที่จะมอบรอยยิ้มราวกับปีศาจที่แสนจะโหดร้ายโดยที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ

การปรากฏตัวของพิ้งค์แมนที่ซ้อนทับกับภาพเหตุการณ์ทางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า มานิต นั้นเป็นผู้ที่ไม่ปล่อยให้ความจริงถูกบิดเบือนจากคำพูดของใครบางคนหรือให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

และในช่วงเวลาต่อมาประเทศไทยก็ได้ประสบปัญหาว่าด้วยการบิดเบือนความจริงต่างๆนานามากมายทั้งการบิดเบือนความจริงจากผู้นำระดับประเทศ  หรือจะเป็นการบิดเบือนความจริงจากสื่อ   ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารประเทศของผู้นำ   และรัฐบาลในขณะนั้นคือชุดรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้   ในช่วงเวลาต่อมาประเทศไทยก็เกิดภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลไปสู่การชุมนุมเรียกร้องต่างๆมากมาย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล

และด้วยเหตุของเรื่องราวต่างๆที่ยังคงวนเวียนในสังคมการเมืองไทยนี้เอง  ทำให้เกิดกระแสของการหวงแหนประเทศชาติไทยเกิดขึ้นมา  หรืออาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ได้ปลุกกระแสของการรักชาติแบบชาตินิยมขึ้นมาอีกครั้ง  

อีกเช่นเคย มานิต ก็ได้มีการตั้งคำถามต่อกระแสต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยผลงานในชุดต่อมาคือ  Pink, White & Blue # 1-3   ซึ่งในผลงานนี้ก็ได้ปรากฏ พิ้งค์แมน ที่สวมชุดสีชมพู ที่แสดงอากัปกิริยารักชาติอย่าง ซาบซึ้งเป็นอย่างมาก  โดยแสดงออกผ่านท่าทางและสีหน้า ที่ดูออกจะ “in” จนเกินจริง   การรักชาติของ พิ้งค์แมน นี้อาจเต็มไปด้วยการรักชาติแบบตามกระแสนิยมที่คนในชาติกำลังโหยหากัน  ที่มีแต่ภาพลักษณ์ของการแสดงออก แต่ไร้ซึ่งความ รักชาติอย่างแท้จริง   และในการแสดงออกของ พิ้งค์แมน ก็ดูจะเป็นอย่างนั้น  พิ้งค์แมน แสดงสีหน้า ท่าทาง ที่แสดงออกถึงการรักชาติได้อย่าง ฉาบฉวยซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งที่ พิ้งค์แมน จะเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยในยุคสมัยนี้     

และ มานิต เองก็ยังมีการแสดงทัศนคติของกระแสการรักชาติที่มีระบบการปลูกฝังด้วยการศึกษา Pink, White & Blue # 4-6   ภาพ พิ้งค์แมน นั่งอยู่บนเก้าอี้สวยหรูที่กำลังปิดตาเด็กน้อย  นักเรียนสวมใส่ชุดลูกเสือที่ในมือถือธงชาตินั้นเป็นการแสดงออกถึงเรื่องราวการศึกษาไทยที่กำลังปลูกฝังการรักชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตาในการพิจารณาความจริง

ทั้งนี้มานิต อาจมองการศึกษาของเด็กไทยว่าเป็นการศึกษาที่ไม่ได้ฝึกให้คิด หากเพียงแต่ศึกษากันไปตามระบบการสอนที่เมื่อ ครู/อาจารย์ว่าอย่างไร เราก็ว่าตามๆกัน  และเด็กนักเรียนทั้งหลายที่ปรากฏในภาพผลงานของ มานิต นั้นอาจอุปมาได้ว่าเป็นผู้คนในสังคมไทยที่อยู่ในช่วงเวลานี้ที่คลั่งไคล้กระแสของการรักชาติอย่างไร้เดียงสา

ผลงานมานิตในชุด Pink, White & Blue นี้กล่าวได้ว่าเป็นบทบันทึกหน้าหนึ่งใน ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของไทยที่ถูกจารึกด้วยศิลปะพร้อมกับการตั้งคำถามที่ว่าด้วยความจริงในสังคมที่ปรากฏอยู่นั้นมันคือความจริงหรือ ?

