
ภาพประกอบของสันดาน(คนปกติ)กับคำว่า “สันดาน” ที่แท้จริงของจิตรกรรม
คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า เราเป็นคนดีหรือเป็นคนปกติหรือเปล่า ? หรือตัวตนที่แท้จริงของเรานั้นเป็นอย่างไร ? ทั้งๆ ที่ภาพภายนอก/ภาพพจน์นั้น เราเองก็ดูเหมือนๆ กับผู้คนทั่วไปในสังคมที่มีกรอบและแบบแผนของคนที่เรียกกันว่าปกติ คำว่าปกติในที่นี้หมายความว่าเป็นคนที่สามารถเข้ากับสังคมได้ ไม่แปลกแยก ไม่มีภาวะของการแสดงออกความผิดปกติทางจิตหรือการกระทำที่รุนแรง ที่สามารถดึงเราออกจากสังคมที่มีการนิยามว่าคนปกติ
การที่เรามองตัวเองและแสดงตนว่าเราเป็นคนปกติ มันไม่ใช่เรื่องแปลกของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม ที่มีความต้องการทางสังคมโดยการปฏิสัมพันธ์ติดต่อสื่อสาร ความเป็นปกติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาพพจน์ภายนอก แต่ในมุมกลับกัน ความเป็นปกตินี้ก็ได้สร้างสิ่งที่สะท้อนขึ้นมาภายในจิตใจ สั่งสมและอยากที่จะแสดงออก เนื่องด้วยภาวะของภาระทางสังคมที่เป็นอยู่ แรงกดดัน ความรุนแรง ความหยาบของยุคสมัย(ใหม่)ที่มุ่งประโยชน์แต่ส่วนตัว สิ่งต่างๆ มากมายเหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดปรากฏการณ์ด้านมืดในจิตใจที่เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากสังคม ทั้งหมดนี้ล้วนได้เกิดขึ้นแล้วภายในตัวเรา มันไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นและแอบแฝงอยู่ภายในจิตใจได้ตลอดเวลา ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ปรากฏการณ์ต่างๆ นี้ได้แสดงตนอย่างถูกที่ถูกทาง
บางคนเลือกที่จะเก็บและเลือกที่จะไม่แสดงออกเนื่องด้วยไม่ต้องการที่จะเปิดเผยความจริงที่ซ่อนไว้ใดๆ แต่อย่างที่กล่าวมาเราไม่สามารถเก็บงำความมืดหม่นหรือด้านมืดต่างๆ ไว้ได้นาน ท้ายที่สุดก็มีการเปิดเผยออกมาไม่ว่าจะเป็นอาการนิ่งเงียบ ซึมเศร้า หรือความรุนแรง ท้ายที่สุดก็ต้องมีการระเบิดเพื่อที่จะปลดปล่อยของสิ่งปฏิกูลทางจิตใจ ฉะนั้นแล้วความสำคัญของการกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดคือจะทำอย่างไรให้มีการแสดงออกหรือปลดปล่อยออกมาโดยที่ไม่เกิดผลเสียทั้งตนเองและสังคม โดยการแสดงออกนี้ต้องอาศัยพื้นที่ที่มีความจำเพาะของการแสดงออก
พื้นที่ของการแสดงออกที่จะยกตัวอย่างในที่นี้คือ การแสดงออกผ่านทางศิลปะ ศิลปะในที่นี้เป็นพื้นที่เปิดกว้าง มีอิสระทางความคิดและการแสดงออก ซึ่งสามารถนำสิ่งที่เก็บไว้ภายใน ปรากฏรูปให้เห็นได้เป็นรูปธรรม การปรากฏรูปนี้ได้สร้างภาพแทนของจิตใจที่ถูกกดทับด้วยกรอบ หรือกฎเกณฑ์ทางสังคม ไม่ว่าจะด้านใดๆ ก็ตาม เมื่อภาพแทนจิตใจปรากฏ ตัวตนที่แท้จริงก็พร้อมที่จะเผยออกมาเช่นกัน
