วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นิทรรศการ ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต ศรีวานิชภูมิ


นิทรรศการ  ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต  ศรีวานิชภูมิ


นิทรรศการ  ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต  ศรีวานิชภูมิ  ที่ปรากฏอยู่ ณ แกเลอรี่ g23  เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานภาพถ่ายของ มานิต  ศรีวานิชภูมิ  ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2540-2550  ซึ่งถือได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวนี้ประเทศไทยได้ผ่านเรื่องราวร้อนและหนาวในทางสังคมและการเมืองอยู่มากมาย   และในนิทรรศการครั้งนี้ของ มานิต ก็ได้ถือว่าเป็นนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายที่รวบรวมเรื่องราว ความเป็นไปของสังคมต่างๆที่เป็นอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวมานำเสนอได้อย่างเป็นรูปธรรม

มานิต  ศรีวานิชภูมิ  ถือได้ว่าเป็นศิลปินคนหนึ่งที่มีความน่าสนใจในด้านการแสดงออกทางศิลปะ   โดยเรื่องราวในผลงานศิลปะของ มานิต นั้นล้วนผูกโยงกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคมทั้งสิ้น   ไม่ว่าในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่หันหน้าเข้าสู่สังคมทุนนิยม/บริโภคนิยม (ที่เกินพอดี)   หรือไม่ว่าประเด็นทางการเมือง ในทุกๆเรื่องราวที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม มานิต ได้มีการนำเสนอและถ่ายทอดมาเป็นผลงานศิลปะที่เป็นภาพถ่ายไว้อย่างน่าสนใจ

และในทุกๆผลงานศิลปะของมานิตนั้น ภาพถ่ายเป็นกลไกลหรือเป็นกระบวนการหลักในการนำเสนอ   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะภาพถ่ายนั้นเป็นสิ่ง/สื่อหนึ่งที่สามารถถ่ายทอด ความจริงได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด   แต่ความจริงที่ มานิตได้ถ่ายทอดลงสู่ภาพถ่ายนี้ ล้วนเป็นความจริงที่มีบางสิ่งฉาบหน้าความแท้จริงของปรากฏการณ์สังคม   ฉะนั้นภาพถ่ายของ มานิต จึงเป็นการนำเสนอเรื่องราวความจริงที่มีกลิ่นคาวๆหรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์แอบแฝงและซ่อนตัวอยู่

และซึ่งเหตุที่มาของเรื่องราวทั้งหมดที่ศิลปินผู้นี้ได้เลือกมองในประเด็นทางสังคมและการเมืองนั้น อาจสืบเนื่องมาจาก มานิต เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมและเคยเป็นช่างภาพให้กับสื่อสิ่งพิมพ์   ดังนั้นเมื่อ มานิต ได้มองเห็นเรื่องราวต่างๆทางสังคม  สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือ คำถามจากเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ว่า ความจริงเป็นเช่นไร 

เมื่อ มานิต ได้มีมุมองที่เป็นการตั้งคำถามกับสังคมแล้ว  การแสดงออกทางศิลปะที่เป็นในแนวทางภาพถ่ายจึงได้เริ่มขึ้น   และในปีพ.ศ. 2540  (ค.ศ. 1997) การเริ่มต้นการทำงานศิลปะที่มีประเด็นทางสังคมก็ได้เริ่มต้นขึ้น  และในช่วงเวลานั้นเองสังคมไทยก็ได้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นผลกระทบจากระบบทุนนิยมที่มาพร้อมกับการบริโภคนิยมที่เกินพอดี   สังคมไทยในช่วงนั้นดูเหมือนจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ จนลืมมองความเป็นไปในสังคม  และสังคมไทยก็ได้เริ่มเข้าสู่กระแสโลกโลกาภิวัตน์

และในปี พ.ศ. 2540 นี้เองสังคมไทยก็ได้ประสบกับปัญหาที่หนักยิ่งทางเศรษฐกิจที่ทำให้สภาพความเป็นอยู่ในประเทศแปรเปลี่ยนไป   วิกฤติฟองสบู่แตก  ดูเหมือนจะเป็นคำที่ได้ยินติดหูในยุคสมัยนั้น และจากช่วงเวลาแห่งวิกฤติการณ์ทางสังคมนี้เอง   บุรุษที่สวมเสื้อสูททันสมัยสีชมพูแปร๋น หน้าตาเฉยๆ ที่ดูไร้ชีวิตชีวานี้เองก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

พิ้งค์แมน เป็นบุคคลสมมุติที่ มานิต ได้สร้างขึ้นเพื่อที่จะเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ของทุนนิยมที่นิยมบริโภคกันเกินความพอดี  จนทำให้เราเองลืมมองโทษหรือพิษร้ายของมันที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย  พิ้งค์แมน อาจเป็นบุคคลที่ได้รับพิษร้ายจากระบบทุนที่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในสภาพที่ดูไร้ชีวิตและคำนึงแต่การที่จะได้บริโภค

ตามที่ได้กล่าวมา พิ้งค์แมน เป็นบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นจากกรอบคิดทางศิลปะ ฉะนั้นอากัปกิริยาของ พิ้งค์แมน ก็ล้วนเป็นการแสดงเพื่อให้เห็นถึงเรื่องราว แนวคิดทางศิลปะทั้งสิ้น
และการเริ่มต้นของพิ้งค์แมนนี้ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 ในชุด Pink Man Begins จนถึงชุดล่าสุดในปี พ.ศ. 2552 ในชุด Ping Man Opera 

