
ในทุกๆเช้า ข้าพเจ้าได้ลืมตาตื่นขึ้นมาพร้อมกับการรู้ตัวเองว่าตนเองกำลังทำบางสิ่งอยู่ บางสิ่งที่ทำนั้นมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้าหรือสำหรับใครบางคน แต่มันคือสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่
...และในตอนนี้ จิตติ ได้กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการที่มีชื่อค้อนข้างจะเป็นภาพลางๆของคำตอบของชีวิต ภายใต้ชื่อนิทรรศการที่ว่า “TOMORROW WAS YESTERDAY: การสร้างงานศิลป์จากสิ่งที่เรียนรู้” ที่จัดแสดงอยู่ ณ ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ชั้น 4 ตึก Henry B. Thompson และซึ่งนิทรรศการครั้งนี้เป็นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ได้มาจากประสบการณ์ที่ได้ไปสั่งสมจากการออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิตภายใต้ผ้าเหลืองเป็นเวลานานหลายปี
ทั้งนี้ผลงานที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ประกอบด้วยผลงานศิลปะที่ได้จัดวางกระจัดกระจาย/แฝงตัวอยู่เต็มบริเวณพื้นที่ห้องสมุด ซึ่งประกอบด้วยผลงานที่เป็นโมเดลจำลองของมนุษย์ที่มีขนาดเล็กโดยการนำมาจัดวางเรียงรายเป็นวงกลมที่ตั้งอยู่บนแทนประติมากรรมตรงบริเวณทางเข้าไปยังพื้นที่ห้องสมุด และภายในพื้นที่ห้องสมุดนั้นประกอบไปด้วยผลงานที่ถูกออกแบบให้กลมกลืนเข้ากับบริบทรายรอบ เช่นแท่นโต๊ะหรือตู้โชว์ที่ปราศจากวัตถุสิ่งของภายในที่มีเพียงแต่ผลส้มวางอยู่ด้านบนเท่านั้น ซึ่งตู้โชว์ดังกล่าวได้ถูกออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นราวกับว่าสิ่งนี้คือสาระของผลงานศิลปะ หรือโต๊ะอ่านหนังสือที่ถูกดัดแปลงขึ้นให้เป็นผลงานศิลปะ ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในผลงานศิลปะโดยการเข้าไปจับต้อง/โยกย้ายชิ้นส่วนที่เป็นคล้ายๆกับเกมส์จิ๊กซอ และยังอีกทั้งกล่องไม้ทรงสี่เหลี่ยมที่ดูคล้ายๆกับเป็นรูปทรงหนังสือที่ถูกจัดวางเรียงรายและแทรกซึมไปกับหนังสือต่างๆที่อยู่ตามชั้นวางหนังสือ และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ขึ้น และสิ่งต่างๆเหล่านี้มันได้ถูกเรียกขาลว่า “ศิลปะ”
และสิ่งต่างๆที่ถูกเรียกว่าศิลปะนี้มันมีที่มาที่ไปมาจากภาวการณ์ค้นหาความหมายชีวิตส่วนตัวของ จิตติ ที่ได้กินระยะเวลามานานหลายปี และผลงานศิลปะในครั้งนี้ จิตติ ยังอุทิศให้กับอาจารย์สอนประติมากรรมคนแรกเมื่อครั้งที่ จิตติ ได้ร่ำเรียนอยู่ที่ ประเทศออสเตรเลีย
เมื่อพิจารณาผลงานชุดดังกล่าวแล้ว โดยภาพร่วมนั้นเป็นผลงานประติมากรรมเชิงสัมพันธ์ที่ต้องอาศัยบริบทรายรอบและผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในผลงาน และในผลงานนี้ความน่าสนใจอยู่ที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้กลับกลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งของบริบท(พื้นที่) ซึ่งเท่ากับว่าผลงานศิลปะชุดดังกล่าวได้ทำปฏิกิริยากับพื้นที่โดยมีพื้นที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัว พื้นที่ได้กลับกลายเป็นผลงานศิลปะ และผลงานศิลปะได้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นเพราะกิริยาอาการทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ ณ พื้นที่ห้องสมุดนี้มันมิได้มีความโดดเด่นมากหรือน้อยไปกว่าตัวพื้นที่เลย ซ้ำยังเกิดภาวะของความเท่าเทียมที่พร้อมจะยอกย้อนในสิ่งต่างๆที่พื้นที่มี
