วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วัตถุคือชีวิตหรือวัตถุกำลังสิ้นชีวิต โดย วิชญ มุกดามณี






เมื่อสิ้นกลิ่นน้ำคาวๆของมหาอุทกภัยปี 2554 ที่ผ่านมาสภาพบ้านเมื่องของประเทศไทยก็ดูเหมือนย่อยยับไปพร้อมกับการจากไปของปริมาณน้ำจำนวนมหาสาร ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านได้ถูกนำมาทิ้งวางเรียงรายตามข้างทางท้องถนนซึ่งทำให้ทัศนียภาพบ้านเมืองในช่วงนี้ไม่ต่างไปจากเมืองที่เสร็จสิ้นกิจสงคราม แต่ถึงกระนั้นมันก็ได้ผ่านไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเกิดทุกข์ระทมกับสภาพบ้านเมือง (รวมทั้งบ้านตัวเอง)อย่างไรชีวิตมันก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป
และเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มีนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของ วิชญ มุกดามณี ที่จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า ภายใต้นิทรรศการชื่อ ART-IFICIAL BEING (วัตถุคือชีวิต) ที่มีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาและเรื่องราวการแสดงออกในทิศทางของการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆให้แก่วัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ที่ศิลปินพยายามให้นิยามมันว่าเป็นวัตถุของวัฒนธรรมมหาชน (pop culture) วัตถุต่างๆได้ถูกถาโถมมารังสรรค์สู่การแสดงนิทรรศการศิลปะในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นตู้ ชั้นวางของ หรือเตียงสีสันสดใสที่มีแต่ความสวยงาม(ตามแต่ละรสนิยม)หากแต่ปราศจากความคงทน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้าวของเครื่องใช้ประเภทดังกล่าวนี้มีราคาที่ต่ำซึ่งส่งผลให้คุณภาพต่ำลงมาตามๆกัน

ทั้งนี้ในการแสดงผลงานศิลปะในครั้งนี้(ต้องขอย้ำว่าเป็นศิลปะ)มิได้มีเจตจำนงไปเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาแต่ประการใด หากแต่เป็นการกล่าวหรือแสดงให้เห็นถึงสาระของคำว่า “วัตถุสังเคราะห์” ที่ได้กลับกลายเป็น “วัตถุเสมือนจริง”ซึ่งเป็นที่ต้องการในโลกยุคปัจจุบันหรือในโลกยุคสมัยใหม่ และซึ่งเมื่ออ่านถ้อยแถลงของ วิชญ ที่ได้มีการนำเสนอในนิทรรศการดังกล่าวแล้วก็ทำให้เกิดความน่าสนใจและน่าติดตามชมผลงานเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อเข้ามาชมผลงานแล้วความน่าสนใจได้หยุดอยู่แค่ถ้อยแถลงที่มีการกล่าวถึงเนื้อหา/เรื่องราวของผลงานเพียงแค่นั้น ทั้งนี้เพราะผลงานที่ได้นำเสนออยู่นั้นทำให้ข้าพเจ้าเกิดปรากฏการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในใจเป็นอย่างมาก ผลงานในนิทรรศการนี้เป็นผลงานศิลปะจัดวางและยังมีการแฝงผลงานจิตรกรรมและสื่อภาพเคลื่อนไหว/เสียงกระจายอยู่ไปทั่วห้องนิทรรศการ ผลงานที่ประจักษ์อยู่ตรงหน้านี้ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผลงานศิลปะที่ได้เข้ามาจัดแสดงอยู่ภายใต้พื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะในการแสดงออกของกายภาพผลงานนั้นต้องยอมรับว่า “ไม่รู้เรื่อง” และยังมาพร้อมกับคำถามต่างๆนานามากมาย หรือถ้าจะให้มองในอีกมุมว่า “เรายังเข้าไม่ถึง?” หรือผลงานที่อยู่ตรงหน้าเรานั้นมีความใหม่เคียงคู่กับโลกสมัยใหม่/หลังสมัยใหม่ ?

