
เสรีภาพ การเมือง ศิลปะ กับ พื้นที่ทดลองในความเป็นไปได้ของการวิจารณ์
ณ. ช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้คือช่วงเวลาที่พื้นที่สาธารณะทั่วไปในประเทศไทยเต็มไปด้วยสีสันหลากหลายรายรอบสองข้างทางตามท้องถนน จนแถบมองไม่เห็นเลยว่าพื้นที่ต่างๆนั้นช่วงเวลาก่อนหน้าเป็นสถานที่อะไร และด้วยที่มาของสีสันที่ได้กล่าวมานี้คือสีที่ปะปนอยู่กับระนาบของป้ายหาเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆที่กำลังจะมีการเลือกตั้งกันในต้นเดือนกรกฎาคมนี้
ในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นช่วงเวลาที่บรรดาพรรคการเมืองได้ถาโถมบรรเลงกลยุทธ์ต่างๆทางนโยบายพรรคในการบริหารประเทศ เพื่อที่จะทำให้ตนเองนั้นได้เป็นฝ่ายที่จัดตั้งรัฐบาล บางพรรคการเมืองก็ได้ชูนโยบายที่ชัดเจนตรงไปตรงมา และบางพรรคการเมืองก็ได้มีท่าทีหรือลูกเล่นที่มีการแสดงออกอย่างน่าสนใจผ่านการนำเสนอทางแผ่นป้ายหาเสียงที่เห็นกันอยู่ตามท้องถนน หรือถ้ามองกันอย่างเปิดใจให้กว้างแล้ว ป้ายหาเสียงต่างๆมันมีกระบวนการในการสื่อความหมายที่สอดคล้องกับความเป็นศิลปะอยู่มาก จนอาจจะกลับกลายเป็นผลงานศิลปะเลยก็ว่าได้
ทั้งนี้ป้ายหาเสียงต่างๆที่เห็นกันอยู่ดาษดื่นตามท้องถนนในเวลานี้ล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างไปจากป้ายหาเสียงในกาลก่อนอยู่มาก กล่าวคือ เมื่อครั้งสมัยอดีตนั้นป้ายหาเสียงจะไม่มีความหลากหลายทางด้านการแสดงออกเหมือนอย่างในปัจจุบันมากนัก สิ่งที่ปรากฏในระนาบของป้ายนั้นมีเพียงแค่ชื่อพรรคการเมือง รูปภาพถ่ายใบหน้าผู้สมัครไม่ด้านตรงก็เอียง45 องศาเล็กน้อย แล้วก็หมายเลขผู้สมัคร ซึ่งภาพที่ได้มานั้นก็เป็นเพียงภาพที่จะสื่อสารให้ประชาชนรู้ว่าผู้สมัครคนนี้อยู่พรรคการเมืองใด และเบอร์อะไร หรืออย่างมากก็มีนโยบายเล็กๆน้อยๆที่เป็นคำขวัญพรรคที่สามารถทำให้ประชาชนนั้นจดและจำในสิ่งต่างๆได้อย่างง่ายดาย
แต่ในสิ่งที่ปรากฏในป้ายหาเสียงในยุคสมัยนี้มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและกลยุทธ์ในการแสดงออกอยู่มาก ใบหน้าที่ดูจริงจังและเหน็ดเหนื่อยกับการงานภาคสนามล้วนแล้วแต่ถูกนำมาแทรกแซงให้ปรากฏอยู่ในป้ายหาเสียงแทบจะทุกพรรคการเมือง หรือไม่ก็เป็นภาพผู้สมัครลงเลือกตั้งทำตัวให้เสมอประชาชน ที่ลงมานั่งกับประชาชนตามท้องถนนเพื่อแสดงให้เห็นถึงการไม่ถือตัวและมีความเสมอภาคกันและกัน ซึ่งในความจริงภาพดังกล่าวอาจมิได้เกิดขึ้นจากสถานการณ์จริงก็เป็นได้ หรือถ้าเป็นเหตุการณ์จริงก็มิใช้เรื่องที่แปลกอะไรเพราะนักการเมืองก็คนเหมือนกับประชาชนอย่างเราๆ สิ่งที่ปรากฏในป้ายหาเสียงที่กล่าวมานี้ล้วนมีนัยของการแสดงออกว่าผู้แทนราษฎรนั้นเป็นผู้ที่ทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชน และผู้คนต่างๆที่ปรากฏในภาพนั้นล้วนแล้วแต่เต็มใจที่จะทำงานเพื่อประชาชนจนตัวตายแทบทั้งสิ้น แต่ในความเป็นจริงนั้นก็อาจมีเพียงแต่ความจริงที่เป็นภาพเท่านั้น