ในช่วงเวลาต่อมาสังคมไทยก็ได้ทวีความขัดแย้งมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีเหตุมาจากการการบริหารประเทศของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร  สังคมไทยได้แบ่งแยกเป็นสองขั้วหรือสองสีอย่างเด่นชัด  ซึ่งทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะของการมีเรื่องราวที่ไม่ปกติเรื่อยมา  ทั้งการชุมนุมขับไล่หรือสนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จนถึงการทำ รัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

และเรื่องราวมากมายในสังคมไทยที่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้ถูกนำเสนอผ่านผลงานของ มานิต ในชุดต่อมาที่ชื่อว่า Pink Man Opera  ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009)

Pink Man Opera เป็นการนำเสนอเรื่องราวทางสังคมที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องราวทางการเมือง โดยครั้งนี้ มานิต หยิบยืมภาพลักษณ์การแสดงลิเกมาเป็นสื่อที่ช่วยนำเสนอเรื่องราว และเหตุที่นำภาพลักษณ์ของลิเกมานำเสนอนั้นอาจเป็นเพราะลิเกมีการนำเสนอเรื่องราวท่าทางการแสดงที่ เกินจริงจนทำให้เกิดความน่าหลงใหลและติดตาม   ทั้งนี้ พิ้งค์แมน ก็ได้แสดงเป็นตัวละครหลักอีกเช่นเคยแต่ครั้งนี้ พิ้งค์แมน ได้สวมบทบาทราวกับเป็นผู้นำตามท้องเรื่อง (หรือเป็น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตามความเป็นจริงในสังคม)  

ในทุกๆภาพผลงานชุด Pink Man Opera นี้ล้วนมีการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  และถ้าใครได้ติดตามหรือสนใจในปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ได้ขึ้นในสังคมไทยนั้นก็คงจะรับทราบเนื้อหาใจความ/เรื่องราวที่แฝงอยู่ในแต่ละภาพได้เป็นอย่างดี    เช่นในภาพผลงาน Pink Man Opera #3 ที่ดูเหมือนว่า พิ้งค์แมน จะทำการฟ้องตัวละครที่มีอำนาจให้จัดการกับฝ่ายตรงข้าม  ซึ่งภาพนี้อาจอุปมาได้ถึงเรื่องราวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่จ้องจะฟ้องประเทศมหาอำนาจว่าตนเองนั้นโดนกลั่นแกล้งทางการเมืองในประเทศไทย

หรือไม่ก็ภาพผลงาน Pink Man Opera #7  ที่มีตัวละครตามท้องเรื่องแบ่งเป็นสองฝ่ายและกำลังจะต่อสู้ ห้ำหั่นด้วยอาวุธและความรุนแรง และมี พิ้งค์แมน ปรากฏเบื้องหลัง  จากภาพนี้คงคาดเดาได้ไม่ยากในเรื่องราวของความจริงในสังคม การต่อสู้ของสองฝ่ายนี้เปรียบได้กับการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  อยู่เบื้องหลังที่คอยดู/สังเกตการณ์ หรือบงการ   ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในภาพล้วนเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่สามารถชี้นำผู้ชมให้เข้าใจเรื่องราวได้อย่างไม่อยาก  เช่น ลองสังเกตผ้าพันคอของผู้แสดงที่อยู่ในภาพว่าเป็นสีอะไร ? 

