Z criticism
วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
เงิน ทองเป็นของนอกกาย แต่ไม่ไกลไปจากศิลปะของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร
เคยมีใครบางคนกล่าวไว้ว่า “เงินไม่สามารถซื้อทุกสิ่งได้ แต่ทุกสิ่งเงินสามารถซื้อมันได้” คำกล่าวนี้อาจฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่สับสนเข้าใจอยาก หรือไม่คุณก็เข้าใจและเป็นอยู่แต่เลือกจะปฎิเสธมันด้วยความต้องการที่จะยกระดับจิตใจของตนให้สูงกว่าอำนาจของเงิน... เงินอาจสามารถบรรดาลทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ชีวิต ความหวัง ความรู้ โอกาส และไม่เว้นแม้แต่ “ศิลปะ”
ไม่มีผลงานศิลปะใดๆสร้างสรรค์โดยไม่ใช้เงิน(หรือมีแต่ต้องใช้สมองที่เฉียบคม) เงินสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างของศิลปะได้ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชิ้นงานศิลปะโดยการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคมาเสกสรรค์หรือบรรดาลชิ้นงานขึ้นมาโดยที่ศิลปินไม่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงที่จริงแท้ ที่เหล่าบรรดาศิลปินมีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรค์ของศิลปินอันใหญ่หลวงคือ “คุณมีเงินหรือเปล่า”
คำถามนี้อาจเป็นสิ่งที่กระชากใจศิลปินหลายๆคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินที่ทำงานศิลปะแบบใช้สื่อใหม่หรือศิลปะจัดวางที่มีค่าวัสดุอุปกรณ์ราคาแพง แต่สำหรับคำถามนี้กลับกลายเป็นแสงสว่างให้กับศิลปินที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีการนำวิธีคิดที่ว่าด้วยเรื่องเงินมาเป็นสาระหลักในการสร้างผลงานศิลปะ
นิทรรศการ(dis)continuity ของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ที่จัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือนิทรรศการศิลปะประเภทจัดวางที่มีการใช้สื่อใหม่อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเครื่องฉายภาพ การใช้เสียง หรือป้ายไฟวิ่งราคาแสนแพง
ในนิทรรศการนี้ วันทนีย์ พยายามค้นหาคำตอบของเวลาไม่ว่าจะเป็นการนำอดีตมาเล่าใหม่ในปัจจุบันโดยการนำผลงานศิลปะที่เป็นเสื้อยืดพิมพ์วันที่ทุกๆวันในหนึ่งปีที่ วันทนีย์ ได้ส่วมใส่ทุกวันในปี พ.ศ. 2543(ค.ศ. 2000) มาวางร่วมกันและฉายภาพที่บันทึกเหตุการณ์ในแต่ละวันครั้งนั้นมาฉายทับเพื่อต้องการที่จะหล่อหลอมเวลาระหว่างอดีตกับภาวะปัจจุบันขณะให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งผลที่ได้ออกมานั้นก็คือการเฝ้ามองอดีตด้วยการใช้เวลาปัจจุบัน
แต่ในนิทรรศการนี้จุดสนใจมิได้อยู่ที่กองเสื้อผ้าเมื่อครั้งอดีตที่วางสุมกัน หากแต่อยู่ที่การนำประเด็นเรื่องเงินมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งในผลงานอีกชิ้นนั้นเป็นผลงานศิลปะที่มีการใช้สื่ออย่างตระการตาที่แลกมาด้วยเงินแสนแพง และเงินนี้คือหัวใจหลักของชิ้นงาน
จำนวนเงิน 260,000 บาท คือจำนวนเงินในอนาคตที่ วันทนีย์ ลงทุนเป็นหนี้เพื่อนำมาใช้สำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เป็นแถบป้ายไฟยาวถูกเซ็ตค่าด้วยเซ็นเซอร์จับจำนวนผู้คนที่มาชมผลงานซึ่งนำมาบวก ลบ คูณ หาร กับการลงทุนในการสร้างชิ้นงาน และรายรับของ วันทนีย์ จนผลลัพธ์ที่สุดคือค่าเฉลี่ยนต่อหัวต่อคนของผู้ชมผลงานว่าจ่ายไปเท่าไรต่อคนหนึ่งคนที่มาชมผลงาน ซึ่งเท่ากับว่าถ้าคนมาชมผลงานเยอะค่าเฉลี่ยต่อหัวก็จะลดน้อยลงตามมาเช่นกัน
และที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือประเด็นที่ วันทนีย์ ต้องการจะสื่อสารออกไปสู่ผู้ชม ซึ่งถ้ามองกันที่คำตอบของผลงานที่ได้ท้ายสุดแล้วคงต้องยอมรับว่าเป็นการคิด/ประดิษฐ์สร้างสาระใหม่ให้แก่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประเภทสื่อใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ที่ว่าด้วยการสร้างปรากฏการณ์ร่วมทางศิลปะของผู้ชมกับตัวเลขของความจริงที่ใช้เป็นทุนในการสร้างผลงานศิลปะ