ผลงานศิลปะจึงเป็นพื้นที่ที่ปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงออกมาสู่โลกความเป็นจริง การปลดปล่อยนี้เป็นดั่งสมุดบันทึกที่เก็บรวมเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่แสนดีหรือความมืดหม่นที่ชั่วร้ายในจิตใจ โดยปราศจากพิษภัยทั้งตนเองและสังคม ผลงานศิลปะประเภทนี้เป็นศิลปะที่มีการสำแดงอารมณ์ภายในออกมา โดยการทำลายภาวะของการเก็บกดทางจิตใจ ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างผลงานของ ภูมิ พีชวณิชย์ ผู้ที่ทำงานศิลปะที่เป็นการระเบิดออกมาของจิตใจอีกด้านที่ถูกแฝงตัวอยู่ในชื่อชุดผลงาน “ความต้องการ” ผลงานศิลปะของภูมิเป็นผลงานวาดเส้นบนกระดาษที่แสนจะธรรมดา ด้วยเนื้อหาที่ได้นำเสนอแฝงไปด้วยสาระและสันดานตัวตนที่แท้จริง(ของมนุษย์) และยินยอมเปิดเผยออกสู่สาธารณชน เนื้อหาในผลงานเป็นเรื่องราวภายในของตัวศิลปิน ซึ่งเป็นภาวะของอีกด้าน ที่เป็นหนึ่งเดียวของตัวตนเปิดเผยออกมา โดยมิได้ปกปิดซ่อนเร้นแต่อย่างใด ส่วนมากผลงานในชุดดังกล่าวมีเนื้อหาเรื่องราวและทิศทางไปในเรื่องเพศ เรื่องราวของเพศนี้ได้ถูกนำเสนอผ่านกระบวนการของการระเบิดของจิตใจ สด และฉับไว ซึ่งปรากฏในรูปแบบและเทคนิคของการวาดเส้น การวาดเส้นของภูมิเป็นการวาดเส้นด้วยแรงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องราวของเพศและความรัก แรงปรารถนานี้ได้สร้างความน่าสนใจในตัวผลงานกล่าวคือ ความไร้ระเบียบและแบบแผนในการนำเสนอ ซึ่งมีความสด ใหม่ และสนุกสนานบนความมืดหม่นของภาวะจิตใจ ไร้ซึ่งที่มาที่ไปของเหตุและผล แต่เต็มไปด้วยจินตนาการและสันดานดิบที่แท้จริง
สันดานนี้เป็นดั่งพื้นเพของจิตในที่มีมาแต่ช้านาน ผู้คนมักจะไม่ให้ความสนใจในพื้นเพของจิตใจตนเอง พยายามเสแสร้งปั้นแต่งภาพลักษณ์ภายนอกให้ตรงข้ามกับสันดานตนเอง แต่ในความเป็นจริงนั้นพื้นเพของจิตใจหรือสันดานเราเป็นเช่นไร มันก็เป็นสิ่งที่เป็นตัวตนของเรา และยากที่จะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่และไม่มีอยู่จริง หรือถ้ายิ่งเราปฏิเสธเท่าไร สันดานที่แท้จริงก็ปรากฏเด่นชัดในทางลบเท่านั้น เช่นที่เห็นกันอยู่ในมนุษย์ที่เรียกกันว่านักการเมืองทั้งหลาย ... ไอ้สันดาน …
คำว่า “สันดาน” ในผลงานของภูมินี้ เป็นสันดานที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศที่มีฝ่ายกระทำและถูกกระทำ(ทางเพศ) โดยปรากฏให้เห็นถึงความรุนแรง น่าเกลียดชังและน่าขยะแขยง ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัวของลึงค์ที่ถูกสร้างให้เป็นหนึ่งในตัวละครเอก หรือเศษซากร่างกายมนุษย์ที่ผุพัง แต่ความเป็นชายที่กล้าหาญและเข้มแข็งยังปรากฏในชิ้นส่วนอวัยวะที่เรียกว่าลึงค์อยู่อย่างชัดเจน การปรากฏตัวของลึงค์นี้เป็นการแสดงนัยยะของการเปิดเผยของสิ่งที่แฝง หรือซ่อนเร้นภายในจิตใจ โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนทางเพศเป็นตัวผลักดัน และปลดปล่อยออกมาสู่ตัวละครเอกในภาพแบบจงใจและเต็มใจ
