วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

THE WAY TO ART เส้นทางรู้ศิลปะจริงหรือ?

THE WAY TO ART เส้นทางรู้ศิลปะจริงหรือ?

คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคณะชั้นแนวหน้าในวงการศิลปะในประเทศไทย มีการผ่านประสบการณ์ของเรื่องต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทำให้นักศึกษาค้นคว้าและทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา การพัฒนาวงการศิลปะในประเทศไทยจึงได้เป็นที่จับตามอง จากผลงานนักศึกษาในคณะก็ดี หรือจากการประกวดศิลปกรรมที่จัดขึ้นในองค์กรก็ดี เนื้อหาและรูปแบบความคิดที่ผ่านมาของนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ภาพร่วมค่อนข้างสมบูรณ์ มีการพัฒนารูปแบบและเทคนิคความคิดต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้หลุดกรอบและจารีตประเพณีดั้งเดิม

ที่กล่าวมานี้อาจจะพบเห็นได้ในผลงานระดับปริญญาตรี เหล่านักศึกษามีไฟในการทำงานค้นคว้าทดลองและหาความเป็นไปได้ใหม่ถึงแม้ว่าจะถูกมองจากสถาบันเดียวบ้างว่าเรายังยึดติด แต่ในความจริงการพัฒนาของเหล่านักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการรับข่าวสารข้อมูลทางศิลปะและเปิดรับความใหม่ของงานศิลปะอยู่เสมอ การรับมิได้รับแต่รูปแบบและความคิดมาเท่านั้น แล้วจึงนำมาอยู่ในกระบวนการคิด เลยทำให้งานศิลปะของคณะจิตรกรรมฯ ค่อนข้างไปได้ช้า เพราะยังต้องมีกรอบจารีตที่ต้องผ่านการสังเคราะห์ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดีความเป็นคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ภาพรวมก็ยังไม่ถึงกับเชื่อช้างมากนัก ก็ยังพบเห็นผลงานที่เรียกว่าข้ามยุคอยู่บ้างจากสังคมศิลปะภายนอก

มหาบัณฑิตกับเส้นทางรู้ศิลปะ

THE WAY TO ART “เส้นทางรู้ศิลปะ จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม 22 สิงหาคม 2549 ณ หอศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผลงานของนักศึกษาที่ผ่านระดับปริญญาตรีและกำลังศึกษาระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยแนวหน้าทางศิลปะของประเทศ ผลงานเป็นผลงานในสาขาจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ผ่านมุมมองทัศนคติและความรู้ของตนเอง ภาพผลงานจึงผ่านมุมมองของตนเอง ว่าด้วยเรื่องต่างเวลา ต่างสถานที่ และต่างประสบการณ์

ความเป็นมาตรฐานของผลงานศิลปะในระดับปริญญาโท มีความจำเป็นต้องผ่านกระบวนการคิดในระดับการศึกษาที่ผ่านมา และยังต้องมีการพัฒนารูปแบบเทคนิคและความคิดให้สูงขึ้นไปตามระดับ แต่ในความเป็นจริงที่พบเห็นในนิทรรศการ THE WAY TO ART ครั้งที่ 3 นี้ เป็นตัวบ่งชี้ถึงพัฒนาการทางศิลปะของพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด การพัฒนาซึ่งมีรูปแบบที่เชื่องช้า อาจกล่าวได้ถึงการถอยหลังของวงการศิลปะของคณะจิตรกรรมฯ ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ในนิทรรศการ

มุมมองและกระบวนการคิดในการสร้างสรรค์ยังเป็นรูปแบบดั้งเดิมซึ่งรูปแบบและกระบวนการคิดที่จะพบเห็นได้ในงานศิลปกรรม 10 – 20 ปีมาแล้ว การพัฒนาที่ไร้ซึ่งความรู้นี้มีมูลเหตุและปัจจัยใดบ้างในการสร้างสรรค์หรือความเป็นกรอบจารีตบีบบังคับอยู่ แต่ในการสร้างสรรค์ก็ควรจะทดลองค้นคว้ารูปแบบเทคนิคและกระบวนการคิดใหม่เพื่อสอดคล้องกับความรู้ของตนและสามารถสะท้อนสังคมชีวิตและจิตวิญญาณของตนเองได้ภายใต้มุมมองใหม่ มิใช้จมอยู่กับความงามซึ่งเป็นความงามที่ปรากฏให้เห็นมามากพอแล้ว ความงามซึ่งไร้สุนทรีย์ภาพของยุคสมัย เป็นเพียงแค่ความยากเพื่อที่จะได้ความงามโดยมิได้ผ่านกระบวนการขององค์ความรู้ของยุคร่วมสมัย

