วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เรื่องเล่าของสิ่งที่มีอยู่แต่มันไม่มีจริง : SCIENCEFAITH โดย ประเสริฐ ยอดแก้ว



เมื่อความจริง(ทางวิทยาศาสตร์)กับความเชื่อ(ทางศาสนา)เป็นสิ่งที่อยู่คู่ตรงข้ามกัน ในความจริงอาจไม่ต้องการความเชื่อ และในความเชื่ออาจที่จะไม่ต้องการความจริง ด้วยเหตุนี้ความจริงและความเชื่อมันคือสิ่งที่มีตำแหน่งที่อยู่คู่ตรงข้ามกัน หากแต่ในกระบวนการคิดทางศิลปะมันมีความแตกต่างไปจากกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ที่มิได้มีความจำเป็นต้องมีความจริงสมบูรณ์แบบและเป็นเหตุเป็นผล ความจริงในศิลปะอาจมีได้ทั้งความเชื่อที่มีรูปร่างหน้าตาของความจริง ที่ไม่ต่างไปจากเรื่องเล่าหรือมหากาพย์ต่างๆทางศาสนา หรือเป็นกระบวนการที่ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริงที่สามารถท้าทายประสาทสัมผัสการรับรู้ของมนุษย์ ฉะนั้นแล้วศิลปะได้สร้างมิติใหม่แห่งความเป็นไปได้ของความจริงขึ้นมา หากแต่ความจริงที่อยู่ในมิติใหม่ดังกล่าวนี้อาจมีรูปร่างหน้าตาที่ดูแปลกและประหลาดไปจากสิ่งที่เราคุ้นชินจนกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีเค้าโครงของความจริงในมิติเก่าหลงเหลืออยู่ก็เป็นได้
และศิลปะที่สามารถสร้างมิติใหม่ของความจริงที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างน่าสนใจและมีการแสดงออกให้เห็นถึงการสานสัมพันธ์ระหว่างความจริงและความเชื่อปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมคือผลงาน ของ ประเสริฐ ยอดแก้ว ที่อยู่ในนิทรรศการ SCIENCEFAITH ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ ณ Whitespace Gallery ในนิทรรศการนี้เป็นการรวมรวมผลงาน Sketch และผลงานจริงที่เป็นในลักษณะผลงานศิลปะประเภทสื่อผสมที่มีการนำวัสดุหลากหลายมาเป็นสื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะนี้แสดงออกให้เห็นถึงก้อนความคิดแห่งจินตนาการที่ทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ถึงเส้นบางๆของกรอบการรับรู้ผลงานศิลปะในแบบดั่งเดิม หรือถ้าจะกล่าวกันอย่างง่ายๆคือ ในผลงานที่แสดงอยู่นี้เป็นการนำเสนอผลงานศิลปะที่กำลังจะออกนอกกรอบการรับรู้ทางศิลปะในแบบที่เคยเป็นมา
นิทรรศการ SCIENCEFAITH ประเสริฐได้เสกสรรค์ปั้นแต่งเรื่องราวสุดที่จะจินตนาการระหว่างความจริงและความเชื่อให้เข้ามาสู่พื้นที่ของศิลปะ ซึ่งในผลงานนั้น ประเสริฐ ได้สร้างรูปร่างหน้าตาของจินตนาการในเรื่องราวต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางความเชื่อ เรื่องเล่า หรือคติในทางศาสนาให้ออกมาเป็นวัตถุที่สามารถจับต้องได้ และในวัตถุที่ปรากฏออกมาเป็นผลงานศิลปะนั้นมันคือวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวทางความเชื่อที่มีการผสมผสานกับความเป็นจริง และเรื่องราวต่างๆทางความเชื่อนี้เองมันจึงเป็นที่มาของผลงานศิลปะที่มีรูปร่างหน้าตาที่ผิดๆ แปลกๆ จนยากที่จะอธิบายหรือให้นิยามในสิ่งที่เห็นว่ามันคืออะไร
