วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ต้นศิลปะ : กับความใหญ่และโตของคำว่า “ปรมาจารย์ทางศิลปะ”


ตันศิลปะ : กับความใหญ่และโตของคำว่า ปรมาจารย์ทางศิลปะ


จากกระแสรายการโทรทัศน์ที่มีลักษณะของ เรียลลิตี้โชว์ ที่เข้ามาบนสื่อที่เป็นโทรทัศน์ในบ้านเรา จนทำให้เกิดกระแสของการ จับจ้อง/เฝ้ามองกริยาอาการของชาวบ้านที่เต็มใจนำเสนอให้ชมกันในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกระแสรายการโทรทัศน์ที่ได้กล่าวมานี้ได้ลามปามเข้าสู่วงการศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา ซึ่งทำให้รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้คิดริเริ่มนำความเป็น เรียลลิตี้โชว์ มาผนวกกันการแสดงออกทางศิลปะโดยมุ่งประเด็นไปที่การสร้างศิลปินรุ่นใหม่โดยให้เป็นทายาท(อสูร)จากศิลปินรุ่นเก่า ซึ่งรายการนี้มีชื่อที่ไพเราะว่า ต้นศิลปะโดยรายการนี้มีเนื้อหาสาระของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่มีการสร้างศิลปินรุ่นใหม่ที่มีแววในการคิดสร้างสรรค์กลุ่มหนึ่งมาเก็บตัวและแสดงฝีไม้ลายมือทางศิลปะกันในรายการ

ซึ่งในรายการนี้จะเป็นไปในลักษณะของการที่นำศิลปินแรกรุ่นมารวมตัว/เก็บตัว ฝึกซ่อมตามสถานที่ต่างๆ โดยมีศิลปินรุ่นใหญ่(ประเทศไทย)เป็นกรรมการ คอยให้คะแนนจากผลงานทางความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินแรกรุ่นกลุ่มนี้ และในแต่ละสัปดาห์ศิลปินแรกรุ่น(รุ่นใหม่)ก็ได้สลับสับเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปตามโจทย์ของรายการหรือคณะกรรมกราที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ได้ให้โจทย์ไว้ โดยอาจจะเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบ 3 มิติ 2มิติ ภาพถ่าย หรือศิลปะแสดงสด ผลลัพธ์ที่ไดแต่ละสัปดาห์ก็คือผลงานศิลปะและคะแนนที่นำมาเก็บสะสมเพื่อหาสุดยอด หรือผู้ชนะท้ายสุดของรายการนี้ โดยผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียวที่จะได้เกรียติยศ และศักดิ์ศรีของผู้ชนะซึ่งจะเป็นต้นไม้ทางศิลปะที่ยืนต้นสืบต่อไปพร้อมเงินรางวัล

และเมื่อข้าพเจ้าชมรายการแล้วนั้น ก็ได้พบพลังของการสร้างสรรค์ของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่เต็มไปด้วยความน่าสนใจที่มีความสด/ใหม่ และไฟทางศิลปะ แต่กระนั้นสิ่งที่ได้ควบคู่มากับความน่าสนใจของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่นี้คือคำถาม”?

คำถามที่ว่าคณะกรรมการที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ที่เป็นดาว(ค้างฟ้า) นี้มีมุมมองต่อการสร้างสรรค์ศิลปะในมุมไหนหรือทิศทางใดและมีเกณฑ์ในการตัดสิน ประเมินค่าผลงานศิลปะที่ปรากฏในรายการนี้อย่างไร เพราะในรายการนี้มีการให้คะแนน และแสดงความคิดเห็นของคณะกรรมการในเชิงวิจารณ์กันออกมาอย่างทะล่ม ทะลาย และการวิจารณ์ที่เกิดขึ้นในรายการนั้นก็เป็นการวิจารณ์โดยใช้รสนิยมส่วนตัวหรือความเป็นปัจเจกของศิลปินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผลงานศิลปะที่ได้ออกมานั้นเป็นไปในทิศทาง ตามน้ำ หรือเอนเอียงไปตามความคิดเห็นของคณะกรรมการ (อาจคล้ายกับวงการประกวดศิลปกรรมแห่งโน่น นี่ ในบ้านเรา) โดยในรายการก็มีการให้ศิลปินมาพูดหลังจากโดนวิจารณ์มา และส่วนใหญ่ก็พูดออกมาประมาณว่า เป็นความคิดเห็นที่กระผม/ดิฉันจะนำไปแก้ไขปรับปรุง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ถือว่าเป็นการดีที่ศิลปินยอมรับทัศนะอื่นๆ(ผู้อื่น)ที่เป็นการวิจารณ์ แต่ผู้อื่นในที่นี้เป็นบุคคลที่ทำงานศิลปะที่มีรสนิยม/อัตลักษณ์ที่มีความเป็นเฉพาะตัวทั้งสิ้น ซึ่งการรับความคิดเห็นจากการทดลองการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบนี้ควรจะ รับฟัง เสียงที่ได้มาจากมหาชนเพื่อที่จะส่งผลต่อการพัฒนาการ ของการสร้างสรรค์ผลงานของตนอย่างแท้จริง