หากแต่ที่กล่าวมานี้มันคือสาระหรือกรอบความคิดที่ไม่ได้เกิดจากการเข้าไปปะทะกับตัวผลงานศิลปะ ในผลงานศิลปะที่ลงทุนด้วยเงินซึ่ง วันทนีย์ ไปเป็นหนี้มานั้นมันมิได้สื่อสารใดๆที่กล่าวมาข้างต้นให้รับทราบและเข้าใจผ่านการเข้าไปชมผลงานศิลปะแต่ประการใด แต่สิ่งที่ทำให้เข้าใจหรือรับทราบนั้นหยุดอยู่ที่ตัวบทความ (text) ที่ประกอบนิทรรศการในรูปแบบของแผ่นพับเพียงเท่านั้น ซึ่งข้อความที่ปรากฏนั้นมันได้ถูกแยกส่วนออกจากผลงานศิลปะอย่างสิ้นเชิง เอกสารดังกล่าวนี้เป็นเพียงถ้อยแถลงของศิลปินที่เกรินนำ/เล่าเรื่องราวความในใจหรือแรงบรรดาลใจของการสร้างสรรค์ผลงานเพียงเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อผลงานศิลปะที่นำเสนอสาระของความคิดที่จัดจ้านอย่างเช่นในผลงานป้ายไฟของ วันทนีย์
ป้ายไฟที่อยู่ในห้องนิทรรศการนั้นแสดงพลังทางกายภาพของวิธีติดตั้งที่ดูว่าจะเป็นมืออาชีพซึ่งอาจแลกมาด้วยค่าจ้างราคาสูง แต่ความประณีตต่างๆนี้มันได้กลบสาระทางการแสดงออกทางศิลปะออกจนหมดสิ้นราวกับป้ายไฟนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปตามพื้นที่สาธารณะหรือหน้าร้านค้าที่มีข้อความต่างๆมานำเสนอ เพียงแต่ข้อความที่ปรากฏนี้คือตัวเลขที่ได้จากการบวก ลบ คูณ หาร และเมื่อตัวเลขต่างๆเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างหอศิลป์สิ่งที่ตามมาคือการพยายามหาคำตอบว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นคือตัวเลขอะไร และเมื่อจะหาคำตอบของชุดตัวเลขที่ปรากฏนั้นผลลัพธ์ที่ได้คือผู้ชมที่อยู่ในห้องนิทรรศการจะไม่ได้รับสิ่งใดๆที่สามารถโยงใยไปถึงคำตอบนั้นๆได้เลย วันทนีย์ ได้ทอดทิ้งผู้ชมให้อ้างว้างในพื้นที่ห้องสีขาวเปลือยเปล่าปราศจากข้อมูลที่ใช้เป็นสะพานเข้าถึงที่มาของชุดตัวเลขที่ปรากฏ
อีกสิ่งหนึ่งที่ วันทนีย์ ลืมคิดไปคือการที่นำเรื่องราวความจริงที่มีความเป็นส่วนตัวมานำเสนอที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ค่าครองชีพของตน หรือเรื่องที่ต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ มากจนผู้ชมไม่อาจจะสามารถรับรู้ถึงสาระทางความคิดที่แฝงอยู่ได้ และความเป็นส่วนตัวที่ขาดการอธิบายอย่างพอเพียงด้วยกายภาพทางศิลปะนี้มันอาจจะสร้างภาวะของการไม่เข้าถึงสารต่างๆที่มีความน่าสนใจจนสามารถสร้างความภาวะของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางการรับรู้ผลงานศิลปะ
และอีกประการที่สำคัญคือลงทุนดังกล่าวนี้เป็นการลงทุนเพื่อสร้างชื่อเสียงและไต่ระดับความก้าวหน้าทางวงการศิลปะของ วันทนีย์ แต่ในสูตรตัวเลขที่บวก ลบ คูณ หาร นี้ก็มิได้ใส่ตัวแปรนี้เข้าไปแต่ประการใด วันทนีย์ คิดถึงค่าหัวของผู้ชมต่อการลงทุนเท่านั้น ซึ่งเมื่อชมผลงานแล้วคำถามจึงเกิดขึ้นว่าศิลปินมีจุดคุ้มทุนหรือไม่ และจุดคืนทุนอยู่ที่ไหน เพราะการลงทุนที่ผ่านการคิดหรือไตร่ตรองอย่างรอบครอบแล้วย่อมต้องมีการมองไปถึงจุดคืนทุนตามมาด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการลงทุนในแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกไปจากตอบสนองความอยากเพียงเท่านั้น
ท้ายสุดนี้ผลงานในนิทรรศการ (dis)continuity คือการแสดงออกถึงความต้องการที่จะสร้างภาพของเวลาทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกันด้วยการลงทุนที่มีเงินเป็นตัวแปรที่สำคัญ เงินที่ใช้เป็นทุนในการสร้างศิลปะนี้ได้สร้างความน่าสนใจในมิติของปรากฏการณ์ทางศิลปะเป็นอย่างมาก หากแต่มันไม่ได้สร้างความน่าสนใจหรือความเข้าใจในมิติของการรับรู้ผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะของ วันทนีย์ นั้นไม่ได้สื่อสารข้อความใดๆสู่ผู้ชม ซึ่งสิ่งเดียวที่สื่อสารสู่ผู้ชมนั้นกลับเป็นคำอธิบายผ่านบทความในรูปแบบแผ่นพับที่ค่อนข้างจะเบาบางซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อความเข้าใจของผู้ชมที่มีความเป็นสาธารณะ และเมื่อสารที่มีสาระไม่สามารถสื่อออกมาให้ผู้ชมรับรู้ได้นั้นอาจทำให้ผลงานของ วันทนีย์ เป็นผลงานศิลปะที่มีการลงทุนที่อาจไม่คุ้มทุนหรือเป็นผลงานศิลปะที่ขาดดุลทางการรับรู้ในที่สุด