เริ่มแรก การปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน ในงานศิลปะของ มานิต เป็นการปรากฏตัวในฐานะผู้ที่ทำการแสดงสดในที่สาธารณะ  ( Performance) และ มานิต ก็เป็นผู้บันทึกภาพ   ฉะนั้นภาพที่ปรากฏออกมาล้วนแล้วแต่ เล่นกับปฏิกิริยาคนรอบข้างในที่สาธารณะทั้งสิ้น   ดังที่ปรากฏในผลงาน  Pink Man Begins  ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)  ผู้คนที่อยู่ในสังคมรอบข้างล้วนมีอากัปกิริยาโต้ตอบกับการปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน ทั้งสิ้น   ทั้งนี้เพราะความโดดเด่นของ พิ้งค์แมน ในชุดสูทสีชมพู ประกอบกับกิริยาอาการที่เรียบเฉยไม่สนใจใยดีบริบทรอบข้าง   จนทำให้ผู้คนในสังคมเหลียวหันมามองกันไปตามๆกัน    และเหตุปัจจัยที่มีผู้คนในสังคมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการศิลปะของมานิตนั้นเป็นไปเพื่อที่จะกระตุ้นให้คนในสังคม เห็นปรากฏการณ์ที่เป็นผลกระทบจากโลกทุนนิยมที่กำลังเข้ามากลืนกินสังคมไทยอยู่ในขณะนั้นก็เป็นได้

ซึ่งการปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน ในชุดผลงาน Pink Man Begins นี้ พิ้งค์แมน มักจะปรากฏตัวในที่สาธารณะที่เป็นย่านธุรกิจ ในเขตชั้นเมืองหลวงที่มีความเจริญ(ทางด้านวัตถุ) หรือไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านอาหารจานด่วน  ที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสังคมบริโภคนิยมที่เป็นผลสืบเนืองมาจากการนำวิธีคิดแบบทุนนิยมมาสู่สังคมไทยในขณะนั้น  และในผลงานชุด  Pink Man Begins ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของบุรุษที่สวมเสื้อสูทสีชมพู ที่ดูไร้ชีวิตชีวา

และในปีเดียวกัน พิ้งค์แมน  ก็ได้มีการเดินทางต่อเพื่อเป็นการสร้างเสียงที่จะกระตุ้นสังคมให้หันมามองความจริงที่กำลังจะเกิดหรือเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย  ในชื่อชุดผลงาน Pink Man With Pink Balloons และ Pink Man With A Pink Lamp ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)     เปรียบดังภาคต่อของ  Pink Man Begins ที่ยังคงเน้นย่ำในเรื่องราวของปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิธีคิดแบบทุนนิยม   ที่ทำให้ผู้คนมุ่งเน้นแต่การแสวงหาเม็ดเงินเพื่อที่จะนำมาบริโภคและใช้ชีวิตกันอย่างสุขสำราญจนเกินพอดี    และในครั้งนั้น  พิ้งค์แมน ก็ได้มีการแสดงสดในที่สาธารณะย่านถนนสีลม   ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านธุรกิจที่สำคัญอีกที่หนึ่ง    ในครั้งนั้น ได้นำลูกโป่งสีชมพูที่มีข้อความหรือเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับ ความอยากในด้านวัตถุนิยม  เช่นข้อความว่า อยากใส่โรเร็กส์  อยากไปตีกอล์ฟที่จาร์กาต้าหรือ อยาก....... ฯลฯ   ในทุกๆข้อความที่ปรากฏบนลูกโป่งสวรรค์ ที่กำลังลอยอยู่เหนือหัว พิ้งค์แมน นี้   เปรียบดั่งความต้องการของบุคคลที่ตกอยู่ในวงล้อมของทุนนิยมที่มีความต้องการหรืออยากในสิ่งที่เป็นวัตถุมาตอบสนองความต้องการส่วนตน  และลูกโป่งสวรรค์เหล่านี้ก็อาจเปรียบดังพื้นที่ที่เป็นสวรรค์ของ พิ้งค์แมน ที่เขาอยากที่จะไปหรืออยากที่จะมีจนต้องทำการไขว่คว้าตลอดเวลา 

และอีกหนึ่งผลงานในชุดเดียวกันนี้ที่มีความน่าสนใจในแง่ของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์คือผลงาน Pink Man With A Pink Lamp #1 ( Silom Road)  ในผลงานนี้ พิ้งค์แมน ก็ได้มีการแสดงสดในที่สาธารณะอีกเช่นเคย โดยครั้งนี้ พิ้งค์แมน ได้สวมใส่แบบฟอร์มสีชมพูพร้อมกระเป๋านักธุรกิจเดินไปตามถนนย่านสีลมพร้อมกับในมือถือตะเกียงสีชมพู
ซึ่งความน่าสนใจในผลงานชิ้นนี้อยู่ที่ว่า  พิ้งค์แมน  ได้มีการแสดงล้อเลียนหรือมีการหยิบยกประวัติศาสตร์บ้านเมืองมากล่าวซ้ำใหม่ในสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน  และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ได้หยิบยกขึ้นมาในครั้งนี้คือ การวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ในสมัยรัชกาลที่ 7   ซึ่งมีนาย นรินทร์ ภาษิต (กลึง) หรือ นรินทร์บ้า ได้ทำการเดินประท้วงตามท้องถนนในสมัยนั้น  โดยที่มีการร้องตะโกนถึงการบริหารราชการแผ่นดินในยุคสมัยนั้นและพร้อมกับถือตะเกียงไว้ในมือ ซึ่งเป็นนัยกล่าวถึงสภาพบ้านเมืองในยุคสมัยนั้นว่ามืดมน ไร้ซึ่งความเป็นธรรม ....
และในการเดินบนท้องถนนของ พิ้งค์แมน ในครั้งนี้ อาจเป็นการเดินในสภาวะบ้านเมืองที่อยู่ในระบบทุนนิยมที่กำลังจะมืดมนก็เป็นได้