กระบวนการคิดในการสร้างสรรค์ในผลงาน THE WAY TO ART นี้เป็นไปอย่างแบนราบ พบเห็นได้เพียงกระบวนการของการถ่ายทอดความงาม ซึ่งไร้กลิ่นอายของตัวตน ความคิดดังกล่าวนี้จะพบเห็นได้ในผลงานของศิลปินรุ่นก่อนซึ่งอาจทำมาดีและสมบูรณ์อยู่แล้วหรือเริ่มต้นของกระบวนการค้นคว้าและทดลองความคิดและรูปแบบจึงไม่สมบูรณ์

ความซ้ำซากจำเจเหล่านี้มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ควรพยายามพัฒนาและหาความรู้ใหม่มาเสริมหรือทดแทนความซ้ำซากเหล่านี้ เพื่อเป็นการละทิ้งของรูปแบบและความคิดดั้งเดิม

การสร้างสรรค์งานศิลปะย่อมผ่านกระบวนการของเวลาและประสบการณ์ของความรู้จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่อยู่ในผลงานศิลปะซึ่งถ่ายทอดออกมาด้วยประสบการณ์และชีวิตเป็นศิลปะ

ความรู้สึกของการถ่ายทอดความงามมีความจำเป็นมากในการนำเสนอถึงตัวศิลปินมุ่งประเด็นไปที่ความงามและความรู้สึกนั้นย่อมจำเป็นต้องใช้พื้นฐานความรู้ทางทักษะเพื่อเป็นการถ่ายทอดความงามได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถ้าความงามที่ต้องการจะนำเสนอปราศจากการกระต้นอารมณ์เพื่อให้บรรลุไปถึงความรู้สึกความงามนั้นก็เป็นเพียงความงามที่ปราศจากสัจจะของความจริงเสมือนเปลือกเท่านั้น การถ่ายทอดความเป็นสัจจะนิยมของความงามย่อมต้องมีความรู้สึกเข้ามาผสานในระนาบของผลงานจิตรกรรม

ถ้ากล่าวถึงการทดลองและค้นคว้านั้น สื่อและวัสดุใหม่ ๆ ก็เข้ามามีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานเช่นเดียวกัน แต่เป็นที่หน้าแปลกใจ การใช้สื่อและวัสดุพบเห้นในผลงานนิทรรศการที่น้อยมาก เป็นเพียงแต่ระนาบของเทคนิคที่เป็นจิตรกรรม 2 มิติเท่านั้น การก้าวออกไปสู่ความคิดรอบด้นแบบ 3 มิติ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกในวงการศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันการทดลองค้นคว้าที่ปราศจากสิ่งใหม่จะเป็นการทดลองและค้นคว้าได้อย่างไร ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แตกต่างกันแต่มีส่วนเหมือนกันคือการค้นหาองค์ความรู้ใหม่เพื่อนำมาศึกษาค้นคว้าและทดลองเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ความใหม่จึงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ

จากนิทรรศการ THE WAY TO ART นี่ ส่วนากจะพบเห็นผลงานที่พยายามสร้างสรรค์ในแนวทางสัจจะนิยมอยู่มาก ความคิดมักพูดเรื่องความงามของความจริงที่ปรากฏได้พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน เนื้อหาอาจสะท้อนมุมมองของความเป็นเมืองและโลกของวัตถุนิยม ซึ่งเป็นมุมมองพื้นฐานของการสร้างสรรค์งานศิลปะในปัจจุบัน

อรุณอมรินณ์ Oil on Canvas เป็นผลงานของนายเกรียงไกร เผ่าจินดา จบศิลปบัณฑิตจากคณะจิตรกรรมฯ และกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทที่คณะจิตรกรรมฯ ผลงานของเกรียงไกรเป็นผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันเสนอและแสดองออกในรูปแบบความเหมือนจริง เป็นมุมมองที่เป็นมุมกว้างของเมืองหลวงที่เน้นพื้นที่ว่างทางอากาศ (ท้องฟ้า) เพื่อให้เห็นถึงสีสันของความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งขัดแย้งกับส่วนล่างของผลงานที่เป็นรูปแบบของเมืองสีสรรค์ของเมืองหลวง ป้ายไฟ ป้ายโฆษณา ต่างเป็นทิวทัศน์ในเมืองหลวงของมุมมองเกรียงไกร