และที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงบางตัวอย่างในผลงานชุด Pink Man Opera  ที่ในทุกๆภาพนั้นมีที่มาที่ไปของเรื่องราวทางสังคมแฝงอยู่ 

และ Pink Man Opera ก็ถือได้ว่าเป็นฉากส่งท้ายที่ไม่ใช่ฉากจบของมหากาพย์การเมืองไทยที่ดูเหมือนว่าจะหาจุดจบที่สวยงามอย่างยากลำบาก

แต่ในขณะเดียวกันการทำงานศิลปะที่เป็นภาพถ่ายของ มานิต ก็มิได้มีเพียงภาพถ่ายที่ปรากฏบุรุษสมมุติอย่าง พิ้งค์แมน เพียงเท่านั้น   ในปี พ.ศ. 2540 ( ค.ศ. 1997) ซึ่งก็เป็นปีที่ใกล้เคียงกับการปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน  มานิต ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า
This Bloodless War  ซึ่งเป็นผลงานภาพถ่ายขาว-ดำ ที่มีเนื้อหา เรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมที่เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งส่งผลให้กระแสทุนนิยมที่เข้ามาพร้อมๆกับวัตถุนิยมหลั่งไหลเข้ามาทำลายผู้คนในสังคมไทย   และในผลงาน This Bloodless War  มานิต ได้สร้างสถานการณ์จำลองของผู้คนในสังคมว่าได้รับผลกระทบจากภาวะทุนนิยมที่ทำให้เกิดการบ้าคลั่งวัตถุจนไม่สามารถควบคุมสติไว้ได้   ซึ่งในภาพผลงาน มานิต ได้นำเสนอผลลัพธ์/ผลกระทบไว้อย่างชัดเจน เช่นในภาพผลงาน This Bloodless War # 4  ที่มีผู้คนทั้งชาย หญิง พากันล้มตายหรือสิ้นสติอยู่บนสะพานลอยเขตย่านธุรกิจ ที่ในมือนั้นปรากฏถุงใส่สิ้นค้าของร้านค้าแบรนด์เนมชื่อดัง  ซึ่งในภาพผลงานนั้นดูราวกับตอนจบของโศกนาฏกรรมที่ไม่เคยสร้างให้มีตอนจบที่สวยงาม

และมีภาพผลงานที่มีความน่าสนใจในเรื่องการนำภาพประวัติศาสตร์การขัดแย้งอย่างสุดโต่งระหว่างประชาธิปไตยแบบเสรีกับระบบสังคมนิยมในอดีตมาซ้อนทับกับสภาวะสังคมในปัจจุบัน    This Bloodless War # 2  ซึ่งเป็นภาพที่มีชายสวมใส่เสื้อที่ดูคล้ายๆกับนักธุรกิจที่ในมือถือปืนและพร้อมที่จะยิงคนที่ถูกมัดมือ  ที่ดูจากการแต่งตัวแล้วก็เป็นเพียงแค่คนชนชั้นธรรมดา   และภาพนี้เองอาจทำให้เรานึกย้อนไปถึงภาพประวัติศาสตร์ความรุนแรงของสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม  ที่มีพลจัตวา เหงียน ง็อก โลน  อธิบดีกรมตำรวจเวียดนามใต้ สังหารประชาชนที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเวียดกง(เวียดนามเหนือ) ใจกลางกรุงไซ่ง่อน


และในปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006 ) มานิตก็ได้สร้างสรรค์ภาพถ่ายที่เป็นภาพสะท้อนเรื่องราวทางสังคม โดย มานิต มีการนำเสนอภาพถ่ายที่เป็นภาพถ่ายจากสถานการณ์จริงที่เกิดในสังคม โดยที่  มานิต มิได้ปรุงแต่งให้มีรสชาติหรือสีสันมากมายเหมือนกับผลงานชุด This Bloodless War แต่ประการใด   ซึ่ง มานิต เองก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงมานำเสนอในผลงานภาพถ่าย  ซึ่งทำให้ภาพถ่ายของ มานิต ล้วนปรากฏความจริงทางสังคมที่มาพร้อมกับเรื่องราวต่างๆที่แอบแฝงอยู่ 