การปรากฏตัวของลึงค์หรืออวัยวะเพศชายดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงการเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนเร้น/ปกปิดทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม ในทางรูปธรรมนี้คือกายภาพที่เป็นอวัยวะของสงวนซึ่งสมควรอยู่ภายใต้ร่มผ้า ภายใต้พื้นที่สาธารณะ สมควรอยู่ในที่ลับภายใต้กรอบสังคมและวัฒนธรรม ในทางนามธรรมลึงค์อาจเป็นเครื่องหมายหรือสัญญะของความเป็นเพศชายเข้มแข็ง แข็งแรง ก้าวร้าว ในบางวัฒนธรรมเป็นเครื่องหมายของเทพเจ้า และเป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดสรรพสิ่งภายใต้ความเชื่อและศรัทธาในวัฒนธรรมนั้นๆ การนำเสนอลึงค์ในผลงานของภูมินี้ เป็นการปรากฏสิ่งที่เป็นสันดานของความเป็นมนุษย์ และความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ว่าด้วยเรื่อง “ความต้องการทางเพศ”
ความต้องการทางเพศนี้ เป็นความต้องการพื้นฐานในระดับล่าง ว่าด้วยการปลดปล่อยอารมณ์และแรงกดดันทางเพศ ภายใต้ช่วงเวลาที่เป็นช่วงเวลาแห่งความต้องการการเป็น“เจ้าของ” ของอีกฝ่าย การที่ความต้องการการเป็นเจ้าของนี้ คือการลิดรอนเสรีภาพของอีกฝ่ายที่พึงควรมี เพื่อสนองตัณหาและซึ่งให้ได้มาซึ่งความสุขส่วนตนโดยเป็นช่วงเวลาที่อิ่มเอมชั่วขณะ ความต้องการทางเพศนี้ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ นักปรัชญาผู้สร้างปรัชญาเอ็กซิสเตนเชียลลิสม์ (Existentialism) ที่ว่าด้วยเสรีภาพทั้งมวล ได้ให้ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องความรักและเซ็กซ์ไว้น่าสนใจว่า “ความต้องการที่จะใช้ความรักและเซ็กซ์เป็นเครื่องมือในการยึดครองเป็นเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ดูเหมือนจะแฝงอยู่ในมนุษย์ทุกคน คำพูดที่ชอบกล่าวกันเสมอว่า เธอเป็นของฉันเขาเป็นแฟนฉัน นั้น สะท้อนให้เห็นความต้องการนี้มีอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของคนรัก” [i] ดังนั้นปัญหาความรักและเซ็กซ์คือการแย่งชิงกันเป็นใหญ่ โดยต่างคนต่างมองข้ามเสรีภาพของอีกฝ่ายไป สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาและไฟที่ร้อนรุ่มในจิตใจ ที่เป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงด้วยการลิดรอนเสรีภาพของอีกฝ่ายหนึ่งไป
แต่ความต้องการทางเพศที่ปรากฏในผลงานของภูมินี้ เป็นความต้องการทางเพศที่มีอิสระและเสรีภาพปราศจากข้อกำหนดและเงื่อนไขของอีกฝ่าย อิสระและเสรีภาพในที่นี้มีพื้นที่รองรับที่ดีคือศิลปะ ผลงานศิลปะของภูมิเป็นการระเบิดของความต้องการทางเพศสู่พื้นที่แห่งจินตนาการ โดยมิได้ลิดรอนเสรีภาพผู้ชมแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของผู้ชมว่ามีวุฒิภาวะและวิจารณญาณในการชมผลงานที่เต็มไปด้วยสันดานดิบของมนุษย์ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งผลงานคือจินตนาการของความเป็นจริงมนุษย์ที่เปิดเผย โดยผ่านรูปแบบศิลปะซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเพศและความต้องการทางเพศ ว่าเป็นสิ่งสวยงามและมีเรื่องราวความเป็นจริง ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งมีชีวิตอย่างเช่นมนุษย์