แต่ถ้ามองไปที่มุมมองของตัวศิลปินคิดและก็มีความน่าสนใจอยู่มาก ทั้งด้านรูปแบบมุมมองและกระบวนการคิด ว่าด้วยเรื่องทิวทัศน์ธรมชาติและทิวทัศน์เมืองหลวง ซึ่งมีความขัดแย้งอยู่ในตนเองและสามารถแฝงนัยยะสำคัญต่าง ๆ ไว้มากมาย แต่ติดตรงที่ว่ามุมมองรูปแบบและเทคนิคในการนำเสนอเหล่านี้จะพบเห็นได้ในผลงานของ วิทวัส ทองเขียว ซึ่งเขาสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมที่มีความเหมือนจริง และสะท้อนความเป็นสัจจะนิยมได้อย่างมีพลัง ความงามของความจริงของเขามีทักษะสู่ของการแสดงออกจึงสามารถดึงเอาความรู้สึกของต้นแบบออกมาได้ ความหน้าทึ้งของผลงานเขาปะทะได้เมื่อผลงานอยู่ตรงหน้า การเลียนแบบธรรมชาติมิใช่การเลียนแบบของรูปร่าง รูปทรง และมุมมองเสมอไป การเลียนแบบต้องสามารถเจาะไปยังความรู้สึกต่าง ๆ ที่แฝงตัวอยู่กับต้นแบบและความรู้สึกส่วนตัวของศิลปิน การเลียนแบบธรรมชาติของเขาจงไม่ใช่การเลียนแบบเพื่อเอาชนะธรรมชาติเสมอไป แต่เป็นการเลียนแบบที่มีนัยยะของการเอาชนะเทคโนโลยีเพิ่มเข้ามาอีกด้วย การเลียนแบบนี้จึงมีเสน่ห์และรสนิยม บางทีเนื้อหาอาจมิได้อยู่ในกระบวนการคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่อาจอยู่ในกระบวนการของความงามและความจริงของธรรมชาติเอง

ความเป็นสัจจะนิยมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุดคือผลงานของกรีฑา พรมโว สวรรค์บ้านนา สวรรค์ของกรีฑา คือ ความเป็นชนบทความอบอุ่นที่หามิได้ในสังคมเมืองหลวง ความเป็นอยู่ที่พอเพียง จากสภาพเศรษฐกิจของชนบทสามารถสร้างความงามและความอบอุ่นให้เป็นดั่งสรวงสวรรค์ชั้นบนสุดได้ แต่จากการถ่ายทอดของเขา ความงามของสวรรค์นั้นไม่หลงเหลือซึ่งความงามเลย มีเพียงแต่การจัดองค์ประกอบภาพขั้นพื้นฐานและมุมมองแบบรวมไร้ซึ่งมิติทางความคิด เป็นเพียงมุมฉากภาพถ่ายที่บันทึกไว้แล้วนำมาสร้างสรรค์

รูปแบบและเทคนิคเป็นผลงานจิตรกรรมสีอะครายลิคที่มีชั้นเชิงและทักษะการทำงานขั้นพื้นฐาน ปราศจากจิตวิญญาณของการเรียนแบบเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายของความจริงและความงาม

ปัญหาทั้งหมดนี่เกิดขึ้นจากการแสดงออกจากความคิดไปสู่รูปแบบเทคนิคของผลงานการสร้างสรรค์ผลงานจึงไม่สมบูรณ์แบบตามที่วาดฝันไว้ให้เป็น สวรรค์ของบ้านนา สิ่งที่เป็นสัญญะของความงาม ความจริง และสวรรค์ของกรีฑา จึงมิได้ปรากฏในภาพผลของเขา ปรากฏแต่เพียงการถ่ายทอดความเป็นชนบทที่มีตัวตนแบบจากความจริงที่บันทึกมา

จากมูลเหตุและปัญหาของนิทรรศการ THE WAY TO ART นี่จึงมีคำถามเพื่อต้องการคำตอบว่า มาตรฐานของการศึกษาในระดับปริญญาโทของคณะจิตรกรรมอยู่ที่จุดไหน สิ่งบ่งชี้ความเป็นปริญญาโทอยู่ที่ใด และการทดลองค้นคว้าและหาความเป็นไปได้ใหม่ทางศิลปะจะปรากฏขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ผู้สอนก็อยู่ในกระบวนการการศึกษาและให้ความรู้เช่นกัน ความเป็นจารีตประเพณีนิยมสมควที่จะมาอยู่ในระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษาศิลปะแถวหน้าหรือไม่ หรือการใฝ่หาความรู้ของนักศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำจนแทบผู้สอนเติมความรู้นี่ไม่ได้ จากปัญหานี้จึงหวังว่าจะพบกับปรากฏการณ์ทางศิลปะให้ปรากฏในการหาความเป็นไปได้ทางศิลปะ เพื่อค้นคว้าและทดลองความใหม่สู่วงการและสถาบันศิลปะในประเทศไทยอีกต่อไป

THE WAY TO ART “เส้นทางสู่ศิลปะ ต้องให้เป็นเส้นทางที่นำพาองค์ความรู้ใหม่และความท้าทายเพื่อไปสู่เส้นทางของศิลปะร่วมสมัยไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

กฤษฎา ดุษฎีวนิช

04 / 03 / 07

ไม่มีความคิดเห็น:

เกี่ยวกับฉัน