แต่ความจริงที่ปรากฏในผลงานภาพถ่ายของ มานิต นั้น มันเป็นความจริงที่แสนจะเปราะบางที่มีบางสิ่งฉาบหน้าไว้อย่างสวยงาม หรือกล่าวกันอย่างง่ายๆคือ ในผลงานภาพถ่ายของ มานิต นั้นมีความจริงที่ยิ่งกว่า การเห็นซ้อนอยู่เบื้องหลัง

และความจริงของเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองเรานั้น ได้ถูก มานิต หยิบยกมาพูดในผลงานภาพถ่ายชื่อชุดว่า Liberators of the Nation ปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ.2006) ซึ่งเหตุการณ์ในภาพเป็นเหตุการณ์การชุมนุมกลุ่มพันธมิตรที่ต้องการจะขับไล่รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร  เหตุสืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุดดังกล่าวมีการทุจริต /คอรัปชั่น กรณีซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น มูลค่าสูงถึง 73,271,200,910 บาท โดยมีการแก้กฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรจากการขาย และประกอบกับกรณีอื่นๆที่ไม่ชอบธรรมอีกมากมาย 

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชนที่ต้องการจะขับไล่ ผู้นำรัฐบาล  โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภายใต้การนำของ
สนธิ ลิ้มทองกุล  เหตุการณ์การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ประกอบกับวิธีการในการประท้วงล้วนมีสีสันและมีความคิดสร้างสรรค์อย่างมากมาย  คล้ายกับว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการบันเทิงมากกว่าเป็นการมาชุมนุมเรียกร้องขับไล่รัฐบาล     มานิต ได้ถ่ายภาพผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมที่พากับออกมาแต่งแต้มร่างกายเพื่อการแสดงออกถึงการรักและหวงแหนประเทศชาติอย่างสนุกสนาน  และพร้อมกับภาพถ่ายใบหน้าผู้คนที่เข้าร่วมชุมนุมที่มีการแสดงออกอย่างยิ้มแย้ม แจ่มใส บางคนถึงกับหอบลูกจูงหลานกันมา ซึ่งภาพเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ากระแสของการรักชาติยังไม่สิ้นหายไปจากสังคมไทย   และภาพผลงานชุดดังกล่าวก็เป็นบทบันทึกที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าด้วยพลังในการขับไล่รัฐบาลที่เป็นไปอย่างสันติ  จนได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องจดจำไปอีกนาน

การชุมนุมขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มพันธมิตรนั้นได้สิ้นสุดลงในวันที่รถถังและทหารปรากฏกายตามท้องถนน    ในวันที่ 19 กันยายน 2549 การทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีหัวหน้าคณะการทำรัฐประหารคือ พล.อ สนธิ  บุญยรัตกลิน  ได้เข้าทำการยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  และได้จัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2550  ซึ่งเหตุการณ์รัฐประหารในครั้งนั้นได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจกล่าวคือ   การทำรัฐประหารในครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อหรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บแม้เพียงคนเดียว  กระสุนปืนต่างๆที่มาพร้อมกับอาวุธมิได้ออกจากปากกระบอกปืนแต่อย่างใด   หากแต่กลับกัน ยังเกิดภาพการมอบดอกไม้และรอยยิ้มให้แก่เหล่าทหารที่ออกมาทำการรัฐประหาร และยังมีประชาชนทำการถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