ในผลงานศิลปะของ ประเสริฐ นั้นมีการแสดงออกทางศิลปะได้อย่างน่าสนใจ และในประเด็นที่สมควรจะนำมากล่าวกันในที่นี้คือการที่ ประเสริฐ เลือกใช้วัสดุที่สามารถตอบสนองความคิดที่ว่าด้วยเรื่องความจริงและความเชื่อ ซึ่งวัสดุที่อยู่ในผลงานนั้นอาจแบ่งหรือจำแนกได้สองประเภท ประเภทแรกคือวัสดุที่เกิดจากการกระทำให้ปรากฏขึ้นมาเป็นรูปทรง /รูปร่าง ด้วยทักษะและความสามารถที่เป็นส่วนตนของศิลปิน และประเภทต่อมาคือวัสดุสำเร็จรูปที่เหลือใช้หรืออาจจะมองได้ว่าเป็นวัสดุที่ไม่แตกต่างอะไรไปจาก “ขยะ” และซึ่งความน่าสนใจในผลงานชุดดังกล่าวนี้อยู่ที่ว่า ประเสริฐ ได้สร้างปรากฏการณ์ของการหล่อหลอมวัสดุทั้งสองประเภทเข้าด้วยกันจนเกิดภาวะในสิ่งที่เรียกว่า “ลงตัว” ทั้งนี้วัสดุทั้งสองประเภทที่ได้กล่าวมานั้นนับเป็นตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่าความจริงทางโลก(เศษวัสดุที่เป็นขยะ) กับ ความเชื่อที่กลั่นกรองออกมาจากจินตนาการที่มีที่มาจากเรื่องเล่าในทางศาสนา ดังเช่นที่ปรากฏในผลงานชื่อ “Kin-Na-Ri” ที่มีการนำเศษ “ขยะ” ที่เป็นซากของรถจักรยานนำมาผสานกับรูปทรงทางความเชื่อที่เป็นสัตว์หิมพานต์ จนสามารถทำให้เราเห็นถึงรอยต่อระหว่างความเป็นจริงกับเรื่องราวทางความเชื่อที่มิได้มีอยู่จริง
หากแต่นิยามในผลงานศิลปะของ ประเสริฐ นั้น คำว่า “ลงตัว” อาจจะมิใช่บทสรุปของการรับรู้ในผลงานชุดดังกล่าว ความลงตัวมันอาจเป็นต้นทางของการรับรู้แต่มิได้เป็นปลายทางของการสัมผัส/เข้าถึงผลงาน ซึ่งข้าพเจ้าเองได้เข้าไปสัมผัสกับผลงานจนเกิดความรู้สึกว่าปลายทางของการเข้าถึงผลงานชิ้นดังกล่าวนี้มันมิได้อยู่ที่ความลงตัว หากแต่มันอยู่ที่ความไม่ลงตัว ผิดแปลกแตกต่าง หรือความขัดแย้ง ที่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด
ความขัดแย้ง (paradox) คือภาวะที่เราซึมซับได้จากผลงานศิลปะของ ประเสริฐ ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Sketch หรือผลงานจริงที่เป็นวัตถุ สิ่งที่รับรู้ได้อย่างเด่นชัดคือความขัดแย้งอย่างถึงที่สุด ความขัดแย้งนี้มันคือภาวะของสิ่งที่ไม่เข้ากันหรือเป็นไปไม่ได้มาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และพื้นที่ทางศิลปะนี้คือพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และพร้อมที่จะรับภาวะดังกล่าวมากที่สุด ความขัดแย้งนี้หากกล่าวกันในมิติทางศาสตร์ความรู้อื่นๆอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ หรือทำให้บกพร่องทางเหตุผล แต่ความขัดแย้งในทางศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลงานของ ประเสริฐ เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อกรอบความคิดที่ ประเสริฐ ต้องการจะสื่อออกมาเป็นผลงานศิลปะอย่างมาก
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ประเสริฐ มีความต้องการที่จะนำความจริงและความเชื่อมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเมื่อสองสิ่งที่อยู่กันคนละขั้วมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน ความขัดแย้งก็เป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในผลงานนี้มันตอบสนองกรอบความคิดหลักของผลงานเป็นอย่างมาก เมื่อความจริงที่มีรูปร่างหน้าตาที่คุ้นชิน มาปะทะกับความเชื่อที่มีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายๆมาจากเรื่องเล่า จนทำให้สิ่งที่ปรากฏออกมานั้นมีความกำกวมจนยากที่จะบอกได้ว่ามันคือภาพแทนของความจริงหรือมันเป็นภาพแทนความความเชื่อ
ผลลัพท์ของงานนี้อาจอยู่ที่ภาวะ “กำกวม” ที่ปรากฏออกมาให้เห็นเป็นรูปร่าง/รูปทรงที่มีการผสมผสานกันระหว่างสิ่งต่างๆที่เป็นความจริงทางโลกกับรูปร่างทางความเชื่อที่มีที่มาจากเรื่องเล่าจนกลายมาเป็นวัตถุทางศิลปะ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับรู้/ซึมซับผลงานของ ประเสริฐ นั้น มันก็คงจะหลีกหนีไม่พ้น “ความตีบตันทางการสื่อสาร” แต่จะอุดมไปด้วย “การเปิดมิติทางการรับรู้ในมโนทัศน์ใหม่” อย่างน่าสนใจ
