วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เงิน ทองเป็นของนอกกาย แต่ไม่ไกลไปจากศิลปะของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร




เคยมีใครบางคนกล่าวไว้ว่า “เงินไม่สามารถซื้อทุกสิ่งได้ แต่ทุกสิ่งเงินสามารถซื้อมันได้” คำกล่าวนี้อาจฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่สับสนเข้าใจอยาก หรือไม่คุณก็เข้าใจและเป็นอยู่แต่เลือกจะปฎิเสธมันด้วยความต้องการที่จะยกระดับจิตใจของตนให้สูงกว่าอำนาจของเงิน... เงินอาจสามารถบรรดาลทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ชีวิต ความหวัง ความรู้ โอกาส และไม่เว้นแม้แต่ “ศิลปะ”
ไม่มีผลงานศิลปะใดๆสร้างสรรค์โดยไม่ใช้เงิน(หรือมีแต่ต้องใช้สมองที่เฉียบคม) เงินสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างของศิลปะได้ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชิ้นงานศิลปะโดยการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคมาเสกสรรค์หรือบรรดาลชิ้นงานขึ้นมาโดยที่ศิลปินไม่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงที่จริงแท้ ที่เหล่าบรรดาศิลปินมีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรค์ของศิลปินอันใหญ่หลวงคือ “คุณมีเงินหรือเปล่า”
คำถามนี้อาจเป็นสิ่งที่กระชากใจศิลปินหลายๆคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินที่ทำงานศิลปะแบบใช้สื่อใหม่หรือศิลปะจัดวางที่มีค่าวัสดุอุปกรณ์ราคาแพง แต่สำหรับคำถามนี้กลับกลายเป็นแสงสว่างให้กับศิลปินที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีการนำวิธีคิดที่ว่าด้วยเรื่องเงินมาเป็นสาระหลักในการสร้างผลงานศิลปะ
นิทรรศการ(dis)continuity ของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ที่จัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือนิทรรศการศิลปะประเภทจัดวางที่มีการใช้สื่อใหม่อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเครื่องฉายภาพ การใช้เสียง หรือป้ายไฟวิ่งราคาแสนแพง
ในนิทรรศการนี้ วันทนีย์ พยายามค้นหาคำตอบของเวลาไม่ว่าจะเป็นการนำอดีตมาเล่าใหม่ในปัจจุบันโดยการนำผลงานศิลปะที่เป็นเสื้อยืดพิมพ์วันที่ทุกๆวันในหนึ่งปีที่ วันทนีย์ ได้ส่วมใส่ทุกวันในปี พ.ศ. 2543(ค.ศ. 2000) มาวางร่วมกันและฉายภาพที่บันทึกเหตุการณ์ในแต่ละวันครั้งนั้นมาฉายทับเพื่อต้องการที่จะหล่อหลอมเวลาระหว่างอดีตกับภาวะปัจจุบันขณะให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งผลที่ได้ออกมานั้นก็คือการเฝ้ามองอดีตด้วยการใช้เวลาปัจจุบัน
แต่ในนิทรรศการนี้จุดสนใจมิได้อยู่ที่กองเสื้อผ้าเมื่อครั้งอดีตที่วางสุมกัน หากแต่อยู่ที่การนำประเด็นเรื่องเงินมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งในผลงานอีกชิ้นนั้นเป็นผลงานศิลปะที่มีการใช้สื่ออย่างตระการตาที่แลกมาด้วยเงินแสนแพง และเงินนี้คือหัวใจหลักของชิ้นงาน
จำนวนเงิน 260,000 บาท คือจำนวนเงินในอนาคตที่ วันทนีย์ ลงทุนเป็นหนี้เพื่อนำมาใช้สำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เป็นแถบป้ายไฟยาวถูกเซ็ตค่าด้วยเซ็นเซอร์จับจำนวนผู้คนที่มาชมผลงานซึ่งนำมาบวก ลบ คูณ หาร กับการลงทุนในการสร้างชิ้นงาน และรายรับของ วันทนีย์ จนผลลัพธ์ที่สุดคือค่าเฉลี่ยนต่อหัวต่อคนของผู้ชมผลงานว่าจ่ายไปเท่าไรต่อคนหนึ่งคนที่มาชมผลงาน ซึ่งเท่ากับว่าถ้าคนมาชมผลงานเยอะค่าเฉลี่ยต่อหัวก็จะลดน้อยลงตามมาเช่นกัน
และที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือประเด็นที่ วันทนีย์ ต้องการจะสื่อสารออกไปสู่ผู้ชม ซึ่งถ้ามองกันที่คำตอบของผลงานที่ได้ท้ายสุดแล้วคงต้องยอมรับว่าเป็นการคิด/ประดิษฐ์สร้างสาระใหม่ให้แก่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประเภทสื่อใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ที่ว่าด้วยการสร้างปรากฏการณ์ร่วมทางศิลปะของผู้ชมกับตัวเลขของความจริงที่ใช้เป็นทุนในการสร้างผลงานศิลปะ
หากแต่ที่กล่าวมานี้มันคือสาระหรือกรอบความคิดที่ไม่ได้เกิดจากการเข้าไปปะทะกับตัวผลงานศิลปะ ในผลงานศิลปะที่ลงทุนด้วยเงินซึ่ง วันทนีย์ ไปเป็นหนี้มานั้นมันมิได้สื่อสารใดๆที่กล่าวมาข้างต้นให้รับทราบและเข้าใจผ่านการเข้าไปชมผลงานศิลปะแต่ประการใด แต่สิ่งที่ทำให้เข้าใจหรือรับทราบนั้นหยุดอยู่ที่ตัวบทความ (text) ที่ประกอบนิทรรศการในรูปแบบของแผ่นพับเพียงเท่านั้น ซึ่งข้อความที่ปรากฏนั้นมันได้ถูกแยกส่วนออกจากผลงานศิลปะอย่างสิ้นเชิง เอกสารดังกล่าวนี้เป็นเพียงถ้อยแถลงของศิลปินที่เกรินนำ/เล่าเรื่องราวความในใจหรือแรงบรรดาลใจของการสร้างสรรค์ผลงานเพียงเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อผลงานศิลปะที่นำเสนอสาระของความคิดที่จัดจ้านอย่างเช่นในผลงานป้ายไฟของ วันทนีย์
ป้ายไฟที่อยู่ในห้องนิทรรศการนั้นแสดงพลังทางกายภาพของวิธีติดตั้งที่ดูว่าจะเป็นมืออาชีพซึ่งอาจแลกมาด้วยค่าจ้างราคาสูง แต่ความประณีตต่างๆนี้มันได้กลบสาระทางการแสดงออกทางศิลปะออกจนหมดสิ้นราวกับป้ายไฟนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปตามพื้นที่สาธารณะหรือหน้าร้านค้าที่มีข้อความต่างๆมานำเสนอ เพียงแต่ข้อความที่ปรากฏนี้คือตัวเลขที่ได้จากการบวก ลบ คูณ หาร และเมื่อตัวเลขต่างๆเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างหอศิลป์สิ่งที่ตามมาคือการพยายามหาคำตอบว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นคือตัวเลขอะไร และเมื่อจะหาคำตอบของชุดตัวเลขที่ปรากฏนั้นผลลัพธ์ที่ได้คือผู้ชมที่อยู่ในห้องนิทรรศการจะไม่ได้รับสิ่งใดๆที่สามารถโยงใยไปถึงคำตอบนั้นๆได้เลย วันทนีย์ ได้ทอดทิ้งผู้ชมให้อ้างว้างในพื้นที่ห้องสีขาวเปลือยเปล่าปราศจากข้อมูลที่ใช้เป็นสะพานเข้าถึงที่มาของชุดตัวเลขที่ปรากฏ
อีกสิ่งหนึ่งที่ วันทนีย์ ลืมคิดไปคือการที่นำเรื่องราวความจริงที่มีความเป็นส่วนตัวมานำเสนอที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ค่าครองชีพของตน หรือเรื่องที่ต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ มากจนผู้ชมไม่อาจจะสามารถรับรู้ถึงสาระทางความคิดที่แฝงอยู่ได้ และความเป็นส่วนตัวที่ขาดการอธิบายอย่างพอเพียงด้วยกายภาพทางศิลปะนี้มันอาจจะสร้างภาวะของการไม่เข้าถึงสารต่างๆที่มีความน่าสนใจจนสามารถสร้างความภาวะของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางการรับรู้ผลงานศิลปะ
และอีกประการที่สำคัญคือลงทุนดังกล่าวนี้เป็นการลงทุนเพื่อสร้างชื่อเสียงและไต่ระดับความก้าวหน้าทางวงการศิลปะของ วันทนีย์ แต่ในสูตรตัวเลขที่บวก ลบ คูณ หาร นี้ก็มิได้ใส่ตัวแปรนี้เข้าไปแต่ประการใด วันทนีย์ คิดถึงค่าหัวของผู้ชมต่อการลงทุนเท่านั้น ซึ่งเมื่อชมผลงานแล้วคำถามจึงเกิดขึ้นว่าศิลปินมีจุดคุ้มทุนหรือไม่ และจุดคืนทุนอยู่ที่ไหน เพราะการลงทุนที่ผ่านการคิดหรือไตร่ตรองอย่างรอบครอบแล้วย่อมต้องมีการมองไปถึงจุดคืนทุนตามมาด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการลงทุนในแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกไปจากตอบสนองความอยากเพียงเท่านั้น