และซึ่งประเด็นของป้ายหาเสียงในยุคสมัยนี้ถ้าลองสังเกตดูล้วนแล้วแต่มีเนื้อหา/เรื่องราวแอบแฝงอยู่แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน ที่สามารถแสดงให้ถึงภาวะของผู้นำที่เป็นคนดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ที่พร้อมจะทำงานบริหารประเทศรับใช้ประชาชน หรือไม่ก็แสดงให้เห็นถึงนโยบายโดยมีภาพประกอบอย่างตรงไปตรงมา แต่ที่น่าสนใจและเป็นปรากฏการณ์ป้ายหาเสียงที่ท้าทายมโนทัศน์การรับรู้แบบเดิมๆคือ การนำระบบสัญลักษณ์มาแทนค่าของเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสารออกไป ไม่ว่าจะเป็นสีสันต่างๆก็ดี ตัวอักษรก็ดี หรือการแสดงออกราวกับศาสตร์ของศิลปะการแสดงก็ดีล้วนแล้วแต่ให้เห็นถึงพัฒนาการณ์ด้านการสื่อสารในที่สาธารณะในมิติของการเมืองแทบทั้งสิ้น
และป้ายหาเสียงที่มีความน่าสนใจและเป็นการสร้างปรากฏการณ์การรับรู้ใหม่นี้คงหนีไม่พ้นป้ายหาเสียงของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งถ้าใครผ่านไปมาตามท้องถนนแล้วก็จะสะดุดตาและพร้อมที่จะอมยิ้มกับแผ่นป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ผู้นี้ทั้งสิ้น ซึ่งป้ายดังกล่าวของ ชูวิทย์ นี้ล้วนมีการแสดงออกในมิติที่มีความเป็นศิลปะอยู่ค้อนข้างมาก ทั้งการใช้ร่างกายเป็นสื่อก็ดี หรือการใช้ภาษาที่ยอกย้อนความเป็นไปทางการเมืองก็ดี ทุกสิ่ง ทุกสิ่งอย่างที่ปรากฏในป้ายหาเสียงของ ชูวิทย์ นั้น ล้วนมีความน่าสนใจในแง่ของปรากฏการณ์ที่มีความน่าจะเป็นผลงานศิลปะเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้พื้นที่สี่เหลี่ยมพื้นผ้าด้านตั้งที่ติดประดับอยู่เรียงรายตามท้องถนนนี้อาจเป็นพื้นที่ของการแสดงออกทางศิลปะที่มีเนื้อหาหรือเรื่องราวความเป็นไปทางสังคมแอบแฝงอยู่ ดังที่เห็นได้ในป้ายหาเสียงของ ชูวิทย์ ที่มีการแสดงออกอย่างสนุกสนานราวกับพื้นที่ตรงนั้นเป็น art space ในการทำงานศิลปะของ ชุวิทย์ ซึ่งเมื่อเราแรกเห็นแผ่นป้ายหาเสียงของ ชูวิทย์ แล้วสิ่งหนึ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นเด่นชัดคือสีหน้าการแสดงออกของ
ชูวิทย์ ที่เน้นท่าทีที่ดุดัน เคร่งเครียด และมีการวิพากษ์โครงสร้างทางการเมืองอย่างรุนแรง ทั้งข้อความที่ปรากฏที่อย่างตรงไปและตรงมา และพร้อมทั้งการใช้สัญลักษณ์ที่ต้องอาศัยการตีความตามมา เช่น การใช้สุนัขเข้ามาอยู่ในเรื่องราวของป้ายหาเสียงที่จะสื่อถึงความซื่อสัตย์ หรือการใช้เด็กมาเปรียบเทียบถึงการเปลี่ยนผ้าอ้อมที่บ่อยครั้งก็เหมือนกับนักการเมืองที่ควรจะเปลี่ยนแปลงบ้าง ซึ่งป้ายต่างๆนี้ล้วนมีเนื้อหาใจความที่แตกต่างไปจากป้ายหาเสียงของนักการเมืองพรรคอื่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจตนาของ ชูวิทย์ นั้นมิได้หาเสียงเพื่อที่จะเป็นฝ่ายรัฐบาลหากแต่กลับกันการหาเสียงนี้ ชูวิทย์ ได้เสนอตัวเองเข้ามาเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งนับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการกระทำเช่นนั้น หรืออาจเป็นเพราะตัว ชูวิทย์ เองมองความน่าจะเป็นว่ายังไงก็ไม่ได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาล การเป็นฝ่ายค้านอาจเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้