ฉะนั้นแล้วความคิดเห็นของคณะกรรมการก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากการโดนวิจารณ์ผลงานในชั้นเรียน ซึ่งต้องแก้ไข ปรับปรุงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานศิลปะที่สมบรูณ์ในแบบแผนหรือวงเวียนของรสนิยมที่มีมาอยู่ก่อนหน้า จนทำให้การสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินที่กำลังจะเกิดใหม่นี้ ยังคงวนเวียนอยู่ในห่วงโซ่ หรือรอยเท้าของศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีการเดินทางมาก่อนหน้า และยังคงเป็นดาวค้างฟ้าในสังคมศิลปะร่วมสมัยไทยในปัจจุบัน

และด้วยความคิดเห็นของคณะกรรมการที่เกิดขึ้นในรายการนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นความคิดเห็นอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งควรมีความคิดเห็นจากบุคคลอื่นที่สามารถทำให้ศิลปะนั้นได้ขยาย/กระจายตัวออกสู่สังคมความเป็นจริง ศิลปะมิใช่เป็นเพียงภาษาที่มีความเป็นเฉพาะที่อยู่ในวงแคบๆ แต่ศิลปะนั้นมันคือภาษาที่เต็มไปด้วยอิสรภาพ/เสรีภาพในการรับรู้ ถึงแม้การรับรู้นั้นจะปราศจากความเข้าใจ แต่ถ้าการรับรู้นั้นได้เข้าไปถึงในสิ่งที่เรียกว่า ความงาม แล้วนั้นความเข้าใจก็เป็นเพียงส่วนเติมเต็มให้ศิลปะมีความหมายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

และอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าดูรายการนี้แล้วเกิดความรู้สึกว่า น่ารำคาญ ในการรับชม คือเสียงบรรยายของผู้ดำเนินรายการที่มีการใช้คำศัพท์เรียกคณะกรรมการที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่นี้ว่า ปรมาจารย์ทางศิลปะ ซึ่งคำๆนี้ฟังแล้วทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ว่าศิลปินรุ่นใหม่ต่างๆนี้จะสร้างสรรค์งานศิลปะดีเลิศ เพียงใด หรืออย่างไรก็ไปได้ไม่ไกลกว่าคณะกรรมการที่ถูกเรียกว่า ปรมาจารย์ทางศิลปะ เพราะคำๆนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสูงส่ง ความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลผู้ซึ่งเป็นศิลปินราวกับพวกเขาเป็นปรมาจารย์ทางเจ้าสำนัก ที่มีลูกศิษย์สืบทอดวิชาความรู้ของตนและไม่มีทางที่จะเอาชนะอาจารย์ของตนได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นวงการศิลปะในประเทศไทยก็จะอยู่ในร่มเงาของคนก่อนหน้า ซึ่งอาจทำให้พัฒนาการทางศิลปะที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ หรืออาจเป็นเหตุนี้ที่ทำให้วงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยมีกลิ่นอายที่คุ่นชิน เหมือนกับเคยเห็นและผ่านตามาตามผลงานของคนรุ่นก่อน

ฉะนั้นคำว่าปรมาจารย์ทางศิลปะ ตามทัศนะของข้าพเจ้าแล้วนั้นไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาเรียกคณะกรรมการเหล่านี้ เพราะอาจทำให้เกิดกำแพงในการเข้าถึงความรู้ และกำแพงที่กั้นกลางการแสวงหาความรู้ของเหล่าบรรดาศิลปินที่กำลังจะเกิดใหม่ ที่รอเข้าไปท้าทายและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความใหม่ให้ก้าวทันกระแสความเป็นศิลปะที่มีพัฒนาการควบคู่ไปกับสังคม(โลก)

ท้ายที่สุดนี้ขอฝากไว้ว่า ถ้ายังมีคำว่าปรมาจารย์ทางศิลปะ หรือในความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้น วงการศิลปะร่วมสมัยไทยก็จะผลิตศิลปินที่มีสายพันธ์/เชื้อสายเดียวกับศิลปินก่อนหน้า และอาจไม่ส่งผลดีกับวงการศิลปะร่วมสมัยไทย

หรืออาจทางแก้มีเพียงทางเดียวคือ ศิษย์ต้องมีความคิดที่จะต้องล้างครู เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ทางศิลปะ

กฤษฎา ดุษฎีวนิช

(บทความชิ้นนี้เขียนขณะที่รายการต้นศิลปะกำลังออกอากาศอยู่)

ไม่มีความคิดเห็น:

เกี่ยวกับฉัน