การแสดงสดในที่สาธารณะของ พิ้งค์แมน นี้ได้กระทำมาพร้อมๆกับการบันทึกภาพของ มานิต     เปรียบดังมานิตได้หยุดเวลาขณะที่ พิ้งค์แมนทำการแสดงสดไว้เป็นช่วงๆและมานำเสนอผลงานภาพถ่าย   ดังนั้นในผลงานของ มานิต ช่วงแรกๆที่เป็นการปรากฏตัวของพิ้งค์แมน ดังกล่าวนี้   การแสดงสดมีความเด่นชัดในด้านการแสดงออกทางศิลปะในภาพถ่ายของ มานิต อยู่มากจนอาจกล่าวได้ว่าการถ่ายภาพนี้เป็นเพียงเครื่องมือในการบันทึกกิริยาอาการทางศิลปะที่ได้กระทำในที่สาธารณะเท่านั้น

และซึ่งในเวลาต่อมา มานิต ได้ให้ความสำคัญในสาระของภาพถ่ายมากขึ้นตามลำดับ จน มานิต เองได้สร้างสรรค์ผลงานชุดต่อมา ซึ่งเป็นการนำเสนอ พิ้งค์แมน โดยเน้นไปที่สาระของภาพถ่ายมากกว่าการที่จะนำเสนอ พิ้งค์แมน ในฐานะสื่อแสดงสดในที่สาธารณะและในผลงานชุดดังกล่าวคือในชื่อชุด Pink Man on tour (Thailand) พ.ศ. 2540
( ค.ศ. 1997)  

Pink Man on tour (Thailand) ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นมาในยุคสมัยที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7-8 ที่มีการมุ่งเน้นอุตสาห์กรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมองว่าแหล่งท่องเที่ยวหรือวัฒนธรรมต่างๆนั้นสามารถนำมาเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะได้เม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ  ซึ่งกระแสดังกล่าวได้สร้างการตื่นตัวในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ภายใต้ชื่อที่ถูกสร้างสรรค์ว่า Amazing Thailand

Amazing Thailand ได้สร้าง/สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย   โดยการเข้ามาของรัฐเพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ   แต่ในมุมกลับกัน การท่องเที่ยวนี้ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย   ทุกสิ่งที่เป็นวิถีชีวิต หรือ วัฒนธรรม ล้วนถูกมองว่าเป็นสินค้าทั้งสิ้น  สินค้าที่สามารถนำเงินไปแลกมาเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขที่ได้จากวัตถุทางวัฒนธรรม

Pink Man on tour (Thailand) ที่มานิตได้สร้างสรรค์ขึ้นในครั้งนี้ ภาพถ่ายถือได้ว่าเป็นกระบวนการหลักในการนำเสนอ ซึ่งแตกต่างจากผลงานในชุดก่อนๆที่มุ่งเน้นการแสดงสดในที่สาธารณะเป็นหลัก   แต่ในครั้งนี้ พิ้งค์แมน มิได้มีการแสดงสดหรือออกลีลาท่าทางมากมายแต่ประการใด  พิ้งค์แมน ได้ยืนหยุดนิ่งราวกับหุ่นที่เป็นมนุษย์  ที่ดูไร้ชีวิตชีวา ที่ถูกนำมาวางไว้ ณ สถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว   แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยต่างๆเป็นดั่ง ฉากหลังที่ถูกตัดขาดออกจากกันระหว่างตัว พิ้งค์แมน  และซึ่งการที่ พิ้งค์แมน ไม่สนใจใยดีบริบทรอบข้างนั้นอาจกล่าวได้ว่าพิ้งค์แมนเป็นดั่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยว ณ สถานที่นั้นๆ  โดยมุ่งหวังแต่เพียงจะบริโภคสินค้าที่เป็นวัฒนธรรมเหล่านี้เท่านั้น โดยมิได้เห็นถึงคุณค่าความงามที่แท้จริงที่แฝงตัวอยู่  ดังเช่นภาพผลงาน Pink Man on tour #4  (Amazing  Culture With No Soul )  ทุกสิ่งที่ปรากฏในภาพยกเว้น พิ้งค์แมน ล้วนเป็นเพียงแค่ ฉากในการถ่ายรูปเท่านั้นไม่เว้นแม้แต่อาคารสถาปัตยกรรมในรูปแบบศิลปะยุครัตนโกสินทร์

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกรอบในการมองสิ่งต่างๆของระบบทุนนิยมที่มองทุกสิ่งเป็นเพียงแค่ต้นทุนที่จะนำมาสร้างเม็ดเงินที่ไร้ชีวิตและวิญญาณ




และการปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆดังที่ได้กล่าวมานี้เปรียบดังการตั้งคำถามที่เป็นการวิพากษ์/วิจารณ์สังคมในขณะเดียวกัน   ซึ่งการวิพากษ์/วิจารณ์ก็คงหนีไม่พ้นนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกๆภาคส่วนในประเทศไทย

บทสรุปของคำถามต่างๆนานาที่ มานิต มีต่อสังคมนั้นปรากฏเด่นชัดเมื่อ พิ้งค์แมน ปรากฏตัวอยู่ ณ ท้องนาสุดลูกหูลูกตาในภาคเหนือของประเทศไทย ที่ดูคล้ายๆกับว่า พิ้งค์แมน จะมาซื้อข้าวหรือจะมาซื้อที่นา !