ชูวิทย์ เข้ามาอยู่ในโครงสร้างของนักการเมืองก็เป็นได้
ทั้งนี้เรื่องประเด็นหรือเจตนาทางการเมืองข้าพเจ้าอาจไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเท่าใดนัก เพราะเนื้อหาใจความหลักของบทความนี้จะอยู่ตรงที่การแสดงออกและการสื่อสารเรื่องราวบนระนาบแผ่นป้ายหาเสียงที่ปรากฏอยู่ในพื่นที่และช่วงเวลาดังกล่าว
ชูวิทย์ คือบุคคลที่สร้างสีสันให้แก่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นอย่างมาก ชูวิทย์ ได้สร้างกระแสการนำเสนอตนเองอย่างชัดเจนหรือบางครั้งก็ออกนอกหน้าบ้าง ทั้งในสื่อที่เป็นสาธารณะ หรือการทำตนเองให้เป็นข่าว ตั้งแต่เรื่องราวของการเป็นเจ้าของกิจการอาบอบนวดที่อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม เรื่อยมาจนถึงการร่ายแม่ไม้มวยไทยใส่ผู้สื่อข่าวรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ความตรงไปตรงมา ดุดันและชัดเจนของ
ชูวิทย์ (ประเด็นนี้เราจะไม่พูดถึงจริยธรรมหรือคุณงามความดี) ล้วนเป็นสิ่งที่ประชาชนต่างจับตามอง และครั้งนี้การกลับมาอีกครั้งในฐานะผู้สมัครเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็ได้สร้างกระแสให้ประชาชนเฝ้าจับตามองอย่างเช่นเคย
เท่าที่จำความได้แผ่นป้ายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองของ ชูวิทย์ ได้เป็นผู้นำมาติดตั้งประดับประดาตามท้องถนนเป็นพรรคการเมืองแรกๆ ป้ายดังกล่าวล้วนปรากฏใบหน้าที่เคร่งเครียดของ ชูวิทย์ แทบทั้งสิ้น และด้วยการใช้ตนเองมาเป็นสื่อในการแสดงออกถึงเรื่องราวทางการเมืองนี้ชี้ให้เห็นว่าแผ่นป้ายหาเสียงดังกล่าวคือพื้นที่ทางการแสดงออกที่มีความสอดคล้องกับความเป็นศิลปะอยู่มาก ทั้งการใช้ร่างกายนำเสนอ การสื่อสารอารมณ์/ความรู้สึกต่างๆ ราวกับว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของการนำเสนอทางศิลปะ ซึ่งถ้ารองนำประเด็นในเรื่องเจตนาการหาเสียงออกไป แผ่นป้ายที่ปรากฏใบหน้าของ ชูวิทย์นั้น อาจเปรียบได้กับผลงานศิลปะภาพถ่ายที่มีความเป็นร่วมสมัยอยู่มาก ซึ่งในเนื้อหา/ใจความของผลงานภาพถ่ายนี้อาจเป็นได้กับผลงานศิลปะกับการวิพากษ์/วิจารณ์เมืองไทยก็ว่าได้
การใช้ร่างกายนำเสนอด้วยท่าทีของการเน้นการแสดงออกด้วยอารมณ์นี้มันก็อาจไม่ต่างกับกิริยาอาการทางศิลปะที่เรามักพบเห็นได้ในผลงานศิลปะร่วมสมัย ที่มีประเด็นเกี่ยวโยงกับการเมือง หากแต่ในครั้งนี้ผู้สร้างสรรค์อาจเป็นผู้ที่มีความเกี่ยวโยงกับการเมืองเองโดยตรง