ในผลงานชื่อ Coup D’e’tat Photo OP ปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) คือผลงานภาพถ่ายที่เหล่าบรรดาประชาชน นักท่องเที่ยวพากันยืนถ่ายภาพเคียงข้างกับรถถังและทหาร ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า    ที่พร้อมกับมอบดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เหล่าทหารที่ออกมาทำการรัฐประหารรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และดอกไม้ช่องามที่วางอยู่ตามรถถังนั้นล้วนแสดงให้เห็นถึงความยินดีในการทำรัฐประหารทั้งสิ้น   และภาพที่ มานิต ได้ถ่ายทอดออกมานั้นก็เป็นภาพที่เป็นสถานการณ์ที่มีผู้คนแห่เข้าไปแสดงความยินดีหรือเป็นกำลังใจ  ในสิ่งที่ มานิต พยายามกำลังจะเสนอนี้คือการเน้นย้ำว่าการทำรัฐประหารในครั้งนี้มิได้มีความรุนแรงประการใด  แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏในภาพของ มานิต คือคำถามที่ว่า การทำรัฐประหารในครั้งนี้จะไม่มีหรือไม่นำพามาซึ่งความรุนแรงจริงหรือ ? 

และในคำถามนี้คำตอบอาจปรากฏให้เห็นเมื่อครั้งเหตุการณ์นองเลือดที่ผ่านมาเร็วๆนี้ในสังคมไทย

และเช่นเคยภาพถ่ายของมานิตนั้นมิได้ปรากฏเรื่องราวต่างๆตามตาเห็น หากแต่เป็นการปรากฏเงารางๆของความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง

หลังจากการทำรัฐประหารสภาพบ้านเมืองก็กลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง  ตามท้องถนนก็ปราศจากกลุ่มผู้ชุมนุม  และภายหลังจากการทำรัฐประหารไม่นานก็ถึงวันที่ประชาชนชาวไทยเฝ้ารอ   วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีคือวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 9   และในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 นี้เป็นนับเป็นวันที่ครบรอบการครองราชย์ปีที่ 60 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ซึ่งเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก  และในวันนั้นเองชาวไทยก็ได้พร้อมใจกันใส่เสื้อเหลือง(สีประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการครองราชย์ปีที่ 60 และเพื่อการรับเสด็จ    ซึ่งภาพในวันนั้นล้วนเป็นภาพที่น่าจำจดยิ่งนัก   ผู้คนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลืองพากันออกมารอรับเสด็จกันตามท้องถนนตามเส้นทางพระราชวังจนสุดถึงพระบรมมหาราชวัง และเหตุการณ์ครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นศูนย์กลางดวงใจของประชาชนชาวไทยที่มีการยอมรับกันอย่างแท้จริง

และซึ่ง มานิต เองก็ไม่พลาดที่จะเก็บภาพปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย ในชื่อผลงาน Waiting for the King ปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006)   และในมุมที่ มานิต เลือกมานำเสนอนั้น กลับเป็นมุมมองที่แตกต่างออกไปจากการบันทึกภาพเพื่อเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์    มานิต ได้เลือกมุมมองของผู้คนในขณะรอรับเสด็จที่อยู่ตามข้างทางท้องถนน  ผู้คนชาวไทยหลากหลายที่มาพากันเฝ้ารอการเสด็จของ
พระเจ้าอยู่หัวกันอย่างเนืองแน่น บางคนมีรอยยิ้ม  บางคนหน้าตาเรียบเฉย  บางคนแสดงอาการเหนื่อยล้าของการรอ  แต่ถึงอย่างไรเป้าหมายของผู้คนที่มา ณ ที่ตรงนี้ก็เป็นเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการที่จะรอรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในภาพถ่ายของ มานิต ชุด Waiting for the King นั้นเป็นการนำเสนอภาษาของภาพถ่ายที่แฝงมาด้วยสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกเรื่องราวที่ซ่อนเร้นอยู่มากมาย  ทั้งเรื่องราวของความจริงที่ปรากฏและความเป็นจริงที่มิได้ปรากฏ

นับได้ว่าผลงานทั้งสามชุดที่ได้กล่าวมานี้(Liberators of the Nation, Coup D’e’tat Photo OP ,และ Waiting for the King )  ล้วนเกิดขึ้นในสถานการณ์บ้านเมืองในเวลาใกล้เคียงกันและมีความคล้องจองกันในเหตุการณ์เป็นอย่างมาก  และที่สำคัญในผลงานของ มานิต ทั้งสามชุดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการบันทึกความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มาพร้อมๆกับภาพของสัญลักษณ์บางอย่างที่แอบแฝงอยู่อย่างเลือนราง