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเนื้อหาในความหลักของนิทรรศการนั้นเป็นการพิจารณาใคร่ครวญ/เรียนรู้ถึงความหมายของชีวิต ด้วยกระบวนการที่ จิตติ ได้ไปเรียนรู้มาจากการปฏิบัติธรรม และด้วยกระบวนการดังกล่าวนี้การยึดมั่น/ถือมั่นกับสิ่งใดก็ดูเหมือนจะไม่จำเป็นต่อไปกับการสร้างผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะของ จิตติ นั้นดูเหมือนจะมีกระบวนการลดทอนรูปอย่างถึงที่สุด โดยให้หลงเหลือแต่สาระทางความคิดที่มีการตกผลึกจากการมีประสบการณ์ตรงกับชีวิตที่ตนเองที่ได้ไปค้นหามา ทั้งนี้อาจสังเกตได้จากผลงานที่มีชื่อว่า “being trying to understand itself / touch the ground” ที่มีการสร้างแท่นหรือตู้โชว์วัตถุสิ่งของที่เราๆสามารถพบเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ในผลงานนั้นมันมิได้ปรากฏวัตถุหลงเหลืออยู่เลย พื้นที่ภายในตู้โชว์นั้นมีแต่พื้นที่สีขาวกับความประณีตที่ว่างเปล่า ซึ่งเท่ากับว่าวัตถุที่มันจะต้องอยู่ภายในมันมิได้เป็นสาระสำคัญเท่ากับโครงสร้างโดยรวมของตู้โชว์ ตู้โชว์ชิ้นดังกล่าวในนิยามของ จิตติ นั้นมันมิได้เป็นเพียงแค่แท่นรองรับวัตถุหากแต่ตู้โชว์ดังกล่าวมันกำลังเป็นผลงานศิลปะโดยตัวมันเองและโดยการนิยามของศิลปิน ความว่างเปล่านี้มิได้มีตัวตน หากแต่การพิจารณาถึงตัวตนมันอาจจะปรากฏถึงความว่างเปล่า เฉกเช่นวัตถุที่เป็นตู้โชว์ที่สามารถปรากฏให้เราเห็นถึงความว่างเปล่าได้เช่นกัน
และสิ่งที่ตามมาหลังจากรับชมผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของ จิตติ คือผู้ชมมิสามารถปีนป่ายหรือเข้าถึงเนื้อหาใจความหลักของนิทรรศการได้อย่างที่ควร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในสิ่งที่ จิตติ ได้นำเสนออยู่นี้คือผลลัพธ์ในการหาความหมายของชีวิตซึ่งเป็นคำตอบที่มีความเป็นเฉพาะส่วนตน ผู้ชมที่เป็น “ผู้อื่น” เป็นเพียงแค่ผู้อ่านข้อความที่ได้กลั่นกรองออกมาจากศิลปิน ที่มีความสมบูรณ์และเพียบพร้อม ความสมบูรณ์แบบของความหมายนี้เกิดขึ้นก่อนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ฉะนั้นผลงานศิลปะชุดดังกล่าวนี้จึงเป็นผลงานศิลปะที่เป็นคำตอบส่วนตัวที่ถูกสร้างขึ้นจากการมีประสบการณ์ส่วนตน ผลงานศิลปะชุดดังกล่าวนี้จึงไม่ใช้การนำเสนอกระบวนการหากแต่เป็นการนำเสนอผลลัพธ์เสียมากกว่า
โดยส่วนตัวข้าพเจ้าเมื่อเข้าไปรับชมผลงานศิลปะชุดดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้ามิได้ข้องใจในความหมายหรือเนื้อหาใจความใดๆทางศิลปะเลย อาจเป็นเพราะในสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้านั้นมันมิได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นไปในความหมายทางศิลปะ หากแต่วัตถุต่างๆที่รังสรรค์ขึ้นมานั้นมันได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นคำตอบในความหมายของชีวิตที่เป็นส่วนตน สิ่งต่างๆที่ปรากฏนั้นมันคือสิ่งที่ จิตติ ได้ไปเรียนรู้มาด้วยตนเอง ความว่างเปล่า ความเรียบง่าย และสาระต่างๆที่ปรากฏในผลงานศิลปะชุดดังกล่าวมันคือบทบันทึกส่วนตัวที่อาศัยกายภาพของความเป็นศิลปะมาเป็นสิ่งที่นำเสนอ
และถึงแม้อาจจะมีการรับรู้ในผลงานศิลปะของ จิตติ มันก็เป็นเพียงแค่การรับรู้โดยปราศจากการเข้าถึง/เข้าใจ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวาทกรรมต่างๆที่เราสามารถจะเข้าใจด้วยภาษานั้นมันมิได้มีค่าเพียงพอที่ทำให้เราเข้าถึงในสิ่งที่เรียกว่าความหมายของชีวิตได้ นอกจากเราต้องออกไปหาความหมายของชีวิตด้วยตนเองและทำ(ธรรม)มันด้วยตนเอง
และท้ายที่สุดสาระของนิทรรศการนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าชื่อของนิทรรศการ ทุกสิ่งมันย่อมดำเนินไปตามวิถีแห่งความเป็นไป กฎของจักรวาลมันก็ย่อมเป็นกฎของธรรมชาติ พรุ่งนี้มันก็คือเมื่อวาน และวันนี้มันก็คือวันที่กำลังจะผ่านไปสู่อดีต หากเราเองจะปล่อยให้วันเวลาผ่านเลยไปโดยที่มิได้เรียนรู้อะไรจากการมีชีวิตอยู่เลยหรือ?
และในนิทรรศการนี้ จิตติ ได้นำเสนอสิ่งที่ตนเองได้ไปเรียนรู้มาจากการปฏิบัติธรรม และต่อจากนี้ จิตติ ก็คงต้องเรียนรู้ในสิ่งต่างๆที่อยู่รายรอบอีกครั้งกับโลกใบเดิมที่มีความเพียบพร้อมด้วยความสวยงามและความวุ่นวาย
กฤษฎา ดุษฎีวนิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น