คำว่าสันดานในที่นี้จึงไม่ใช่คำที่นำเสนอในทิศทางที่รุนแรงหรือด้านลบ แต่หากเป็นการเผยความจริงให้ปรากฏโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางของภาวะซ่อนเร้นทางจิตใจ ออกสู่ระนาบของผลงานศิลปะ โดยกระบวนการเปิดเผยสิ่งซ่อนเร้นต่างๆ นี้ เป็นผลกระทบจากสังคมความเป็นอยู่แห่งยุคสมัยใหม่ที่สร้างสิ่งสะท้อนภายในใจมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่เราเองบริโภคโดยที่มิได้กลั่นกรอง ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนหรือเรื่องเพศที่มีความเป็นสาธารณะมากขึ้นภายใต้ช่วงเวลาของยุคสมัยใหม่ แต่ก็ยังคงถูกกดทับด้วยกรอบวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอิทธิพลสำคัญต่อสังคมไทย ดังนั้นภาพที่เป็นด้านมืดในจิตใจต่างๆ นี้ นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญด้านวัตถุที่มีความก้าวหน้าตามยุคสมัย แต่ความเจริญดังกล่าวนี้มิได้สร้างความเจริญทางด้านจิตใจแต่กลับสร้างแรงกดดัน เก็บกดต่างๆ มากมาย และยากสำหรับการปลดแอกความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตนเองและสังคม
คำว่า “ถูกที่ถูกเวลา” จึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อการแสดงออกของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในจิตใจเหล่านี้ ฉะนั้นแล้วศิลปะจึงเป็นทางออกที่ไม่มีพิษไม่มีภัย ทั้งยังได้รับการยอมรับและมีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นผลงานศิลปะของภูมิจึงเป็นการเปิดเผยสันดานดิบอย่างหมดเปลือกในทุกด้านออกสู่ผลงานศิลปะอย่างเป็นรูปธรรมและถูกที่ถูกเวลา
คำว่า “สันดาน” ที่แท้จริงของจิตรกรรม
จากการที่ได้กล่าวมา ผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยสันดานดิบของภูมิ ได้สร้างความสดใหม่จากผลงานสู่ผู้ชม โดยผู้ชมอยู่ในฐานะผู้ดูความเป็นไปของหนึ่งชีวิตโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่มีสิทธิไปก้าวก่าย หรือบอกว่าสิ่งนั้นผิด น่าเกลียด น่าขยะแขยง ซึ่งผลงานจิตรกรรมชุดนี้ได้สร้างการแยกตัวอย่างชัดเจนคือ ผลงานมีความสมบูรณ์และจบในตัวเองโดยที่ไม่ต้องการการตัดสินและให้ค่าใดๆ ของผู้ชม ซึ่งผลงานเป็นภาพประกอบเรื่องราวของชีวิตส่วนตัว คำว่า “ส่วนตัว” นี้เองเป็นดั่งคำประกาศที่บอกว่าสิ่งต่างๆ หรือตัวละครต่างๆ นี้ที่อยู่ในภาพ มีความเป็นเอกภาพระหว่างศิลปะกับชีวิตจริง การให้คุณค่าใดๆ จึงไม่มีความจำเป็นเลย คุณค่าของผลงานชุดนี้จึงตกไปอยู่ที่ความกล้า กล้าที่จะแสดงสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในออกมาเป็นผลงานศิลปะ โดยไม่สนใจกรอบใดๆ ของสังคมที่อาจจะรับไม่ได้กับตัวละครที่เป็นลึงค์
ความน่าสนใจของผลงานศิลปะชุดนี้คือ การนำภาพลักษณ์ของการ์ตูนมาเป็นสิ่งนำเสนอ โดยทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นผู้ที่ชอบอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก การรับและซึมซับสิ่งที่แฝงตัวบางอย่างในการ์ตูน จึงสั่งสมและปรากฏรูปมาเป็นผลงานศิลปะ มโนทัศน์ของผลงานศิลปะชุดนี้ จึงเป็นเหมือนการอ่านเรื่องราวของความเป็นไปชีวิตภาพลักษณ์ของการ์ตูนดังกล่าวนี้ ได้สร้างวิธีเข้าถึงผลงานได้อย่างดีซึ่งมีความง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ชม