*“การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”
กฤษฎา ดุษฎีวนิช
ที่มาภาพ http://kaewkamol.wordpress.com/
วัตถุคือชีวิตหรือวัตถุกำลังสิ้นชีวิต โดย วิชญ มุกดามณี
เมื่อสิ้นกลิ่นน้ำคาวๆของมหาอุทกภัยปี 2554 ที่ผ่านมาสภาพบ้านเมื่องของประเทศไทยก็ดูเหมือนย่อยยับไปพร้อมกับการจากไปของปริมาณน้ำจำนวนมหาสาร ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านได้ถูกนำมาทิ้งวางเรียงรายตามข้างทางท้องถนนซึ่งทำให้ทัศนียภาพบ้านเมืองในช่วงนี้ไม่ต่างไปจากเมืองที่เสร็จสิ้นกิจสงคราม แต่ถึงกระนั้นมันก็ได้ผ่านไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเกิดทุกข์ระทมกับสภาพบ้านเมือง (รวมทั้งบ้านตัวเอง)อย่างไรชีวิตมันก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป
และเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้มีนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของ วิชญ มุกดามณี ที่จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า ภายใต้นิทรรศการชื่อ ART-IFICIAL BEING (วัตถุคือชีวิต) ที่มีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาและเรื่องราวการแสดงออกในทิศทางของการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆให้แก่วัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ที่ศิลปินพยายามให้นิยามมันว่าเป็นวัตถุของวัฒนธรรมมหาชน (pop culture) วัตถุต่างๆได้ถูกถาโถมมารังสรรค์สู่การแสดงนิทรรศการศิลปะในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นตู้ ชั้นวางของ หรือเตียงสีสันสดใสที่มีแต่ความสวยงาม(ตามแต่ละรสนิยม)หากแต่ปราศจากความคงทน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะข้าวของเครื่องใช้ประเภทดังกล่าวนี้มีราคาที่ต่ำซึ่งส่งผลให้คุณภาพต่ำลงมาตามๆกัน
ทั้งนี้ในการแสดงผลงานศิลปะในครั้งนี้(ต้องขอย้ำว่าเป็นศิลปะ)มิได้มีเจตจำนงไปเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาแต่ประการใด หากแต่เป็นการกล่าวหรือแสดงให้เห็นถึงสาระของคำว่า “วัตถุสังเคราะห์” ที่ได้กลับกลายเป็น “วัตถุเสมือนจริง”ซึ่งเป็นที่ต้องการในโลกยุคปัจจุบันหรือในโลกยุคสมัยใหม่ และซึ่งเมื่ออ่านถ้อยแถลงของ วิชญ ที่ได้มีการนำเสนอในนิทรรศการดังกล่าวแล้วก็ทำให้เกิดความน่าสนใจและน่าติดตามชมผลงานเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อเข้ามาชมผลงานแล้วความน่าสนใจได้หยุดอยู่แค่ถ้อยแถลงที่มีการกล่าวถึงเนื้อหา/เรื่องราวของผลงานเพียงแค่นั้น ทั้งนี้เพราะผลงานที่ได้นำเสนออยู่นั้นทำให้ข้าพเจ้าเกิดปรากฏการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในใจเป็นอย่างมาก ผลงานในนิทรรศการนี้เป็นผลงานศิลปะจัดวางและยังมีการแฝงผลงานจิตรกรรมและสื่อภาพเคลื่อนไหว/เสียงกระจายอยู่ไปทั่วห้องนิทรรศการ ผลงานที่ประจักษ์อยู่ตรงหน้านี้ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผลงานศิลปะที่ได้เข้ามาจัดแสดงอยู่ภายใต้พื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะในการแสดงออกของกายภาพผลงานนั้นต้องยอมรับว่า “ไม่รู้เรื่อง” และยังมาพร้อมกับคำถามต่างๆนานามากมาย หรือถ้าจะให้มองในอีกมุมว่า “เรายังเข้าไม่ถึง?” หรือผลงานที่อยู่ตรงหน้าเรานั้นมีความใหม่เคียงคู่กับโลกสมัยใหม่/หลังสมัยใหม่ ?
คำถามที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในใจเมื่อเข้ามาชมผลงานศิลปะชุดดังกล่าว เช่นในผลงานแรกที่เข้าสู่ห้องนิทรรศการ ที่มีใช้มิติผสานกันระหว่างระนาบของจิตรกรรม2มิติและผันสู่มิติที่3 ซึ่งเมื่อรับชมผลงานแล้วนั้นต้องยอมรับว่าเราเข้าไม่ถึงศิลปะที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ ทั้งเนื้อหา การแสดงออก ความลงตัว และศาสตร์ของการจัดวาง มิได้มีปัจจัยไหนที่โด่ดเด่นที่สามารถชูโรงในผลงานศิลปะชิ้นดังกล่าวแม้แต่น้อย ซึ่งสิ่งที่ปรากฏในผลงานนั้นมีการสร้างสรรค์จิตรกรรมโดยการใช้สีที่ชูดฉาด ฉับไว และยังมีวัตถุที่เป็นชั้นวางของ ชิ้นส่วนของเตียงที่มีการแยกร่าง รื้อถอดประกอบนำมาจัดวางกระจายอยู่ทั่วระนาบของจิตรกรรมทั้งใน2และ3มิติ ซึ่งผลงานนั้นมิได้ตอบสนองความคิดในเรื่องของวัตถุที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมมหาชนตามที่กล่าวอ้างในถ้อยแถลงข้างต้นแต่อย่างใด สิ่งที่ปรากฏนั้นมีเพียงการแสดงออกในทาง “ศิลปะ” ที่คอยพะวงกับในเรื่องของความงามจนไม่สามารถแสดงออกให้เห็นถึงสาระทางด้านความคิดออกมาได้ และการแสดงออกทางความงามนั้นก็เป็นความงามที่ “หลงยุค/หลงสมัย” เสมือนเป็นการฝืนผู้ชมให้คลอยตามรสนิยมของศิลปิน
ผลงานของ วิชญ ที่แสดงอยู่นั้นมีการแสดงออกในทิศทางดังกล่าวค่อนข้างมาก หลายชิ้น หลายผลงาน มีการนำเสนอด้วยกระบวนการและวิธีการที่จับต้นชนปลายไม่ได้ ดังเช่นในอีกชุดผลงานที่มีการผสานสื่อวีดีโอเข้ามา ซึ่งภายในเนื้อหาของสื่อดังกล่าวนี้ได้มีการนำเสนอให้เข้ากับสถานการณ์น้ำท่วมในบ้านเราที่เพิงผ่านพ้นไป โดยมีการนำเรือมารอยในน้ำและมีการนำถุงที่เหมือนกับถุงใส่เสื้อผ้าที่เห็นกันตามตลาดล่าง 6 ใบมาวางซ้อนทับกับอยู่บนเรือ เรียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ซึ่งเมื่อชมผลงานนี้แล้วคำถามที่เกิดขึ้นในใจคำถามเดียวคือ “ ทำไปเพื่ออะไร” และเมื่อเกิดคำถามนี้ขึ้นมาในใจกระบวนการของการพยายามหาคำตอบจึงเกิดขึ้น
การกระทำเช่นนี้อาจสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ให้แก่วัตถุ โดยมีการสร้างบุคคลิกภาพใหม่ซึ่งเป็นการทอดทิ้งหน้าที่การใช้งานเดิมๆแก่วัตถุ(ผลงานหลายชิ้มมีเจตจำนงเช่นนั้น) หากแต่การหาอะไรใหม่ๆนี้มันก็ไม่ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจใดๆเมื่อรับชม แต่มันกลับสร้างคำถามต่างๆนานามากมาย และคำถามนี้มันก็ได้ปะทะกับตัวบท(text) ที่มีการชี้นำหรือยืนยันในคำตอบที่ศิลปินมอบให้ผู้ชม เมื่อคำตอบที่ศิลปินมอบให้มานั้นมันไม่เพียงพอกับคำถามอันมากมายที่เกิดขึ้นจึงทำให้ภาพร่วมของผลงานดังกล่าวเกิดความกำกวม ไม่ชัดเจน เสมือนศิลปินทำตัวเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ได้โยนโจทย์ที่เป็นตัวเลขมากมายมาให้หาคำตอบ และคำตอบและวิธีการหาคำตอบนั้นศิลปินก็มีอยู่ในใจแบบชัดเจนและแน่นอน ซึ่งไม่เป็นการดีต่อการรับชมผลงานศิลปะที่มีอริยาบทเช่นนี้
ทั้งนี้เมื่อมองภาพร่วมในนิทรรศการดังกล่าวนี้ยังพบความพยายามที่นำเรื่องราวเหตุการณ์ที่มีความเฉพาะเวลามาผูกโยงกับการแสดงออกทางศิลปะ ซึ่งแน่นอนเหตุการณ์นี้คือมหาอุทกภัยที่กลืนกินมหานคร ข้าวของเครื่องใช้ที่ได้นำมาจัดวางในนิทรรศการนี้ก็มีการอิงแอบกับเนื้อหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางของ ตู้ เตียง หรือแม้แต่อุปกรณ์ในการทำความสะอาดบ้านที่ใช้กันในวัน big cleaning day ! ไม่ว่าจะเป็นไม้กวาด แปรง ฯ ทั้งหมดนี้ล้วนถูกนำมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ เช่นในผลงานจิตรกรรมที่คล้ายว่าจะเป็นศิลปะในแนวทางสำแดงอารมณ์(Expressionism) ที่ดูเหมือนว่าจะมีการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดดังกล่าวมาใช้ให้เกิดร่องรอยฝีแปรงในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็ไม่ต่างไปจากผลงานจิตกรรมประเภทสำแดงอารมณ์ทั่วไปมีที่ต่างก็เพียงการแทรกเสียง(sound)ของแต่ละอุปกรณ์เช่นเสียงของการขัดถูพื้น หรือไม่ก็เป็นแขวนอุปกรณ์ทำความสะอาดไว้กับผลงานแบบตรงไปตรงมาเป็นต้น
การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวทางจัดวางที่ วิชญ มีความพยายามสร้างสรรค์อยู่นี้สิ่งหนึ่งที่มีความจำและควรใส่ใจอย่างยิ่งคือพื้นที่และเวลารวมทั้งผู้ชม ทั้งนี้เพราะสื่อต่างๆที่ วิชญ ได้ถาโถมในผลงานศิลปะนั้นได้กล่ำกลายหรือรุกล้ำเข้ามาสู่ผู้ชม ผู้ชมจะมีพื้นที่ในการรับรู้ผลงานศิลปะมากกว่าการรับรู้ผลงานประเภท2มิติธรรมดาทั่วไป ฉะนั้นแล้วเมื่อผู้ชมมีระยะความห่างระหว่างศิลปะกับตัวเองน้อยลงการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศิลปะกับผู้ชมนั้นก็ควรจะมีมากขึ้นตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ก็ดี หรือไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสื่อสารที่ดีของศิลปินที่ควรคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ได้ออกมา หากมิเช่นนั้นแล้วผลงานศิลปะจะสร้างภาวะแปลกแยก/แปลกปลาดกับผู้ชมอย่างเห็นได้ชัด
และท้ายที่สุดนี้เมื่อชมผลงานในนิทรรศการ ART-IFICIAL BEING (วัตถุคือชีวิต) ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่เป็นส่วนประกอบในผลงานศิลปะนั้นทำให้นึกย้อนไปถึงตอนที่ปริมาณน้ำมหาสารที่ได้ลาจากมหานครไป(รวมทั้งบ้านข้าพเจ้า) สิ่งที่หลงเหลืออยู่นั้นมีเพียงแค่ร่องรอย คราบน้ำ และความเปลือยเปล่าของบ้านหรือที่อยู่อาศัย ที่ศูนย์สิ้นไปก็มีเพียงสิ่งที่เป็นวัตถุข้าวของเครื่องใช้ที่ได้ถูกนำมาทิ้งกองสุมรวมกันเป็นภูเขาตามข้างทางท้องถนน ขยะปริมาณมากมายมหาสารที่ถูกทิ้งขว้าง หน้าที่การใช้งานของมันได้สิ้นสลาย บุคลิกภาพดั่งเดิมได้ลาจากไปพร้อมๆกับหน้าที่การใช้งานที่มิสามารถใช้มันต่อได้ จนอาจทำให้ข้างทางตามท้องถนนั้นอาจเป็นนิทรรศการศิลปะขึ้นมาภายใต้ชื่อว่าง่ายๆ “วัตถุสิ้นชีวิต”
กฤษฏา ดุษฎีวนิช
วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554
และแล้ววันพรุ่งนี้ของชีวิตก็กลายเป็นอดีตของศิลปะ : จิตติ เกษมกิจวัฒนา

ในทุกๆเช้า ข้าพเจ้าได้ลืมตาตื่นขึ้นมาพร้อมกับการรู้ตัวเองว่าตนเองกำลังทำบางสิ่งอยู่ บางสิ่งที่ทำนั้นมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้าหรือสำหรับใครบางคน แต่มันคือสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่
...และในตอนนี้ จิตติ ได้กลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการที่มีชื่อค้อนข้างจะเป็นภาพลางๆของคำตอบของชีวิต ภายใต้ชื่อนิทรรศการที่ว่า “TOMORROW WAS YESTERDAY: การสร้างงานศิลป์จากสิ่งที่เรียนรู้” ที่จัดแสดงอยู่ ณ ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ชั้น 4 ตึก Henry B. Thompson และซึ่งนิทรรศการครั้งนี้เป็นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ได้มาจากประสบการณ์ที่ได้ไปสั่งสมจากการออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิตภายใต้ผ้าเหลืองเป็นเวลานานหลายปี
ทั้งนี้ผลงานที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ประกอบด้วยผลงานศิลปะที่ได้จัดวางกระจัดกระจาย/แฝงตัวอยู่เต็มบริเวณพื้นที่ห้องสมุด ซึ่งประกอบด้วยผลงานที่เป็นโมเดลจำลองของมนุษย์ที่มีขนาดเล็กโดยการนำมาจัดวางเรียงรายเป็นวงกลมที่ตั้งอยู่บนแทนประติมากรรมตรงบริเวณทางเข้าไปยังพื้นที่ห้องสมุด และภายในพื้นที่ห้องสมุดนั้นประกอบไปด้วยผลงานที่ถูกออกแบบให้กลมกลืนเข้ากับบริบทรายรอบ เช่นแท่นโต๊ะหรือตู้โชว์ที่ปราศจากวัตถุสิ่งของภายในที่มีเพียงแต่ผลส้มวางอยู่ด้านบนเท่านั้น ซึ่งตู้โชว์ดังกล่าวได้ถูกออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นราวกับว่าสิ่งนี้คือสาระของผลงานศิลปะ หรือโต๊ะอ่านหนังสือที่ถูกดัดแปลงขึ้นให้เป็นผลงานศิลปะ ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในผลงานศิลปะโดยการเข้าไปจับต้อง/โยกย้ายชิ้นส่วนที่เป็นคล้ายๆกับเกมส์จิ๊กซอ และยังอีกทั้งกล่องไม้ทรงสี่เหลี่ยมที่ดูคล้ายๆกับเป็นรูปทรงหนังสือที่ถูกจัดวางเรียงรายและแทรกซึมไปกับหนังสือต่างๆที่อยู่ตามชั้นวางหนังสือ และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ขึ้น และสิ่งต่างๆเหล่านี้มันได้ถูกเรียกขาลว่า “ศิลปะ”
และสิ่งต่างๆที่ถูกเรียกว่าศิลปะนี้มันมีที่มาที่ไปมาจากภาวการณ์ค้นหาความหมายชีวิตส่วนตัวของ จิตติ ที่ได้กินระยะเวลามานานหลายปี และผลงานศิลปะในครั้งนี้ จิตติ ยังอุทิศให้กับอาจารย์สอนประติมากรรมคนแรกเมื่อครั้งที่ จิตติ ได้ร่ำเรียนอยู่ที่ ประเทศออสเตรเลีย