และนี่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของบุรุษสวมสูทสีชมพูที่เมื่อปรากฏกายที่ไหนก็จะต้องมีคำถามต่างๆนานาที่เกี่ยวโยงกับความเป็นไปของสังคมตามมาในขณะเดียวกัน   และการเดินทางของ พิ้งค์แมน เองก็ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดอยู่เพียงแค่ประเทศไทย พิ้งค์แมน ได้เดินทางไปสู่ดินแดนอาทิตย์อัสดง(ตะวันตก)  ในผลงานชื่อชุด Pink Man on tour (Europe)  ในปี พ.ศ. 2543-2546 ( ค.ศ. 2000-2003 )  

การตั้งคำถามต่อโครงสร้างของทุนนิยมของมานิตนั้นมิได้หยุดอยู่เพียงแค่ประเทศไทยพิ้งค์แมน ได้เดินทางไปยังประเทศยุโรปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆด้วยสีหน้าที่เย็นชา ไม่รู้สึกสนุกสนานใดๆ   การเดินตามท้องถนนในประเทศยุโรปพร้อมกับการเข็นรถเข็นซุปเปอร์มาร์เก็ตสีชมพูนั้นเปรียบดั่งการไปเยือนประเทศที่เป็นแม่แบบของระบบทุนนิยมที่กลืนกินสังคมไปสู่สภาวะของการบริโภคนิยมอย่างเต็มกำลัง    การเดินตามท้องถนนของ พิ้งค์แมน ในประเทศแถบยุโรปนี้ มานิต ยังคงใช้สื่อทางศิลปะระหว่างการแสดงสด กับสาระของภาพถ่ายที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัว   ที่ดูราวกับว่าภาพถ่ายของมานิตนั้นเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวต่างๆของคำถามที่มีการแสดงออกผ่านบุรุษสมมุติที่ชื่อ      พิ้งค์แมน   และที่กล่าวมาคือการตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดูเหมือนว่าจะตอบรับกระแสของระบบทุนนิยมที่มีการบริโภคกันจนเกินความพอดี   ซึ่งระบบโครงสร้างของทุนนิยมได้ทำให้โลกของเราทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านความเป็นอยู่ สภาพสังคม หรือ คุณค่าทางจิตใจที่พร้อมเพรียงกันตกต่ำลงซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกที่หันหน้าเข้าหาระบบทุนนิยมที่เกินพอดี


ในเวลาต่อมา พิ้งค์แมน ก็ได้เป็นผู้ที่ทำการทบทวนเรื่องราวต่างๆในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย    ภายใต้ผลงาน Horror in Pink ปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001)  ผลงานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อครั้ง 6 ตุลาคม 2519  กลับมานำเสนอใหม่โดยมี พิ้งค์แมน ที่เป็นตัวละครที่ดูเหมือนจะสร้างอารมณ์เสียดสีในภาพได้เป็นอย่างดี   ใบหน้าที่แฝงด้วยรอยยิ้มที่ไม่สะทกสะท้านต่อความรุนแรงที่ปรากฏนี้  ทำให้เรามีความอยากทราบความจริงในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งที่ความเป็นจริงเหตุการณ์ครั้งนั้นมันก็ได้ผ่านเวลามาเนิ่นนานจนอาจทำให้ใครบางคนหลงลืมไปว่าเหตุการณ์นั้นมีคนตายกี่คน !


และก็เช่นเคย พิ้งค์แมน ที่เป็นดั่งตัวแทนของมนุษย์ที่อยู่ในโลกของทุนนิยม ที่จะไม่สนใจใยดีกับเหตุการณ์ต่างๆที่ปรากฏ  และพร้อมที่จะมอบรอยยิ้มราวกับปีศาจที่แสนจะโหดร้ายโดยที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ

การปรากฏตัวของพิ้งค์แมนที่ซ้อนทับกับภาพเหตุการณ์ทางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า มานิต นั้นเป็นผู้ที่ไม่ปล่อยให้ความจริงถูกบิดเบือนจากคำพูดของใครบางคนหรือให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

และในช่วงเวลาต่อมาประเทศไทยก็ได้ประสบปัญหาว่าด้วยการบิดเบือนความจริงต่างๆนานามากมายทั้งการบิดเบือนความจริงจากผู้นำระดับประเทศ  หรือจะเป็นการบิดเบือนความจริงจากสื่อ   ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารประเทศของผู้นำ   และรัฐบาลในขณะนั้นคือชุดรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้   ในช่วงเวลาต่อมาประเทศไทยก็เกิดภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลไปสู่การชุมนุมเรียกร้องต่างๆมากมาย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล

และด้วยเหตุของเรื่องราวต่างๆที่ยังคงวนเวียนในสังคมการเมืองไทยนี้เอง  ทำให้เกิดกระแสของการหวงแหนประเทศชาติไทยเกิดขึ้นมา  หรืออาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ได้ปลุกกระแสของการรักชาติแบบชาตินิยมขึ้นมาอีกครั้ง  