ทั้งนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ถ้าป้ายหาเสียงที่กล่าวมานี้มีการแสดงออกที่สอดคล้องกับการแสดงออกทางศิลปะ และป้ายหาเสียงดังกล่าวมันคือศิลปะหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ใครหลายๆคนอาจจะบอกให้มองย้อนกับไปที่เจตนารมณ์ของการสร้างสรรค์ และในที่นี้เจตนารมณ์นั้นมันมิได้มีความจงใจให้เป็นศิลปะอย่างแน่นอน เพราะในเจตนานั้นมันเป็นการแสดงออกเพื่อการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง ซึ่งถ้ามองในมิติของเจตนารมณ์แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ความแปลกทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ในที่นี้ควรมองย้อนกลับไปในมิติของการสร้างสรรค์หรือในมิติทางสุนทรียศาสตร์ที่ว่าด้วยการใช้ศิลปะมาเป็นสื่อหรือเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งในสิ่งที่ปรากฏในแผ่นป้ายหาเสียงของ ชูวิทย์นั้นล้วนแล้วแต่มีการนำสุนทรีย์ศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเป็นอย่างมาก หรือถ้าจะกล่าวกันอย่างง่ายๆว่า ชูวิทย์ มิได้มีความต้องการให้แผ่นป้ายหาเสียงต่างๆนั้นมีความเป็นศิลปะ หากแต่แผ่นป้ายหาเสียงต่างๆนั้นมันมีความเป็นศิลปะด้วยตัวมันเองในมิติของการที่ศิลปะเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ซึ่งถ้ามองในมิติดังกล่าวแล้วการวิจารณ์แผ่นป้ายหาเสียงของ ชูวิทย์ ก็ดูเหมือนจะมีความชัดเจนในมิติทางศิลปะที่เกี่ยวโยงกับการเมืองมากขึ้นกล่าวคือ ศิลปะได้ถูกนำมาเป็นสื่อทางการเมืองได้อย่างเด่นชัด ซึ่งก็ไม่ต่างกับยุคสมัยหนึ่งของประเทศไทยที่มีการใช้ศิลปะมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของภาครัฐ เช่น แผ่นปิดประกาศในสมัยหนึ่งที่มีภาพและเนื้อหาเกี่ยวโยงกับการเมืองที่ไม่ว่าจะประเด็นในเรื่องการเชื่อผู้นำแล้วชาติพ้นภัยหรือการสร้างภาพของวัฒนธรรมของชาติไทย ศิลปะได้เข้ามาใกล้ชิดการเมืองมาตั้งแต่เมืองครั้งสมัยอดีต ทั้งถูกใช้ในการเป็นเครื่องมือรับใช้ระบอบการเมืองรวมทั้งการเข้ามาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านระบอบการเมือง
แต่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในครั้งนี้คือศิลปะได้เป็นเครื่องมือของคนที่อยากจะเป็นนักการเมืองที่ต่อต้านนักการเมือง หรือเป็นเครื่องมือในการแย้งชิงอำนาจทางการเมือง ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในแผ่นป้ายหาเสียงนั้นคือ การแสดงออกถึงเรื่องราวทางการเมืองในสภาวะปัจจุบันที่มีไร้เสถียรภาพ ด้วยการแสดงออกทางร่างกาย ไม่ต่างกับการแสดงออกของศิลปะแสดงสด (Performance Art) ที่พร้อมกับการใช้สื่อที่เป็นภาพถ่ายที่มีการเน้นการแสดงออกมาให้ดูเกินจริง จนทำให้กระตุ้นผู้คนให้ติดตาม และในแผ่นป้ายหาเสียงขอ ชูวิทย์ ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งหากมองในมิติของปรากฏการณ์ทางสังคมพื้นที่ในระนาบของแผ่นป้ายหาเสียงของ ชูวิทย์ นี้ได้สร้าง “ความน่าจะเป็น” ของความสอดคล้องกับนิยามทางศิลปะ ในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ท้ายทายต่อนิยามความเป็นศิลปะเป็นอย่างมาก และการท้าทายนี้มันมิได้ท้าทายเพียงแค่รูปแบบและพื้นที่ในการนำเสนอเท่านั้น หากแต่เป็นการท้าทายต่อนิยามการรับรู้ความเป็นศิลปะว่าด้วยเรื่อง “ในสิ่งที่ปรากฏนี้มันเป็นศิลปะหรือไม่” และในคำถามนี้ก็ปรากฏออกมาจากแผ่นป้ายหาเสียงดังกล่าว ซึ่งคำถามดังกล่าวนี้มันอาจจะสอดคล้องกับนิยามของโลกศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่เป็นอย่างมากว่าด้วยเรื่องสุนทรีย์ศาสตร์ของศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ที่มิได้สนใจหรือใส่ใจไปที่ความงามของศิลปะมันจะมีจริงหรือมีอยู่ที่ไหน หากแต่เป็นการสนใจในการตั้งคำถามต่อการวิพากษ์สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าว่ามันเป็นศิลปะหรือไม่เสียมากกว่า
การนำแพะ(ชูวิทย์)มาชนแกะ(ศิลปะ)ในที่นี้เป็นไปเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ทางศิลปะและความเป็นไปไม่ได้ทางศิลปะที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่เราๆพบเห็นกันได้ตามท้องถนน เช่นในแผ่นป้ายหาเสียง ที่เมื่อเราๆท่านๆดูไปแล้วนั้นอาจเกิดคำถามขึ้นในใจว่ามันเป็นศิลปะหรือไม่ หรือมันอาจเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่นำเสนอด้วยรสชาติความเป็นไปของศิลปะ แต่อย่างไรก็ตามด้วยคำถามหรือสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแต่มีความน่าสนใจในมิติของความเป็นไปได้ทางศิลปะที่ท้าทายต่อการรับรู้ทั้งสิ้น ซึ่งอาจเป็นการเปิดประเด็นในการหาคำตอบของสิ่งที่แท้จริงของศิลปะก็เป็นได้ และในสังคมไทยคำถามดังกล่าวเมื่อมาอยู่ในพื้นที่ของการเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผูกโยงกับผู้คนจำนวนมากและมีความเป็นสาธารณะสูง ซึ่งอาจทำให้ความเป็นไปได้ต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับศิลปะนี้อาจมีศักยภาพของความเป็นไปได้มากขึ้นเช่นกัน
และสิ่งต่างๆที่ปรากฏออกมาในพื้นที่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นว่าศิลปะได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการในการสื่อความหมายของสังคม ถึงแม้มันจะไม่แสดงตนออกมาอย่างชัดเจน แต่มันก็ได้สร้างแรงกระตุ้นของการส่งสารบางอย่างออกไปยังสังคม ซึ่งทำให้ผู้คนในสังคมรับรู้และสนใจสารต่างๆตามมา และถึงแม้สารต่างๆนี้จะเปรียบได้ดั่งละครน้ำเน่าทางการเมือง แต่ถ้ามองกันให้ลึกแล้วละครนี้ได้แสดงให้เห็นถึงกลิ่นบางอย่างของนักการเมืองไทย ที่จะแสดงออกด้วยวิธีไหนมันก็เน่าอยู่ดี