ภาพที่เป็นลายเส้นของการ์ตูนนี้ได้สร้างความน่าสนใจต่อกรอบของผลงานจิตรกรรม คือภาพวาดหรือลายเส้นคือต้นกำเนิดหรือกระบวนการแรกในการทำงานศิลปะ โดยเป็นการถ่ายทอดวัตถุหรือสิ่งที่สนใจนำสู่ระนาบของศิลปะ ภาพร่างนี้จึงเป็นต้นแบบทางความคิดที่มีความรวดเร็ว ฉับไว ปราศจากกฎเกณฑ์ที่ทำให้ลดทอนจินตนาการของผู้สร้างสรรค์โดยเป็นไปด้วยกลไกการถ่ายทอดจากภายในสู่ภายนอก ซึ่งเป็นกระบวนการทำให้เกิดภาพ
การทำให้เกิดภาพนี้อาจเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดของมนุษย์ ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ในสถานที่หรือวัตถุต่างๆ เช่น ภายในผนังถ้ำ การเขียนทำลวดลายบนภาชนะหรือเครื่องประดับ ดังนั้นการขีดเขียนที่ทำให้ปรากฏภาพนี้ นับมีความสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของมนุษย์ และควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ของแต่ละยุค โดยเป็นการบันทึกความเป็นไปการดำรงอยู่ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ภาพร่างหรือภาพเขียนนี้จึงเป็นการสร้างภาพสะท้อนจากเรื่องราวของชีวิตที่เกี่ยวโยงกับยุคสมัย ภาพวาดเส้นในผลงานของภูมินี้จึงเป็นการบันทึกความเป็นไปของมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ที่มีแต่ความเจริญด้านวัตถุ
ดังนั้นภาพร่างลายเส้นจึงมีความสำคัญไม่ต่างกับผลงานจิตรกรรมที่มีมิติของสีสันและแสงเงาที่สมบรูณ์ บางคนอาจมองว่าภาพร่างนี้อาจจะยังไปไม่ถึงผลงานประเภทจิตรกรรม แต่หากมองในมิติของการแสดงออกที่มีการสอดคล้องของเรื่องราวที่ต้องการความสดและดิบ ภาพร่างลายเส้นนี้จึงเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดผลงานศิลปะประเภทจิตรกรรมเป็นอย่างดี กล่าวคือเทคนิคในการนำเสนอมีความสอดคล้องกับความคิดที่เป็นการระเบิดสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกสู่ผลงานศิลปะ การระเบิดหรือปลดแอกสิ่งต่างๆ นี้จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาที่กระชับ และกระบวนการทางศิลปะที่ไม่ยุ่งยาก ทั้งนี้การระเบิดในผลงานศิลปะของภูมิมิใช่การปลดปล่อยของอารมณ์แบบชั่วขณะ แต่เป็นการปลดปล่อยแรงกดดันทางสังคมที่สั่งสมและมีอยู่จริงภายในจิตใจ เมื่อมองดูผิวเผินแล้วผลงานนี้จะมีความคล้ายคลึงกับผลงานประเภทสำแดงอารมณ์หรือศิลปะเอ็กซเพรสชันนิสม์ (Expressionism) แต่หากกล่าวด้วยรายละเอียดของผลงานแล้วจะมีความแตกต่าง คือในทุกรายละเอียดของลายเส้นจะมีความประณีตบรรจงเหมือนกับว่ากำลังตรวจสอบภาวะกดดันที่อยู่ภายในจิตใจทีละเล็กทีละน้อย แล้วกลั่นกรองออกสู่ระนาบของผลงานศิลปะ การระเบิดในที่นี้จึงไม่ใช่การระเบิดแบบอาวุธทำลายล้างในสงคราม แต่เป็นการระเบิดแบบภูเขาไฟที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งค่อยๆ ปะทุสิ่งที่ร้อนแรงที่อยู่ภายในออกมาเป็นลำธารลาวาสู่ภายนอก