และการปิดท้ายผลงานใน นิทรรศการของมานิต  ศรีวานิชภูมิ ในครั้งนี้ได้สร้างความ
ท้าทายต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไว้อย่างดีเยี่ยม  ภาพเด็กน้อยที่ถูกมัดมือและเท้านอนคว่ำอยู่บนผ้าสีต่างๆนี้  ปรากฏในภาพผลงานที่ชื่อว่า  Embryonia  ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007)  เด็กน้อยที่ถูกพันธนาการ นอนคว่ำหน้าอยู่บนผ้า สีแดง สีขาว และสีน้ำเงินนี้ แสดงให้เห็นราวกับว่าประชาชน/เยาวชนที่ไร้เดียงสา กำลังถูกบังคับให้ยินยอมพร้อมรับชะตากรรมในการสั่งสอนของผู้นำที่ชี้นำให้พวกเขาและเธอเหล่านั้นมีความจงรักภักดีต่อชาติ   ภาพที่ปรากฏนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวังของประเทศชาติ  แต่ในขณะเดียวกันภาวะของการสิ้นหวังนี้กลับได้มาซึ่งการสร้างชาติด้วยกระแสชาตินิยมใหม่อีครั้งก็เป็นได้

ภาพเด็กน้อยที่ถูกมัดมือและเท้านอนคว่ำอยู่บนผ้าสีต่างๆนี้ มานิต ได้หยิบยืมเรื่องราวภาพประวัติศาสตร์เมื่อครั้งอดีตมานำเสนอใหม่อีกครั้ง  ซึ่งภาพนี้มีที่มาจากภาพสีน้ำมันที่ชื่อว่า Agnus Dei  ของ Francisco de Zurbaran ( 1598-1664 )  ที่ในภาพมีแกะสีขาวที่เท้าถูกมัด นอนลงอยู่บนแท่นบูชา  สายตาสลดใจราวกับว่ายอมรับชะตากรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตน  และภาพนี้ก็เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมในยุคสมัยหนึ่งที่เกิดภาวะการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งนำมาซึ่งสงคราม  และแกะในภาพนี้อาจเปรียบได้ดั่งประชาชนที่กำลังตกอยู่ภายใต้พันธนาการทางสังคม ที่ไม่มีทางดิ้นหลุด

ในผลงาน Embryonia ของ มานิต นั้นเป็นการนำภาพเมื่ออดีตที่สามารถบ่งบอกเรื่องราวความเป็นไปของสังคมในยุคสมัยหนึ่งมาซ้อนทับกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้    ทั้งนี้ในผลงานของมานิตนั้นล้วนแล้วแต่มีความจริงทางสังคมปรากฏอยู่ทั้งสิ้น โดยความจริงที่ปรากฏอยู่นี้อาจเป็นความจริงที่เราเองไม่อย่างที่จะเชื่อว่ามันเป็นจริงก็ได้

ฉะนั้นความจริงในผลงานของมานิต จึงเป็นความจริงทางสังคมที่บางและเบาจนเปราะบาง  จนใครหลายๆคนเลือกที่จะมองข้ามความจริงเหล่านั้นให้ผ่านไปก็เป็นได้

และท้ายสุดนี้ นิทรรศการ  ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต  ศรีวานิชภูมิ  ที่ปรากฏอยู่ ณ แกลเลอรี่ g23  แห่งนี้ ก็เป็นดั่งจารึกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทย ที่ มานิต ได้เขียนบทบันทึกไว้ด้วยผลงานศิลปะภาพถ่ายที่ได้มาซึ่งความจริงทางสังคมที่ยังคงซ่อนเร้นเพื่อให้เราค้นหา



 กฤษฎา  ดุษฎีวนิช

เกี่ยวกับฉัน