ทั้งนี้การนำเคล้าโครงของศิลปะมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองนี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าศิลปะเป็นได้ทั้งฝ่ายที่อยู่ในโครงสร้างทางการเมืองและเป็นฝ่ายที่อยู่นอกโครงสร้างทางการเมือง ศิลปะมีเสรีภาพมากกว่านิยามของความเป็นศิลปะ ศิลปะมีเสรีภาพในตนเองมาก มากจนทำให้ศิลปะได้หลุดพ้นความเป็นศิลปะด้วยปัจจัยทางการเมืองหรือสังคม ซึ่งในปรากฏการณ์ที่เห็นดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ศิลปะได้นำตนเองหลุดกรอบของความเป็นศิลปะไปแล้วทั้งสิ้น แผ่นป้ายหาเสียงต่างๆมิได้มีเจตนาการแสดงออกทางศิลปะที่บริสุทธิ์ หากแต่เป็นเจตนาที่ต้องการเพียงแค่เป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น และเมื่อถูกนำเสนอออกไปสู่พื้นที่สาธารณะแผ่นป้ายต่างๆก็กลับมาเป็นศิลปะด้วยตัวมันเอง ด้วยกิริยาอาการที่ถูกนำเสนอออกมาผ่านร่างกายของตัวละครที่ได้เสนอออกมาอย่างมีเนื้อหาและเรื่องราวที่แฝงด้วยสารที่ต้องการจะสื่อ และในขณะเดียวกันแผ่นป้ายต่างๆนี้ก็ได้ปฏิเสธความเป็นศิลปะด้วยเจตนารมณ์และบริบทของมันเองเช่นกัน
และด้วยความผลิกผันไปมาของนิยามความเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะที่เกิดนี้ได้ส่งผลต่อผู้คนในสังคมมีสิทธิที่จะตีความในสิ่งต่างๆนี้ว่ามันเป็นศิลปะหรือไม่ ในเมื่อนิยามของศิลปะเองไม่มีความแน่ชัด เสรีภาพในการตีความหรือวิพากษ์/วิจารณ์ต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมนี้จึงเกิดขึ้นตามมาเช่นกัน ซึ่งทำให้การมองสิ่งต่างๆที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะอาจมีมุมมองไปถึงการมองให้เป็นศิลปะด้วยเช่นกัน และด้วยการหยิบยื่นเสรีภาพจากสิ่งที่ไม่ค่อยจะแน่ชัดนี้อาจทำให้เกิดการตีความที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย เสรีภาพที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดพัฒนาการณ์ทางศิลปะในมิติของความกว้างไกลของนิยามความเป็นศิลปะ หรือทำให้ศิลปะมีรูปร่างหน้าตาที่ประหลาดออกไปจากความคุ้นชิน
แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากความไม่ชัดเจนและไม่แน่นอนของนิยามความเป็นศิลปะนี้คือ เสรีภาพของการวิจารณ์ ซึ่งในบทความที่มีการจับแพะมาชนแกะนี้เปรียบเหมือนห้องทดลองของการวิจารณ์ศิลปะที่มีการหยิบยกสิ่งที่มีเพียงแค่ความน่าจะเป็น(ศิลปะ)มาอธิบายและทดลองหาความเป็นไปได้ของนิยาม/ความหมายของศิลปะ ซึ่งสิ่งที่ได้มานั้นคือความน่าจะเป็นที่มีความน่าสนใจในมิติของเสรีภาพของการวิจารณ์ ที่ส่งผลต่อกลไก/กระบวนการในการนิยามศิลปะ
ในสังคมไทยอาจมิใช้สังคมที่อ่อนด้อย/อ่อนพลังต่อการวิจารณ์ดังที่พบเห็นกันในงานวิจัยที่มีมูลค่านับล้านบาท หากแต่การวิจารณ์งานศิลปะในบ้านเรานั้นอาจจะยังขาดแคลดเสรีภาพของการแสดงออก ผลงานวิจารณ์ส่วนมากก็มักจะนำเสนอสิ่งที่เห็นกันอยู่ในผลงานหรือไม่ก็หยิบยกทฤษฏีต่างๆนานามาอธิบายกันด้วยภาษาที่แหลมคม หากแต่ในบทวิจารณ์ยังขาดการแสดงออกอย่างมีเสรีภาพของการนำเสนอความคิด การทดลอง และหาความเป็นไปได้ทางศิลปะ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นกระบวนการหนึ่งของการทำงานทางศิลปะ แต่ในการบวนการวิจารณ์ผลงานศิลปะนั้นก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทดลอง และหาความเป็นไปได้ใหม่ทางการแสดงออกด้วยตัวบทด้วย เพื่อมิให้สิ่งที่ควรอยู่คู่ผลงานศิลปะได้ตายซากไปพร้อมๆกับผลงานศิลปะที่เหมือนกับว่ากำลังจะหยุดนิ่งในภาวะปัจจุบัน