ว่าด้วยความน่าสนใจด้านการแสดงออก คือความเป็นผลงานจิตรกรรมของผลงานวาดเส้น กล่าวคือผลงานจิตรกรรมตามธรรมเนียมหรือหลักปฏิบัติแบบประเพณีนิยม จิตรกรรมจะต้องประกอบด้วยทัศนธาตุที่โดดเด่นคือ“สี” สีที่มีส่วนในการสร้างมิติในการลอกเลียนแบบธรรมชาติ หรือสีเป็นตัวบ่งชี้แสดงเรื่องราวความหมาย อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเป็นภาษาที่ทรงพลังที่สุดในผลงานจิตรกรรม ภาษานี้ได้สร้างการรับรู้จากสิ่งที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อความหมายอย่างเป็นสากลเช่น สีแดงเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกร้อนแรง แผดเผา หรือสีเขียวทำให้รู้สึกถึงความสงบเย็นสบายของป่าไม้ แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานศิลปะของภูมิ มิได้ใช้สีเป็นภาษาหลักในผลงาน แต่หากเป็นการใช้เส้นเป็นภาษาหลักในการแสดงออก การใช้เส้นในที่นี้จึงทำให้เกิดการแยกตัวออกจากความจิตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทัศนธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสี ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามขึ้นว่าผลงานนี้เป็นผลงานจิตรกรรมที่มีความเป็นจิตรกรรมที่สมบูรณ์หรือไม่? คำตอบคือหากมองในกรอบของจิตรกรรมที่มีสุนทรียภาพที่สมบูรณ์ ผลงานนี้จะเป็นเพียงบันไดขั้นแรกของการเข้าสู่รูปแบบศิลปะประเภทจิตรกรรม แต่หากมองในกรอบของการถ่ายทอดและแสดงออกแล้ว การปีนไปสู่ความเป็นจิตรกรรมไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับผลงานนี้ สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผลงานนี้เป็นผลงานจิตรกรรมหรือไม่แต่หากผลงานมีการถ่ายทอดสาระที่ซ่อนเร้นภายในออกมาสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด โดยทัศน์ธาตุต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือในการนำเสนอเท่านั้น สุนทรียภาพทางศิลปะที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่การใช้หรือการมีรสนิยมการให้สีสัน หรือทัศนธาตุที่สมบูรณ์เพียงใด แต่หากเป็นการเลือกใช้เครื่องมือที่มีความเหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งสามารถนำเสนอเรื่องราวออกมาเป็นรูปธรรม
รูปแบบผลงานที่เป็นภาพวาดลายเส้นจึงเป็นจุดกำเนิด/พื้นเพ หรือสันดานที่แท้จริงของผลงานศิลปะซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยการถ่ายทอดสู่ระนาบของศิลปะ “วาดเส้น” จึงเป็นสันดานในผลงานศิลปะหรือในผลงานประเภทจิตรกรรมที่เป็นสันดานดิบ ซึ่งเป็นต้นตอของการกำเนิดความงามต่างๆ นานามากมาย โดยสันดานในผลงานของภูมินี้ มีความงามที่มีอยู่จริงโดยที่ไม่ต้องไปเทียบเคียงกับความงาม กับผลงานประเภทจิตรกรรมที่สมบูรณ์แบบ กล่าวคือ ความสด และดิบเป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจมาก โดยปรากฏเป็นตัวละครที่เกี่ยวกับเพศทุกเส้นสายรายละเอียดล้วนถูกถ่ายทอดจากสมองสู่มือแล้วปรากฏเป็นภาพ ด้วยกระบวนการที่ปราศจากขั้นตอนที่ยุ่งยาก สิ่งต่างๆ นี้จึงทำให้ภาพที่ปรากฏออกมาล้วนมาจากก้นบึ้งของจิตใจหรือสันดานโดยมิได้ตกแต่งให้เกิดความงามจากภาวะภายนอก แต่เป็นความงามที่ทะลักออกมาจากภายใน