เมื่อพิจารณาผลงานชุดดังกล่าวแล้ว โดยภาพร่วมนั้นเป็นผลงานประติมากรรมเชิงสัมพันธ์ที่ต้องอาศัยบริบทรายรอบและผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในผลงาน และในผลงานนี้ความน่าสนใจอยู่ที่ จิตติ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้กลับกลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งของบริบท(พื้นที่) ซึ่งเท่ากับว่าผลงานศิลปะชุดดังกล่าวได้ทำปฏิกิริยากับพื้นที่โดยมีพื้นที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัว พื้นที่ได้กลับกลายเป็นผลงานศิลปะ และผลงานศิลปะได้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นเพราะกิริยาอาการทางศิลปะที่ปรากฏอยู่ ณ พื้นที่ห้องสมุดนี้มันมิได้มีความโดดเด่นมากหรือน้อยไปกว่าตัวพื้นที่เลย ซ้ำยังเกิดภาวะของความเท่าเทียมที่พร้อมจะยอกย้อนในสิ่งต่างๆที่พื้นที่มี
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเนื้อหาในความหลักของนิทรรศการนั้นเป็นการพิจารณาใคร่ครวญ/เรียนรู้ถึงความหมายของชีวิต ด้วยกระบวนการที่ จิตติ ได้ไปเรียนรู้มาจากการปฏิบัติธรรม และด้วยกระบวนการดังกล่าวนี้การยึดมั่น/ถือมั่นกับสิ่งใดก็ดูเหมือนจะไม่จำเป็นต่อไปกับการสร้างผลงานศิลปะ ผลงานศิลปะของ จิตติ นั้นดูเหมือนจะมีกระบวนการลดทอนรูปอย่างถึงที่สุด โดยให้หลงเหลือแต่สาระทางความคิดที่มีการตกผลึกจากการมีประสบการณ์ตรงกับชีวิตที่ตนเองที่ได้ไปค้นหามา ทั้งนี้อาจสังเกตได้จากผลงานที่มีชื่อว่า “being trying to understand itself / touch the ground” ที่มีการสร้างแท่นหรือตู้โชว์วัตถุสิ่งของที่เราๆสามารถพบเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ในผลงานนั้นมันมิได้ปรากฏวัตถุหลงเหลืออยู่เลย พื้นที่ภายในตู้โชว์นั้นมีแต่พื้นที่สีขาวกับความประณีตที่ว่างเปล่า ซึ่งเท่ากับว่าวัตถุที่มันจะต้องอยู่ภายในมันมิได้เป็นสาระสำคัญเท่ากับโครงสร้างโดยรวมของตู้โชว์ ตู้โชว์ชิ้นดังกล่าวในนิยามของ จิตติ นั้นมันมิได้เป็นเพียงแค่แท่นรองรับวัตถุหากแต่ตู้โชว์ดังกล่าวมันกำลังเป็นผลงานศิลปะโดยตัวมันเองและโดยการนิยามของศิลปิน ความว่างเปล่านี้มิได้มีตัวตน หากแต่การพิจารณาถึงตัวตนมันอาจจะปรากฏถึงความว่างเปล่า เฉกเช่นวัตถุที่เป็นตู้โชว์ที่สามารถปรากฏให้เราเห็นถึงความว่างเปล่าได้เช่นกัน
และสิ่งที่ตามมาหลังจากรับชมผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของ จิตติ คือผู้ชมมิสามารถปีนป่ายหรือเข้าถึงเนื้อหาใจความหลักของนิทรรศการได้อย่างที่ควร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในสิ่งที่ จิตติ ได้นำเสนออยู่นี้คือผลลัพธ์ในการหาความหมายของชีวิตซึ่งเป็นคำตอบที่มีความเป็นเฉพาะส่วนตน ผู้ชมที่เป็น “ผู้อื่น” เป็นเพียงแค่ผู้อ่านข้อความที่ได้กลั่นกรองออกมาจากศิลปิน ที่มีความสมบูรณ์และเพียบพร้อม ความสมบูรณ์แบบของความหมายนี้เกิดขึ้นก่อนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ฉะนั้นผลงานศิลปะชุดดังกล่าวนี้จึงเป็นผลงานศิลปะที่เป็นคำตอบส่วนตัวที่ถูกสร้างขึ้นจากการมีประสบการณ์ส่วนตน ผลงานศิลปะชุดดังกล่าวนี้จึงไม่ใช้การนำเสนอกระบวนการหากแต่เป็นการนำเสนอผลลัพธ์เสียมากกว่า
โดยส่วนตัวข้าพเจ้าเมื่อเข้าไปรับชมผลงานศิลปะชุดดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้ามิได้ข้องใจในความหมายหรือเนื้อหาใจความใดๆทางศิลปะเลย อาจเป็นเพราะในสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้านั้นมันมิได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นไปในความหมายทางศิลปะ หากแต่วัตถุต่างๆที่รังสรรค์ขึ้นมานั้นมันได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นคำตอบในความหมายของชีวิตที่เป็นส่วนตน สิ่งต่างๆที่ปรากฏนั้นมันคือสิ่งที่ จิตติ ได้ไปเรียนรู้มาด้วยตนเอง ความว่างเปล่า ความเรียบง่าย และสาระต่างๆที่ปรากฏในผลงานศิลปะชุดดังกล่าวมันคือบทบันทึกส่วนตัวที่อาศัยกายภาพของความเป็นศิลปะมาเป็นสิ่งที่นำเสนอ
และถึงแม้อาจจะมีการรับรู้ในผลงานศิลปะของ จิตติ มันก็เป็นเพียงแค่การรับรู้โดยปราศจากการเข้าถึง/เข้าใจ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวาทกรรมต่างๆที่เราสามารถจะเข้าใจด้วยภาษานั้นมันมิได้มีค่าเพียงพอที่ทำให้เราเข้าถึงในสิ่งที่เรียกว่าความหมายของชีวิตได้ นอกจากเราต้องออกไปหาความหมายของชีวิตด้วยตนเองและทำ(ธรรม)มันด้วยตนเอง
และท้ายที่สุดสาระของนิทรรศการนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าชื่อของนิทรรศการ ทุกสิ่งมันย่อมดำเนินไปตามวิถีแห่งความเป็นไป กฎของจักรวาลมันก็ย่อมเป็นกฎของธรรมชาติ พรุ่งนี้มันก็คือเมื่อวาน และวันนี้มันก็คือวันที่กำลังจะผ่านไปสู่อดีต หากเราเองจะปล่อยให้วันเวลาผ่านเลยไปโดยที่มิได้เรียนรู้อะไรจากการมีชีวิตอยู่เลยหรือ?