อีกเช่นเคย มานิต ก็ได้มีการตั้งคำถามต่อกระแสต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยผลงานในชุดต่อมาคือ  Pink, White & Blue # 1-3   ซึ่งในผลงานนี้ก็ได้ปรากฏ พิ้งค์แมน ที่สวมชุดสีชมพู ที่แสดงอากัปกิริยารักชาติอย่าง ซาบซึ้งเป็นอย่างมาก  โดยแสดงออกผ่านท่าทางและสีหน้า ที่ดูออกจะ “in” จนเกินจริง   การรักชาติของ พิ้งค์แมน นี้อาจเต็มไปด้วยการรักชาติแบบตามกระแสนิยมที่คนในชาติกำลังโหยหากัน  ที่มีแต่ภาพลักษณ์ของการแสดงออก แต่ไร้ซึ่งความ รักชาติอย่างแท้จริง   และในการแสดงออกของ พิ้งค์แมน ก็ดูจะเป็นอย่างนั้น  พิ้งค์แมน แสดงสีหน้า ท่าทาง ที่แสดงออกถึงการรักชาติได้อย่าง ฉาบฉวยซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งที่ พิ้งค์แมน จะเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยในยุคสมัยนี้     

และ มานิต เองก็ยังมีการแสดงทัศนคติของกระแสการรักชาติที่มีระบบการปลูกฝังด้วยการศึกษา Pink, White & Blue # 4-6   ภาพ พิ้งค์แมน นั่งอยู่บนเก้าอี้สวยหรูที่กำลังปิดตาเด็กน้อย  นักเรียนสวมใส่ชุดลูกเสือที่ในมือถือธงชาตินั้นเป็นการแสดงออกถึงเรื่องราวการศึกษาไทยที่กำลังปลูกฝังการรักชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตาในการพิจารณาความจริง

ทั้งนี้มานิต อาจมองการศึกษาของเด็กไทยว่าเป็นการศึกษาที่ไม่ได้ฝึกให้คิด หากเพียงแต่ศึกษากันไปตามระบบการสอนที่เมื่อ ครู/อาจารย์ว่าอย่างไร เราก็ว่าตามๆกัน  และเด็กนักเรียนทั้งหลายที่ปรากฏในภาพผลงานของ มานิต นั้นอาจอุปมาได้ว่าเป็นผู้คนในสังคมไทยที่อยู่ในช่วงเวลานี้ที่คลั่งไคล้กระแสของการรักชาติอย่างไร้เดียงสา

ผลงานมานิตในชุด Pink, White & Blue นี้กล่าวได้ว่าเป็นบทบันทึกหน้าหนึ่งใน ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของไทยที่ถูกจารึกด้วยศิลปะพร้อมกับการตั้งคำถามที่ว่าด้วยความจริงในสังคมที่ปรากฏอยู่นั้นมันคือความจริงหรือ ?

ในช่วงเวลาต่อมาสังคมไทยก็ได้ทวีความขัดแย้งมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีเหตุมาจากการการบริหารประเทศของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร  สังคมไทยได้แบ่งแยกเป็นสองขั้วหรือสองสีอย่างเด่นชัด  ซึ่งทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะของการมีเรื่องราวที่ไม่ปกติเรื่อยมา  ทั้งการชุมนุมขับไล่หรือสนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จนถึงการทำ รัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

และเรื่องราวมากมายในสังคมไทยที่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้ถูกนำเสนอผ่านผลงานของ มานิต ในชุดต่อมาที่ชื่อว่า Pink Man Opera  ปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009)

Pink Man Opera เป็นการนำเสนอเรื่องราวทางสังคมที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องราวทางการเมือง โดยครั้งนี้ มานิต หยิบยืมภาพลักษณ์การแสดงลิเกมาเป็นสื่อที่ช่วยนำเสนอเรื่องราว และเหตุที่นำภาพลักษณ์ของลิเกมานำเสนอนั้นอาจเป็นเพราะลิเกมีการนำเสนอเรื่องราวท่าทางการแสดงที่ เกินจริงจนทำให้เกิดความน่าหลงใหลและติดตาม   ทั้งนี้ พิ้งค์แมน ก็ได้แสดงเป็นตัวละครหลักอีกเช่นเคยแต่ครั้งนี้ พิ้งค์แมน ได้สวมบทบาทราวกับเป็นผู้นำตามท้องเรื่อง (หรือเป็น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตามความเป็นจริงในสังคม)  

ในทุกๆภาพผลงานชุด Pink Man Opera นี้ล้วนมีการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  และถ้าใครได้ติดตามหรือสนใจในปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ได้ขึ้นในสังคมไทยนั้นก็คงจะรับทราบเนื้อหาใจความ/เรื่องราวที่แฝงอยู่ในแต่ละภาพได้เป็นอย่างดี    เช่นในภาพผลงาน Pink Man Opera #3 ที่ดูเหมือนว่า พิ้งค์แมน จะทำการฟ้องตัวละครที่มีอำนาจให้จัดการกับฝ่ายตรงข้าม  ซึ่งภาพนี้อาจอุปมาได้ถึงเรื่องราวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่จ้องจะฟ้องประเทศมหาอำนาจว่าตนเองนั้นโดนกลั่นแกล้งทางการเมืองในประเทศไทย

หรือไม่ก็ภาพผลงาน Pink Man Opera #7  ที่มีตัวละครตามท้องเรื่องแบ่งเป็นสองฝ่ายและกำลังจะต่อสู้ ห้ำหั่นด้วยอาวุธและความรุนแรง และมี พิ้งค์แมน ปรากฏเบื้องหลัง  จากภาพนี้คงคาดเดาได้ไม่ยากในเรื่องราวของความจริงในสังคม การต่อสู้ของสองฝ่ายนี้เปรียบได้กับการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  อยู่เบื้องหลังที่คอยดู/สังเกตการณ์ หรือบงการ   ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในภาพล้วนเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่สามารถชี้นำผู้ชมให้เข้าใจเรื่องราวได้อย่างไม่อยาก  เช่น ลองสังเกตผ้าพันคอของผู้แสดงที่อยู่ในภาพว่าเป็นสีอะไร ? 