ดังนั้นคำว่าสันดานในงานศิลปะชุดนี้ จึงเป็นการปรากฏตัวของความจริงที่อุดมไปด้วยความงามที่ปราศจากการแต่งเสริมเติมแต่งจากจริตของงานจิตรกรรม โดยทั้งนี้ผลงานเผยให้เห็นธาตุแท้ของผลงานจิตรกรรม โดยปราศจากการชี้นำของการสร้างสีสันที่สามารถดึงดูดผู้ชมเข้ามามีประสบการณ์ร่วมในผลงานเนื่องด้วยสีสันดังกล่าวเป็นภาษาหนึ่งของผลงานจิตรกรรมที่มีความเป็นสากล
ซึ่งผลงานนี้เป็นการเสนอภาพที่มีความเป็นส่วนตัวที่อยู่ภายในจิตใจออกมา โดยการใช้ภาพวาดลายเส้นที่ปรากฏแต่เพียงสีขาวและสีดำ สีขาวและสีดำนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้สร้างผลงานมีความต้องการที่จะขีดเส้นแบ่งระหว่างผลงานตนเองกับผู้อื่นอย่างชัดเจน โดยปฎิเสธการรับรู้อารมณ์ / ความรู้สึกร่วม มีเพียงเรื่องราวที่เป็นภาพในจิตใจโดยแสดงออกผ่านลายเส้น สารที่ต้องการจะส่งนี้มีแต่เรื่องราวเท่านั้นที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ส่วนอารมณ์ความรู้สึกนั้นผู้ชมจะไม่มีทางที่จะได้รับกลับไป เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีความเป็นเฉพาะบุคคล
ท้ายที่สุดนี้ผลงานของภูมิ พีชวณิชย์ เป็นการเผยสันดานที่แท้จริงออกมาสู่ระนาบผลงานศิลปะ โดยปราศจากการซ่อนเร้นใด ๆ แต่ในขณะเดียวกันผลงานที่มีความเป็นส่วนตัวดังกล่าวนี้ ก็ยังไปไม่ถึงคำว่าส่วนตัวที่แท้จริง ภาพลักษณ์ของผลงานก็ยังคงติดรูปแบบของภาพประกอบที่เป็นการ์ตูนโดยมีกลิ่นอายความเป็น“ญี่ปุ่น” ด้วยความเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นนี้ได้ลดทอนความเป็นปัจเจกภายในที่ต้องการนำเสนอออกมา ซึ่งทำให้ผู้ชมผลงานหลงใหลกับตัวละครที่มีความดิบเถื่อนที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า และไปไม่ถึงอีกฝั่งของที่มาเรื่องราวที่มีการปะทุออกมาจากภายในจิตใจ ภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้อาจหยุดการรับรู้ถึง “ที่มาของเรื่องราว”แต่กลับสร้างความน่าหลงใหลกับ “เรื่องราว” ที่ปรากฏตรงหน้าแทน การหลงใหลในเรื่องราวของภาพที่ปรากฏตรงหน้านี้เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับผลงานของภูมิ เนื่องด้วยผลงานมีภาพลักษณ์ที่เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เหมือนกับว่าผลงานนี้เป็นเพียงการนำงานต้นฉบับของการ์ตูนที่มีขนาดใหญ่มานำเสนอ แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามีการก้าวผ่านภาพลักษณ์ดังกล่าวได้นั้นนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีความท้าทายต่อนิยามคำว่าผลงานจิตรกรรมในประเทศไทย เพราะสันดาน(พื้นเพ)ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่แท้จริงแล้วควรเป็นสันดานที่แท้จริงของเราที่เป็นผู้ที่สร้างสรรค์
[i] พินิจ รัตนกุล ปรัชญาชีวิต ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ พิมพ์ครั้งที่ 6 . กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์สามัญชน. 2549
*บทวิจารณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ brand new 2010 art project&art critics
24 hrs art criticism
13 07 10 TH