คำถามที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในใจเมื่อเข้ามาชมผลงานศิลปะชุดดังกล่าว เช่นในผลงานแรกที่เข้าสู่ห้องนิทรรศการ ที่มีใช้มิติผสานกันระหว่างระนาบของจิตรกรรม2มิติและผันสู่มิติที่3 ซึ่งเมื่อรับชมผลงานแล้วนั้นต้องยอมรับว่าเราเข้าไม่ถึงศิลปะที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ ทั้งเนื้อหา การแสดงออก ความลงตัว และศาสตร์ของการจัดวาง มิได้มีปัจจัยไหนที่โด่ดเด่นที่สามารถชูโรงในผลงานศิลปะชิ้นดังกล่าวแม้แต่น้อย ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในผลงานนั้นมีการสร้างสรรค์จิตรกรรมโดยการใช้สีที่ชูดฉาด ฉับไว และยังมีวัตถุที่เป็นชั้นวางของ ชิ้นส่วนของเตียงที่มีการแยกร่าง รื้อถอดประกอบนำมาจัดวางกระจายอยู่ทั่วระนาบของจิตรกรรมทั้งใน2และ3มิติ ซึ่งผลงานนั้นมิได้ตอบสนองความคิดในเรื่องของวัตถุที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมมหาชนตามที่กล่าวอ้างในถ้อยแถลงข้างต้นแต่อย่างใด สิ่งที่ปรากฏนั้นมีเพียงการแสดงออกในทาง “ศิลปะ” ที่คอยพะวงกับในเรื่องของความงามจนไม่สามารถแสดงออกให้เห็นถึงสาระทางด้านความคิดออกมาได้ และการแสดงออกทางความงามนั้นก็เป็นความงามที่ “หลงยุค/หลงสมัย” เสมือนเป็นการฝืนผู้ชมให้คลอยตามรสนิยมของศิลปิน
ผลงานของ วิชญ ที่แสดงอยู่นั้นมีการแสดงออกในทิศทางดังกล่าวค่อนข้างมาก หลายชิ้น หลายผลงาน มีการนำเสนอด้วยกระบวนการและวิธีการที่จับต้นชนปลายไม่ได้ ดังเช่นในอีกชุดผลงานที่มีการผสานสื่อวีดีโอเข้ามา ซึ่งภายในเนื้อหาของสื่อดังกล่าวนี้ได้มีการนำเสนอให้เข้ากับสถานการณ์น้ำท่วมในบ้านเราที่เพิงผ่านพ้นไป โดยมีการนำเรือมารอยในน้ำและมีการนำถุงที่เหมือนกับถุงใส่เสื้อผ้าที่เห็นกันตามตลาดล่าง 6 ใบมาวางซ้อนทับกับอยู่บนเรือ เรียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ซึ่งเมื่อชมผลงานนี้แล้วคำถามที่เกิดขึ้นในใจคำถามเดียวคือ “ ทำไปเพื่ออะไร” และเมื่อเกิดคำถามนี้ขึ้นมาในใจกระบวนการของการพยายามหาคำตอบจึงเกิดขึ้น