ด้วยสิ่งที่กล่าวมานี้ผลงานของ ประเสริฐ นับว่ามีความน่าสนใจอยู่มากในมิติของการสร้างมโนทัศน์ทางการรับรู้ผลงานศิลปะในมุมมองใหม่ ความใหม่ของ ประเสริฐ มิใช่ความใหม่ในการเลือกใช้สื่อ/วัสดุที่ทันสมัย หรือ new media แต่อย่างใด หากแต่ความใหม่ในที่นี้คือมุมมองที่ ประเสริฐ ได้เปิดต่อมิติทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยร่วมสมัย(แนวศิลปะไทยที่ประยุกต์มาจากแนวไทยประเพณี) ซึ่งจากแต่เดิมรูปลักษณ์ทางการแสดงออกของศิลปะแนวทางนี้ก็คงจะหลีกหนีไม่พ้นคุณงามความดี จริยธรรมที่ตรงตามกรอบ ความเชื่อ เรื่องเล่าของพุทธศาสนา หรือการแสดงออกในแนวทางพุทธศิลป์ แต่ในผลงานของ ประเสริฐ นั้นได้มีการทดลองเอาเรื่องราวทางความเชื่อที่อยู่ใน “กรอบ”ทางคติของพุทธศาสนามาตีแผ่ให้เห็นถึงความจริง (เรื่องจริง) และความไม่จริง (เรื่องเล่า) แต่ในกระบวนการตีแผ่นี้ ประเสริฐ มิได้ตัดสินแต่อย่างใดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่จริงแท้ หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แต่สิ่งที่ปรากฏในผลงานนั้นมีเพียงการบอกกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆทางความเชื่อที่ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกของความเป็นจริงที่เราๆท่านๆยังคงประสบพบพานกันอยู่ในโลกใบนี้
และด้วยภาวะที่เกิดขึ้นในผลงานชุดดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะเป็นภาวะของความลงตัวที่อุดมไปด้วยความขัดแย้ง หรือไม่ว่าจะเป็นภาวะของความกำกวมที่สร้างความตีบตันทางการสื่อสารนี้ทำให้ผลงานศิลปะของ ประเสริฐ มีความน่าสนใจในการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการแสดงออกทางศิลปะไทยแบบร่วมสมัยที่มิได้จำกัดอยู่ในวงหรือกรอบกิริยาอาการทางศิลปะกันในแบบเดิมๆ และยังแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของศิลปะในแนวทางดังกล่าวนี้มิได้หยุดและแน่นิ่งอยู่กับที่หรือยึดติดกับรอยเท้าของอดีตอย่างที่เคยเป็นมา
ในผลงานศิลปะของ ประเสริฐ นี้อาจสร้างต้นทางของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยร่วมสมัยในมิติใหม่ที่มิได้ต้องการที่จะค้นหา/แสดงออกถึงความจริง และก็มิได้ต้องการที่จะนำความเชื่อมาเล่าสู่กันอย่างงมงาย หากแต่เป็นการแสดงออกทางศิลปะเพื่อที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ ท้ายที่สุดผลงานในนิทรรศการ SCIENCEFAITH นี้อาจไม่สร้างการรับรู้ที่จะนำพาเราสู่ความเข้าใจ แต่กลับเผยสัจจะบางอย่างออกมา และสัจจะนี้มันคือสัจจะของความจริงที่ว่าด้วย “บางครั้งในความจริงอาจจะมีความเชื่อ และในความเชื่อมันอาจจะมีความจริง”
“ตามที่นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ( Albert Einstein) กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้แต่ถ้าในจินตนาการนั้นมาพร้อมกับเรื่องราวทางความเชื่อแล้ว ความรู้มันจะมีรูปร่างหน้าตาของความจริงหรือไม่ คำถามนี้อาจจะดูกำกวมและยากที่จะหาคำตอบ หากแต่พื้นที่ของการหาคำตอบนั้นคงไม่มีพื้นที่ไหนดีเท่าพื้นที่ของศิลปะที่สามารถนำความเชื่อและความจริงมาอยู่ร่วมกันถึงแม้มันจะขัดแย้งกันก็ตาม”
กฤษฎา ดุษฎีวนิช

ไม่มีความคิดเห็น:

เกี่ยวกับฉัน