และในนิทรรศการนี้ จิตติ ได้นำเสนอสิ่งที่ตนเองได้ไปเรียนรู้มาจากการปฏิบัติธรรม และต่อจากนี้ จิตติ ก็คงต้องเรียนรู้ในสิ่งต่างๆที่อยู่รายรอบอีกครั้งกับโลกใบเดิมที่มีความเพียบพร้อมด้วยความสวยงามและความวุ่นวาย
กฤษฎา ดุษฎีวนิช
วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ต้นศิลปะ : กับความใหญ่และโตของคำว่า “ปรมาจารย์ทางศิลปะ”

ตันศิลปะ : กับความใหญ่และโตของคำว่า “ปรมาจารย์ทางศิลปะ”
จากกระแสรายการโทรทัศน์ที่มีลักษณะของ เรียลลิตี้โชว์ ที่เข้ามาบนสื่อที่เป็นโทรทัศน์ในบ้านเรา จนทำให้เกิดกระแสของการ “จับจ้อง/เฝ้ามองกริยาอาการของชาวบ้านที่เต็มใจนำเสนอให้ชมกันในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกระแสรายการโทรทัศน์ที่ได้กล่าวมานี้ได้ลามปามเข้าสู่วงการศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา ซึ่งทำให้รายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้คิดริเริ่มนำความเป็น เรียลลิตี้โชว์ มาผนวกกันการแสดงออกทางศิลปะโดยมุ่งประเด็นไปที่การสร้างศิลปินรุ่นใหม่โดยให้เป็นทายาท(อสูร)จากศิลปินรุ่นเก่า ซึ่งรายการนี้มีชื่อที่ไพเราะว่า “ต้นศิลปะ” โดยรายการนี้มีเนื้อหาสาระของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่มีการสร้างศิลปินรุ่นใหม่ที่มีแววในการคิดสร้างสรรค์กลุ่มหนึ่งมาเก็บตัวและแสดงฝีไม้ลายมือทางศิลปะกันในรายการ
ซึ่งในรายการนี้จะเป็นไปในลักษณะของการที่นำศิลปินแรกรุ่นมารวมตัว/เก็บตัว ฝึกซ่อมตามสถานที่ต่างๆ โดยมีศิลปินรุ่นใหญ่(ประเทศไทย)เป็นกรรมการ คอยให้คะแนนจากผลงานทางความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินแรกรุ่นกลุ่มนี้ และในแต่ละสัปดาห์ศิลปินแรกรุ่น(รุ่นใหม่)ก็ได้สลับสับเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปตามโจทย์ของรายการหรือคณะกรรมกราที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ได้ให้โจทย์ไว้ โดยอาจจะเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบ 3 มิติ 2มิติ ภาพถ่าย หรือศิลปะแสดงสด ผลลัพธ์ที่ไดแต่ละสัปดาห์ก็คือผลงานศิลปะและคะแนนที่นำมาเก็บสะสมเพื่อหาสุดยอด หรือผู้ชนะท้ายสุดของรายการนี้ โดยผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียวที่จะได้เกรียติยศ และศักดิ์ศรีของผู้ชนะซึ่งจะเป็นต้นไม้ทางศิลปะที่ยืนต้นสืบต่อไปพร้อมเงินรางวัล
และเมื่อข้าพเจ้าชมรายการแล้วนั้น ก็ได้พบพลังของการสร้างสรรค์ของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่เต็มไปด้วยความน่าสนใจที่มีความสด/ใหม่ และไฟทางศิลปะ แต่กระนั้นสิ่งที่ได้ควบคู่มากับความน่าสนใจของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่นี้คือ “คำถาม”?