การกระทำเช่นนี้อาจสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ให้แก่วัตถุ โดยมีการสร้างบุคคลิกภาพใหม่ซึ่งเป็นการทอดทิ้งหน้าที่การใช้งานเดิมๆแก่วัตถุ(ผลงานหลายชิ้มมีเจตจำนงเช่นนั้น) หากแต่การหาอะไรใหม่ๆนี้มันก็ไม่ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจใดๆเมื่อรับชม แต่มันกลับสร้างคำถามต่างๆนานามากมาย และคำถามนี้มันก็ได้ปะทะกับตัวบท(text) ที่มีการชี้นำหรือยืนยันในคำตอบที่ศิลปินมอบให้ผู้ชม เมื่อคำตอบที่ศิลปินมอบให้มานั้นมันไม่เพียงพอกับคำถามอันมากมายที่เกิดขึ้นจึงทำให้ภาพร่วมของผลงานดังกล่าวเกิดความกำกวม ไม่ชัดเจน เสมือนศิลปินทำตัวเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ได้โยนโจทย์ที่เป็นตัวเลขมากมายมาให้หาคำตอบ และคำตอบและวิธีการหาคำตอบนั้นศิลปินก็มีอยู่ในใจแบบชัดเจนและแน่นอน ซึ่งไม่เป็นการดีต่อการรับชมผลงานศิลปะที่มีอริยาบทเช่นนี้
ทั้งนี้เมื่อมองภาพร่วมในนิทรรศการดังกล่าวนี้ยังพบความพยายามที่นำเรื่องราวเหตุการณ์ที่มีความเฉพาะเวลามาผูกโยงกับการแสดงออกทางศิลปะ ซึ่งแน่นอนเหตุการณ์นี้คือมหาอุทกภัยที่กลืนกินมหานคร ข้าวของเครื่องใช้ที่ได้นำมาจัดวางในนิทรรศการนี้ก็มีการอิงแอบกับเนื้อหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางของ ตู้ เตียง หรือแม้แต่อุปกรณ์ในการทำความสะอาดบ้านที่ใช้กันในวัน big cleaning day ! ไม่ว่าจะเป็นไม้กวาด แปรง ฯ ทั้งหมดนี้ล้วนถูกนำมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ เช่นในผลงานจิตรกรรมที่คล้ายว่าจะเป็นศิลปะในแนวทางสำแดงอารมณ์(Expressionism) ที่ดูเหมือนว่าจะมีการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดดังกล่าวมาใช้ให้เกิดร่องรอยฝีแปรงในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็ไม่ต่างไปจากผลงานจิตกรรมประเภทสำแดงอารมณ์ทั่วไปมีที่ต่างก็เพียงการแทรกเสียง(sound)ของแต่ละอุปกรณ์เช่นเสียงของการขัดถูพื้น หรือไม่ก็เป็นแขวนอุปกรณ์ทำความสะอาดไว้กับผลงานแบบตรงไปตรงมาเป็นต้น

การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวทางจัดวางที่ วิชญ มีความพยายามสร้างสรรค์อยู่นี้สิ่งหนึ่งที่มีความจำและควรใส่ใจอย่างยิ่งคือพื้นที่และเวลารวมทั้งผู้ชม ทั้งนี้เพราะสื่อต่างๆที่ วิชญ ได้ถาโถมในผลงานศิลปะนั้นได้กล่ำกลายหรือรุกล้ำเข้ามาสู่ผู้ชม ผู้ชมจะมีพื้นที่ในการรับรู้ผลงานศิลปะมากกว่าการรับรู้ผลงานประเภท2มิติธรรมดาทั่วไป ฉะนั้นแล้วเมื่อผู้ชมมีระยะความห่างระหว่างศิลปะกับตัวเองน้อยลงการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศิลปะกับผู้ชมนั้นก็ควรจะมีมากขึ้นตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ก็ดี หรือไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสื่อสารที่ดีของศิลปินที่ควรคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ได้ออกมา หากมิเช่นนั้นแล้วผลงานศิลปะจะสร้างภาวะแปลกแยก/แปลกปลาดกับผู้ชมอย่างเห็นได้ชัด

และท้ายที่สุดนี้เมื่อชมผลงานในนิทรรศการ ART-IFICIAL BEING (วัตถุคือชีวิต) ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่เป็นส่วนประกอบในผลงานศิลปะนั้นทำให้นึกย้อนไปถึงตอนที่ปริมาณน้ำมหาสารที่ได้ลาจากมหานครไป(รวมทั้งบ้านข้าพเจ้า) สิ่งที่หลงเหลืออยู่นั้นมีเพียงแค่ร่องรอย คราบน้ำ และความเปลือยเปล่าของบ้านหรือที่อยู่อาศัย ที่ศูนย์สิ้นไปก็มีเพียงสิ่งที่เป็นวัตถุข้าวของเครื่องใช้ที่ได้ถูกนำมาทิ้งกองสุมรวมกันเป็นภูเขาตามข้างทางท้องถนน ขยะปริมาณมากมายมหาสารที่ถูกทิ้งขว้าง หน้าที่การใช้งานของมันได้สิ้นสลาย บุคลิกภาพดั่งเดิมได้ลาจากไปพร้อมๆกับหน้าที่การใช้งานที่มิสามารถใช้มันต่อได้ จนอาจทำให้ข้างทางตามท้องถนนั้นอาจเป็นนิทรรศการศิลปะขึ้นมาภายใต้ชื่อว่าง่ายๆ “วัตถุสิ้นชีวิต”

กฤษฏา ดุษฎีวนิช

ไม่มีความคิดเห็น:

เกี่ยวกับฉัน