ท้ายสุดนี้ผลงานในนิทรรศการ (dis)continuity คือการแสดงออกถึงความต้องการที่จะสร้างภาพของเวลาทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกันด้วยการลงทุนที่มีเงินเป็นตัวแปรที่สำคัญ เงินที่ใช้เป็นทุนในการสร้างศิลปะนี้ได้สร้างความน่าสนใจในมิติของปรากฏการณ์ทางศิลปะเป็นอย่างมาก หากแต่มันไม่ได้สร้างความน่าสนใจหรือความเข้าใจในมิติของการรับรู้ผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะของ วันทนีย์ นั้นไม่ได้สื่อสารข้อความใดๆสู่ผู้ชม ซึ่งสิ่งเดียวที่สื่อสารสู่ผู้ชมนั้นกลับเป็นคำอธิบายผ่านบทความในรูปแบบแผ่นพับที่ค่อนข้างจะเบาบางซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อความเข้าใจของผู้ชมที่มีความเป็นสาธารณะ และเมื่อสารที่มีสาระไม่สามารถสื่อออกมาให้ผู้ชมรับรู้ได้นั้นอาจทำให้ผลงานของ วันทนีย์ เป็นผลงานศิลปะที่มีการลงทุนที่อาจไม่คุ้มทุนหรือเป็นผลงานศิลปะที่ขาดดุลทางการรับรู้ในที่สุด
*“การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”


กฤษฎา ดุษฎีวนิช


ที่มาภาพ http://kaewkamol.wordpress.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

เกี่ยวกับฉัน