และที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงบางตัวอย่างในผลงานชุด Pink Man Opera  ที่ในทุกๆภาพนั้นมีที่มาที่ไปของเรื่องราวทางสังคมแฝงอยู่ 

และ Pink Man Opera ก็ถือได้ว่าเป็นฉากส่งท้ายที่ไม่ใช่ฉากจบของมหากาพย์การเมืองไทยที่ดูเหมือนว่าจะหาจุดจบที่สวยงามอย่างยากลำบาก

แต่ในขณะเดียวกันการทำงานศิลปะที่เป็นภาพถ่ายของ มานิต ก็มิได้มีเพียงภาพถ่ายที่ปรากฏบุรุษสมมุติอย่าง พิ้งค์แมน เพียงเท่านั้น   ในปี พ.ศ. 2540 ( ค.ศ. 1997) ซึ่งก็เป็นปีที่ใกล้เคียงกับการปรากฏตัวของ พิ้งค์แมน  มานิต ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า
This Bloodless War  ซึ่งเป็นผลงานภาพถ่ายขาว-ดำ ที่มีเนื้อหา เรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมที่เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งส่งผลให้กระแสทุนนิยมที่เข้ามาพร้อมๆกับวัตถุนิยมหลั่งไหลเข้ามาทำลายผู้คนในสังคมไทย   และในผลงาน This Bloodless War  มานิต ได้สร้างสถานการณ์จำลองของผู้คนในสังคมว่าได้รับผลกระทบจากภาวะทุนนิยมที่ทำให้เกิดการบ้าคลั่งวัตถุจนไม่สามารถควบคุมสติไว้ได้   ซึ่งในภาพผลงาน มานิต ได้นำเสนอผลลัพธ์/ผลกระทบไว้อย่างชัดเจน เช่นในภาพผลงาน This Bloodless War # 4  ที่มีผู้คนทั้งชาย หญิง พากันล้มตายหรือสิ้นสติอยู่บนสะพานลอยเขตย่านธุรกิจ ที่ในมือนั้นปรากฏถุงใส่สิ้นค้าของร้านค้าแบรนด์เนมชื่อดัง  ซึ่งในภาพผลงานนั้นดูราวกับตอนจบของโศกนาฏกรรมที่ไม่เคยสร้างให้มีตอนจบที่สวยงาม

และมีภาพผลงานที่มีความน่าสนใจในเรื่องการนำภาพประวัติศาสตร์การขัดแย้งอย่างสุดโต่งระหว่างประชาธิปไตยแบบเสรีกับระบบสังคมนิยมในอดีตมาซ้อนทับกับสภาวะสังคมในปัจจุบัน    This Bloodless War # 2  ซึ่งเป็นภาพที่มีชายสวมใส่เสื้อที่ดูคล้ายๆกับนักธุรกิจที่ในมือถือปืนและพร้อมที่จะยิงคนที่ถูกมัดมือ  ที่ดูจากการแต่งตัวแล้วก็เป็นเพียงแค่คนชนชั้นธรรมดา   และภาพนี้เองอาจทำให้เรานึกย้อนไปถึงภาพประวัติศาสตร์ความรุนแรงของสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม  ที่มีพลจัตวา เหงียน ง็อก โลน  อธิบดีกรมตำรวจเวียดนามใต้ สังหารประชาชนที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเวียดกง(เวียดนามเหนือ) ใจกลางกรุงไซ่ง่อน


และในปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006 ) มานิตก็ได้สร้างสรรค์ภาพถ่ายที่เป็นภาพสะท้อนเรื่องราวทางสังคม โดย มานิต มีการนำเสนอภาพถ่ายที่เป็นภาพถ่ายจากสถานการณ์จริงที่เกิดในสังคม โดยที่  มานิต มิได้ปรุงแต่งให้มีรสชาติหรือสีสันมากมายเหมือนกับผลงานชุด This Bloodless War แต่ประการใด   ซึ่ง มานิต เองก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงมานำเสนอในผลงานภาพถ่าย  ซึ่งทำให้ภาพถ่ายของ มานิต ล้วนปรากฏความจริงทางสังคมที่มาพร้อมกับเรื่องราวต่างๆที่แอบแฝงอยู่ 

แต่ความจริงที่ปรากฏในผลงานภาพถ่ายของ มานิต นั้น มันเป็นความจริงที่แสนจะเปราะบางที่มีบางสิ่งฉาบหน้าไว้อย่างสวยงาม หรือกล่าวกันอย่างง่ายๆคือ ในผลงานภาพถ่ายของ มานิต นั้นมีความจริงที่ยิ่งกว่า การเห็นซ้อนอยู่เบื้องหลัง

และความจริงของเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองเรานั้น ได้ถูก มานิต หยิบยกมาพูดในผลงานภาพถ่ายชื่อชุดว่า Liberators of the Nation ปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ.2006) ซึ่งเหตุการณ์ในภาพเป็นเหตุการณ์การชุมนุมกลุ่มพันธมิตรที่ต้องการจะขับไล่รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร  เหตุสืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุดดังกล่าวมีการทุจริต /คอรัปชั่น กรณีซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์เปอเรชั่น มูลค่าสูงถึง 73,271,200,910 บาท โดยมีการแก้กฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรจากการขาย และประกอบกับกรณีอื่นๆที่ไม่ชอบธรรมอีกมากมาย 

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชนที่ต้องการจะขับไล่ ผู้นำรัฐบาล  โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภายใต้การนำของ
สนธิ ลิ้มทองกุล  เหตุการณ์การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ประกอบกับวิธีการในการประท้วงล้วนมีสีสันและมีความคิดสร้างสรรค์อย่างมากมาย  คล้ายกับว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการบันเทิงมากกว่าเป็นการมาชุมนุมเรียกร้องขับไล่รัฐบาล     มานิต ได้ถ่ายภาพผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมที่พากับออกมาแต่งแต้มร่างกายเพื่อการแสดงออกถึงการรักและหวงแหนประเทศชาติอย่างสนุกสนาน  และพร้อมกับภาพถ่ายใบหน้าผู้คนที่เข้าร่วมชุมนุมที่มีการแสดงออกอย่างยิ้มแย้ม แจ่มใส บางคนถึงกับหอบลูกจูงหลานกันมา ซึ่งภาพเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ากระแสของการรักชาติยังไม่สิ้นหายไปจากสังคมไทย   และภาพผลงานชุดดังกล่าวก็เป็นบทบันทึกที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าด้วยพลังในการขับไล่รัฐบาลที่เป็นไปอย่างสันติ  จนได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องจดจำไปอีกนาน

การชุมนุมขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มพันธมิตรนั้นได้สิ้นสุดลงในวันที่รถถังและทหารปรากฏกายตามท้องถนน    ในวันที่ 19 กันยายน 2549 การทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีหัวหน้าคณะการทำรัฐประหารคือ พล.อ สนธิ  บุญยรัตกลิน  ได้เข้าทำการยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  และได้จัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2550  ซึ่งเหตุการณ์รัฐประหารในครั้งนั้นได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจกล่าวคือ   การทำรัฐประหารในครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อหรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บแม้เพียงคนเดียว  กระสุนปืนต่างๆที่มาพร้อมกับอาวุธมิได้ออกจากปากกระบอกปืนแต่อย่างใด   หากแต่กลับกัน ยังเกิดภาพการมอบดอกไม้และรอยยิ้มให้แก่เหล่าทหารที่ออกมาทำการรัฐประหาร และยังมีประชาชนทำการถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

ในผลงานชื่อ Coup D’e’tat Photo OP ปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) คือผลงานภาพถ่ายที่เหล่าบรรดาประชาชน นักท่องเที่ยวพากันยืนถ่ายภาพเคียงข้างกับรถถังและทหาร ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า    ที่พร้อมกับมอบดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เหล่าทหารที่ออกมาทำการรัฐประหารรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และดอกไม้ช่องามที่วางอยู่ตามรถถังนั้นล้วนแสดงให้เห็นถึงความยินดีในการทำรัฐประหารทั้งสิ้น   และภาพที่ มานิต ได้ถ่ายทอดออกมานั้นก็เป็นภาพที่เป็นสถานการณ์ที่มีผู้คนแห่เข้าไปแสดงความยินดีหรือเป็นกำลังใจ  ในสิ่งที่ มานิต พยายามกำลังจะเสนอนี้คือการเน้นย้ำว่าการทำรัฐประหารในครั้งนี้มิได้มีความรุนแรงประการใด  แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏในภาพของ มานิต คือคำถามที่ว่า การทำรัฐประหารในครั้งนี้จะไม่มีหรือไม่นำพามาซึ่งความรุนแรงจริงหรือ ? 

และในคำถามนี้คำตอบอาจปรากฏให้เห็นเมื่อครั้งเหตุการณ์นองเลือดที่ผ่านมาเร็วๆนี้ในสังคมไทย

และเช่นเคยภาพถ่ายของมานิตนั้นมิได้ปรากฏเรื่องราวต่างๆตามตาเห็น หากแต่เป็นการปรากฏเงารางๆของความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง

หลังจากการทำรัฐประหารสภาพบ้านเมืองก็กลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง  ตามท้องถนนก็ปราศจากกลุ่มผู้ชุมนุม  และภายหลังจากการทำรัฐประหารไม่นานก็ถึงวันที่ประชาชนชาวไทยเฝ้ารอ   วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีคือวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 9   และในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 นี้เป็นนับเป็นวันที่ครบรอบการครองราชย์ปีที่ 60 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ซึ่งเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก  และในวันนั้นเองชาวไทยก็ได้พร้อมใจกันใส่เสื้อเหลือง(สีประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการครองราชย์ปีที่ 60 และเพื่อการรับเสด็จ    ซึ่งภาพในวันนั้นล้วนเป็นภาพที่น่าจำจดยิ่งนัก   ผู้คนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลืองพากันออกมารอรับเสด็จกันตามท้องถนนตามเส้นทางพระราชวังจนสุดถึงพระบรมมหาราชวัง และเหตุการณ์ครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นศูนย์กลางดวงใจของประชาชนชาวไทยที่มีการยอมรับกันอย่างแท้จริง