และในบทความข้างต้นที่มีการหยิบยกประเด็นการนำป้ายหาเสียงเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของศิลปะนี้ก็เพื่อแสดงว่านิยามของความเป็นศิลปะในบ้านเราสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนเสียใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่งความน่าสนใจและใกล้ชิดกับสังคมมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ ศิลปะกับสังคม/การเมืองเป็นของที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต ทุกยุคทุกสมัย หรือทุกประเทศในโลก ศิลปะมิได้ห่างไกลจากผู้คน ศิลปะเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่รายรอบผู้คนในสังคมทุกพื้นที่และทุกเวลา และในสังคมไทย ณ ช่วงเวลานี้แผ่นป้ายหาเสียงก็มีความเป็นไปได้ว่ามันจะเป็นผลงานศิลปะด้วยกลไกของตัวมันเองเช่นกัน
และในมุมกลับกันแผ่นป้ายหาเสียงต่างๆที่ได้กล่าวมานี้หากไม่มีการหยิบยกเข้ามาสู่พื้นที่ของนิยามความเป็นศิลปะด้วยการวิจารณ์ศิลปะแล้ว แผ่นป้ายต่างๆจะถูกมองไปถึงความเป็นไปได้ทางศิลปะหรือไม่ หรือมองเป็นแค่เพียงเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเสียงที่หมดเวลาก็เป็นเพียงแค่ขยะ ที่พร้อมจะส่งกลิ่นเหม็นไปกับนักการเมืองเมื่อวันเลือกตั้งได้เสร็จสิ้น ทั้งนี้ความเป็นไปได้และความน่าจะเป็นดังกล่าวนี้มันได้สร้างนิยามของเสรีภาพในงานวิจารณ์ศิลปะ และสร้างเสรีภาพของคำว่าศิลปะขึ้นในเวลาเดียวกัน การแสดงออกต่างๆนานาที่ได้กล่าวมานี้ถ้ามองในมิติการแสดงออกทางศิลปะมันจะเป็นศิลปะหรือไม่ ถ้าเป็นแล้วมันได้สร้างนัยหรือปรากฏการณ์ใดๆต่อสังคม คำถามต่างๆนี้ล้วนมีที่มาจากการเสรีภาพในการตีความต่อสิ่งที่ปรากฏในสังคมทั้งสิ้น
และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหาความเป็นไปได้ทางศิลปะที่ปรากฏให้เห็นได้ในสังคม ศิลปะและการวิจารณ์ศิลปะอาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งต่างๆที่อยู่รายรอบ แม้กระทั้งแผ่นป้ายหาเสียงที่มีหน้าที่การใช้งานไม่ต่างจากฉลากสิ้นค้าหรือแผ่นป้ายโฆษณาอื่น และสิ่งต่างๆที่เห็นกันอยู่ในสังคมนี้หากมีการมองในมิติทางศิลปะแล้วเราก็จะพบสาระหรือความหมายต่างๆที่สำคัญตามมาเช่นกัน และซึ่งสาระที่ข้าพเจ้าได้จากการวิจารณ์แผ่นป้ายหาเสียงของ ชูวิทย์ ที่ได้กล่าวมานี้คือ “..............................”
“...คำตอบท้าประโยคข้างต้นข้าพเจ้าไม่อาจจะตอบได้ในขณะนี้ หากแต่คำตอบมันจะเปิดเผยในตัวมันเองหลังจากวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป!!!”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น