คำถามที่ว่าคณะกรรมการที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่ที่เป็นดาว(ค้างฟ้า) นี้มีมุมมองต่อการสร้างสรรค์ศิลปะในมุมไหนหรือทิศทางใดและมีเกณฑ์ในการตัดสิน ประเมินค่าผลงานศิลปะที่ปรากฏในรายการนี้อย่างไร เพราะในรายการนี้มีการให้คะแนน และแสดงความคิดเห็นของคณะกรรมการในเชิงวิจารณ์กันออกมาอย่างทะล่ม ทะลาย และการวิจารณ์ที่เกิดขึ้นในรายการนั้นก็เป็นการวิจารณ์โดยใช้รสนิยมส่วนตัวหรือความเป็นปัจเจกของศิลปินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผลงานศิลปะที่ได้ออกมานั้นเป็นไปในทิศทาง “ตามน้ำ” หรือเอนเอียงไปตามความคิดเห็นของคณะกรรมการ (อาจคล้ายกับวงการประกวดศิลปกรรมแห่งโน่น นี่ ในบ้านเรา) โดยในรายการก็มีการให้ศิลปินมาพูดหลังจากโดนวิจารณ์มา และส่วนใหญ่ก็พูดออกมาประมาณว่า “ เป็นความคิดเห็นที่กระผม/ดิฉันจะนำไปแก้ไขปรับปรุง” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ถือว่าเป็นการดีที่ศิลปินยอมรับทัศนะอื่นๆ(ผู้อื่น)ที่เป็นการวิจารณ์ แต่ผู้อื่นในที่นี้เป็นบุคคลที่ทำงานศิลปะที่มีรสนิยม/อัตลักษณ์ที่มีความเป็นเฉพาะตัวทั้งสิ้น ซึ่งการรับความคิดเห็นจากการทดลองการสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบนี้ควรจะ “รับฟัง” เสียงที่ได้มาจากมหาชนเพื่อที่จะส่งผลต่อการพัฒนาการ ของการสร้างสรรค์ผลงานของตนอย่างแท้จริง
ฉะนั้นแล้วความคิดเห็นของคณะกรรมการก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากการโดนวิจารณ์ผลงานในชั้นเรียน ซึ่งต้องแก้ไข ปรับปรุงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานศิลปะที่สมบรูณ์ในแบบแผนหรือวงเวียนของรสนิยมที่มีมาอยู่ก่อนหน้า จนทำให้การสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินที่กำลังจะเกิดใหม่นี้ ยังคงวนเวียนอยู่ในห่วงโซ่ หรือรอยเท้าของศิลปินรุ่นใหญ่ที่มีการเดินทางมาก่อนหน้า และยังคงเป็นดาวค้างฟ้าในสังคมศิลปะร่วมสมัยไทยในปัจจุบัน
และด้วยความคิดเห็นของคณะกรรมการที่เกิดขึ้นในรายการนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นความคิดเห็นอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งควรมีความคิดเห็นจากบุคคลอื่นที่สามารถทำให้ศิลปะนั้นได้ขยาย/กระจายตัวออกสู่สังคมความเป็นจริง ศิลปะมิใช่เป็นเพียงภาษาที่มีความเป็นเฉพาะที่อยู่ในวงแคบๆ แต่ศิลปะนั้นมันคือภาษาที่เต็มไปด้วยอิสรภาพ/เสรีภาพในการรับรู้ ถึงแม้การรับรู้นั้นจะปราศจากความเข้าใจ แต่ถ้าการรับรู้นั้นได้เข้าไปถึงในสิ่งที่เรียกว่า “ความงาม” แล้วนั้นความเข้าใจก็เป็นเพียงส่วนเติมเต็มให้ศิลปะมีความหมายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
และอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าดูรายการนี้แล้วเกิดความรู้สึกว่า “น่ารำคาญ” ในการรับชม คือเสียงบรรยายของผู้ดำเนินรายการที่มีการใช้คำศัพท์เรียกคณะกรรมการที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่นี้ว่า “ปรมาจารย์ทางศิลปะ” ซึ่งคำๆนี้ฟังแล้วทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ว่าศิลปินรุ่นใหม่ต่างๆนี้จะสร้างสรรค์งานศิลปะดีเลิศ เพียงใด หรืออย่างไรก็ไปได้ไม่ไกลกว่าคณะกรรมการที่ถูกเรียกว่า “ปรมาจารย์ทางศิลปะ” เพราะคำๆนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสูงส่ง ความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลผู้ซึ่งเป็นศิลปินราวกับพวกเขาเป็นปรมาจารย์ทางเจ้าสำนัก ที่มีลูกศิษย์สืบทอดวิชาความรู้ของตนและไม่มีทางที่จะเอาชนะอาจารย์ของตนได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นวงการศิลปะในประเทศไทยก็จะอยู่ในร่มเงาของคนก่อนหน้า ซึ่งอาจทำให้พัฒนาการทางศิลปะที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ หรืออาจเป็นเหตุนี้ที่ทำให้วงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยมีกลิ่นอายที่คุ่นชิน เหมือนกับเคยเห็นและผ่านตามาตามผลงานของคนรุ่นก่อน
ฉะนั้นคำว่า“ปรมาจารย์ทางศิลปะ” ตามทัศนะของข้าพเจ้าแล้วนั้นไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาเรียกคณะกรรมการเหล่านี้ เพราะอาจทำให้เกิดกำแพงในการเข้าถึงความรู้ และกำแพงที่กั้นกลางการแสวงหาความรู้ของเหล่าบรรดาศิลปินที่กำลังจะเกิดใหม่ ที่รอเข้าไปท้าทายและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความใหม่ให้ก้าวทันกระแสความเป็นศิลปะที่มีพัฒนาการควบคู่ไปกับสังคม(โลก)
ท้ายที่สุดนี้ขอฝากไว้ว่า ถ้ายังมีคำว่า“ปรมาจารย์ทางศิลปะ” หรือในความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้น วงการศิลปะร่วมสมัยไทยก็จะผลิตศิลปินที่มีสายพันธ์/เชื้อสายเดียวกับศิลปินก่อนหน้า และอาจไม่ส่งผลดีกับวงการศิลปะร่วมสมัยไทย
หรืออาจทางแก้มีเพียงทางเดียวคือ “ศิษย์ต้องมีความคิดที่จะต้องล้างครู เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ทางศิลปะ”
กฤษฎา ดุษฎีวนิช
(บทความชิ้นนี้เขียนขณะที่รายการต้นศิลปะกำลังออกอากาศอยู่)
เรื่องเล่าของสิ่งที่มีอยู่แต่มันไม่มีจริง : SCIENCEFAITH โดย ประเสริฐ ยอดแก้ว