และซึ่ง มานิต เองก็ไม่พลาดที่จะเก็บภาพปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย ในชื่อผลงาน Waiting for the King ปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006)   และในมุมที่ มานิต เลือกมานำเสนอนั้น กลับเป็นมุมมองที่แตกต่างออกไปจากการบันทึกภาพเพื่อเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์    มานิต ได้เลือกมุมมองของผู้คนในขณะรอรับเสด็จที่อยู่ตามข้างทางท้องถนน  ผู้คนชาวไทยหลากหลายที่มาพากันเฝ้ารอการเสด็จของ
พระเจ้าอยู่หัวกันอย่างเนืองแน่น บางคนมีรอยยิ้ม  บางคนหน้าตาเรียบเฉย  บางคนแสดงอาการเหนื่อยล้าของการรอ  แต่ถึงอย่างไรเป้าหมายของผู้คนที่มา ณ ที่ตรงนี้ก็เป็นเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการที่จะรอรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในภาพถ่ายของ มานิต ชุด Waiting for the King นั้นเป็นการนำเสนอภาษาของภาพถ่ายที่แฝงมาด้วยสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกเรื่องราวที่ซ่อนเร้นอยู่มากมาย  ทั้งเรื่องราวของความจริงที่ปรากฏและความเป็นจริงที่มิได้ปรากฏ

นับได้ว่าผลงานทั้งสามชุดที่ได้กล่าวมานี้(Liberators of the Nation, Coup D’e’tat Photo OP ,และ Waiting for the King )  ล้วนเกิดขึ้นในสถานการณ์บ้านเมืองในเวลาใกล้เคียงกันและมีความคล้องจองกันในเหตุการณ์เป็นอย่างมาก  และที่สำคัญในผลงานของ มานิต ทั้งสามชุดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการบันทึกความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มาพร้อมๆกับภาพของสัญลักษณ์บางอย่างที่แอบแฝงอยู่อย่างเลือนราง

และการปิดท้ายผลงานใน นิทรรศการของมานิต  ศรีวานิชภูมิ ในครั้งนี้ได้สร้างความ
ท้าทายต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไว้อย่างดีเยี่ยม  ภาพเด็กน้อยที่ถูกมัดมือและเท้านอนคว่ำอยู่บนผ้าสีต่างๆนี้  ปรากฏในภาพผลงานที่ชื่อว่า  Embryonia  ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007)  เด็กน้อยที่ถูกพันธนาการ นอนคว่ำหน้าอยู่บนผ้า สีแดง สีขาว และสีน้ำเงินนี้ แสดงให้เห็นราวกับว่าประชาชน/เยาวชนที่ไร้เดียงสา กำลังถูกบังคับให้ยินยอมพร้อมรับชะตากรรมในการสั่งสอนของผู้นำที่ชี้นำให้พวกเขาและเธอเหล่านั้นมีความจงรักภักดีต่อชาติ   ภาพที่ปรากฏนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวังของประเทศชาติ  แต่ในขณะเดียวกันภาวะของการสิ้นหวังนี้กลับได้มาซึ่งการสร้างชาติด้วยกระแสชาตินิยมใหม่อีครั้งก็เป็นได้

ภาพเด็กน้อยที่ถูกมัดมือและเท้านอนคว่ำอยู่บนผ้าสีต่างๆนี้ มานิต ได้หยิบยืมเรื่องราวภาพประวัติศาสตร์เมื่อครั้งอดีตมานำเสนอใหม่อีกครั้ง  ซึ่งภาพนี้มีที่มาจากภาพสีน้ำมันที่ชื่อว่า Agnus Dei  ของ Francisco de Zurbaran ( 1598-1664 )  ที่ในภาพมีแกะสีขาวที่เท้าถูกมัด นอนลงอยู่บนแท่นบูชา  สายตาสลดใจราวกับว่ายอมรับชะตากรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตน  และภาพนี้ก็เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมในยุคสมัยหนึ่งที่เกิดภาวะการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งนำมาซึ่งสงคราม  และแกะในภาพนี้อาจเปรียบได้ดั่งประชาชนที่กำลังตกอยู่ภายใต้พันธนาการทางสังคม ที่ไม่มีทางดิ้นหลุด

ในผลงาน Embryonia ของ มานิต นั้นเป็นการนำภาพเมื่ออดีตที่สามารถบ่งบอกเรื่องราวความเป็นไปของสังคมในยุคสมัยหนึ่งมาซ้อนทับกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้    ทั้งนี้ในผลงานของมานิตนั้นล้วนแล้วแต่มีความจริงทางสังคมปรากฏอยู่ทั้งสิ้น โดยความจริงที่ปรากฏอยู่นี้อาจเป็นความจริงที่เราเองไม่อย่างที่จะเชื่อว่ามันเป็นจริงก็ได้

ฉะนั้นความจริงในผลงานของมานิต จึงเป็นความจริงทางสังคมที่บางและเบาจนเปราะบาง  จนใครหลายๆคนเลือกที่จะมองข้ามความจริงเหล่านั้นให้ผ่านไปก็เป็นได้

และท้ายสุดนี้ นิทรรศการ  ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต  ศรีวานิชภูมิ  ที่ปรากฏอยู่ ณ แกลเลอรี่ g23  แห่งนี้ ก็เป็นดั่งจารึกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทย ที่ มานิต ได้เขียนบทบันทึกไว้ด้วยผลงานศิลปะภาพถ่ายที่ได้มาซึ่งความจริงทางสังคมที่ยังคงซ่อนเร้นเพื่อให้เราค้นหา



 กฤษฎา  ดุษฎีวนิช

ไม่มีความคิดเห็น:

เกี่ยวกับฉัน